บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นำโดย นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด และ ศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้รับมอบอํานาจจากอธิการบดีสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ลงนาม ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงและได้แลกเปลี่ยนความรู้จากโครงงานวิศวกรรมการเงิน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ทักษะการทํางานแบบมืออาชีพและทักษะชีวิต เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับองค์กรภาคอุตสาหกรรม
ศาสตราจารย์ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงที่มาของการลงนาม MOU ครั้งนี้ว่า “คณะพัฒนาการเศรษฐกิจมีเป้าหมายคือทำอย่างไรให้เด็กมีประสบการณ์มากที่สุดก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ด้วยโจทย์ว่างานวิจัยและโครงงานต้องไม่อยู่เฉพาะบนหิ้ง เราจึงมองหา Partner ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องการมุมมองใหม่ๆ จากไอเดียนักศึกษาและพัฒนา University-Industry Collaboration ให้สำเร็จร่วมกัน คำว่า ‘วิศวกรรมการเงิน’ อาจจะไม่คุ้นสำหรับคนไทยเคยแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของทั่วโลก โดยการจะผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการเงินต้องอาศัยองค์ความรู้ 4 ด้านคือ เศรษฐศาสตร์ การเงินวิศวกรรม และพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่แข็งแรง เราได้จับมือกับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังผลิตวิศวกรที่มีมุมมองใหม่ๆ ด้าน Financial Technology เพื่อตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจใหม่และดิจิทัลเทคโนโลยีในปี 2566
เราคัดเลือกบริษัทในสายหลักทรัพย์ กองทุน และสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นโจทย์ท้าทายให้นักศึกษาได้เตรียมตัว โดยเราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด ในฐานะผู้นำในกลุ่ม Fin Tech และ Start up ที่ทันสมัยและมีโซลูชั่นใหม่ๆ สู่ตลาดอยู่ตลอด มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษาได้ลงสนามจริง นักศึกษาจะได้ฝึกการวิเคราะห์และแก้ปัญหา เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาเป็นเวลา 2 เทอม ระยะเวลา 8 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ถึงเมษายน 2567 โดยเทอมแรกจะเป็นการนำเสนอ Proposal และในเทอมที่ 2 จะเป็นการ Implementation ซึ่งรูปแบบของการทำโครงงานมีความแตกต่างจากในอดีต คือกำหนดให้เป็นการเขียน White paper แบบของ Start up ที่ให้คนทั่วไปอ่านได้เข้าใจและสามารถนำไปต่อยอดได้เลย”
ด้าน นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด กล่าวว่า “เรามักจะถูกสอนให้เรียนเพื่อเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปเลย เราไม่เคยถูกสอนให้เป็นเป็ด คนในสายวิศวกรรมเองก็ไม่สามารถเก่งเฉพาะ Deep Tech อย่างเดียวเท่านั้น ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึง Fin Tech เราจะเน้นไปที่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งที่จริงๆ แล้วกลุ่มคนเทคโนโลยีก็ไม่รู้ว่าภาคการเงินต้องการอะไร ดังนั้นการที่นิด้าออกแบบหลักสูตรนี้มา จึงเป็น Combination ที่ประเทศไทยกำลังต้องการ ภาคธุรกิจทุกวันนี้ต้องการความ Flexible และ Fragile มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากกว่าที่เราคิด ธุรกิจทุกหน่วยงานโดนดิสรัปต์ เราต้องการบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติเข้ามาช่วย
ทรานสฟอร์มองค์กร พอนิด้ามีโครงการนี้ขึ้นมา เราจึงไม่รีรอที่จะร่วมเป็นพันธมิตร เพราะเรามองว่าสิ่งนี้คือการทดลองร่วมกัน ซึ่งทางเราจะไม่มีโจทย์ให้นักศึกษาทำ แต่จะให้เขาเข้ามาหาข้อมูล มาสร้างโจทย์ และเสนอไอเดียเอง เราจะเอาเคสที่มีมาช่วยกันค้นหาว่า Financial Engineering จะสร้างนวัตกรรมทางด้านการเงิน เพื่อตอบคำถามให้กับธุรกิจได้อย่างไร ผมว่าเราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาบุคลากรที่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วไปทำประโยชน์ให้องค์กรได้เลย อย่างไรก็ดี ‘กระบวนการ’ ก็มีความสำคัญไม่แพ้ ‘เป้าหมาย’ เพราะก่อนที่จะได้ผลลัพธ์จับต้องได้ เช่น คิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม ต้องผ่านกระบวนการคิด ลองทำ ฟีดแบค และการเรียนรู้ ซึ่งในระหว่างทางเราจะเรียนรู้กันคนละมิติ ทั้งมิติอาจารย์ มิตินักศึกษา และมิติบริษัทฯ และผมเชื่อว่าซากของพัฒนาการที่หลงเหลือนั้น ถึงแม้อาจจะไม่ได้ใช้งานในช่วง 8 เดือนที่ฝึกงาน แต่ก็อาจจะมีคนเกิดไอเดียและนำไปต่อยอดเป็นโปรเจกต์อื่นๆ ได้อีก ซึ่งกระบวนการกับการเรียนรู้ตรงนี้ ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” นายธนวัฒน์ กล่าว