บี.กริม เพาเวอร์ เผยกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ผนึกพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ขยายกำลังการผลิต รุกเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 686 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 147 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 678 ล้านบาท ซึ่งมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิที่ 193 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP นอกจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งแล้ว บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้รับการคัดเลือกให้อยู่ใน “FTSE4Good Index Series” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลงานสำคัญที่เกิดขึ้น บี.กริม เพาเวอร์ ได้ขายไฟฟ้าเพิ่มให้แก่ ลูกค้าอุตสากรรม (IU) รายใหม่ในประเทศไทยจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน จำนวน 41.2 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ให้บรรลุเป้าหมายการเชื่อมเข้าระบบตลอดทั้งปีที่ 50-60 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2566 B.Grimm Power Korea (บริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ถือหุ้น 100%) ได้เข้าถือหุ้นใน Saemangeum Sebit Power Co.,Ltd. (SEBIT) เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังผลิตติดตั้ง 98.99 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งจากการเข้าลงทุนนี้ ทำให้ B.Grimm Power Korea ถือหุ้นใน สัดส่วน 21.27% ของหุ้นสามัญทั้งหมด และมีสิทธิได้รับเงินปันผล
33.85% ใน SEBIT

บี.กริม เพาเวอร์ ยังให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายการลงทุนซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการเติบโตของบริษัท โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 บี.กริม เพาเวอร์ สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด (บริษัทย่อย ของ บี.กริม เพาเวอร์) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ รวมทั้งได้จัดหาใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน (REC) ให้กับ บริษัท ฮีโน่มอเตอร์ส แมนูแฟค เจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และในเดือนกรกฎาคม 2566 บริษัท อมตะ บี.กริม
เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทย่อยของ บี.กริม เพาเวอร์) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ อมตะ วอเตอร์ จำกัด ในการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar Farm) ขนาดใหญ่ เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยจะเริ่มพัฒนาเฟสแรก ด้วยขนาด
กำลังการผลิตติดตั้ง 19.5 เมกะวัตต์

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ทิศทางของปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ จะมุ่งขยายการลงทุนทั้งโครงการใหม่และการเข้าซื้อกิจการ กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการแล้วจะเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 609 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามแผนของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม (BGPM2) โครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการ (BGPAT2&3) รวมถึงการเข้าลงทุนใน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศมาเลเซีย 2 โครงการ (BGMCSB และ ISSB) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสาธารณรัฐเกาหลี (SEBIT) พร้อมตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) รายใหม่ เข้าเชื่อมระบบรวม 50-60 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้ มุ่งดำเนินการตามแผนควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 50-70 ล้านบาท

ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานในปีนี้ของ บี.กริม เพาเวอร์ คือ การเปลี่ยนแปลงของค่า Ft จาก 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 1.5492 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือนมกราคม – เมษายน 2566 และ 0.9119 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 และ 0.6689 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 และคาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยสำหรับ SPP อยู่ที่ 400-450 บาทต่อล้าน BTU ในปี 2566 จาก 476 บาทต่อล้าน BTU ในปี 2565

ในระยะยาว บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก และบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 และตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในปี 2573

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.18 บาทต่อหุ้น สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 โดยมีกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 28 สิงหาคม และกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 8 กันยายน 2566