‘วรวัฒน์ – บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด’ ยื่นฟ้อง! ก.ล.ต. และอดีตเลขาธิการฯ นางสาวรื่นวดี พร้อมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ต่อศาลปกครอง กรณี กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่สุจริต ออกคำสั่งมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าและละเมิด ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่า 324 ล้านบาท
นายวรวัฒน์ นาคแนวดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด และทีมทนายความ ได้เดินทางไปยังศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) รวมถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในสมัยของนางสาวรื่นวดี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) กรณี กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่สุจริต ออกคำสั่งมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าและละเมิด โดยมีความเสียหายเบื้องต้น 324,803,339.32 บาท ซึ่งยังไม่รวมความเสียหายที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยอีกวันละ 300,743.83 บาท โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1727/2566 และคดีหมายเลขดำที่ 1728/2566
ทีมทนายความ เปิดเผยว่า ในคดีดังกล่าวนี้ มี บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องที่ 1 และ นายวรวัฒน์ นาคแนวดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องที่ 2 สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล กับทางสำนักงาน ก.ล.ต. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยมี นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในสมัยของนางสาวรื่นวดี ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบเอกสาร พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต และเสนอแนะความเห็นว่าบุคคลใดควรได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอ้างว่า บริษัทฯ และนายวรวัฒน์ ไม่มีความพร้อมด้านเอกสาร ระบบงาน และคุณสมบัติของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นการบิดเบือนต่อข้อเท็จจริงทั้งที่บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ว่าผ่านการพิจารณาคุณสมบัติตามกฎกระทรวงฯ เอกสารเกี่ยวกับด้านธุรกิจและเอกสารด้านไอที รวมถึงการทดสอบระบบเชื่อมต่อกับทางสำนักงาน ก.ล.ต. IWT1 และได้มีการชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับใบอนุญาตแล้ว จึงทำให้ผู้ฟ้องทั้งสองเชื่อว่าบริษัทฯ มีคุณสมบัติครบถ้วนและต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ภายในระยะเวลา 150 วัน แต่สำนักงาน ก.ล.ต. กลับไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามกำหนดระยะเวลาตามที่คู่มือประชาชนได้กำหนดไว้ จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ได้ออกกฎในคู่มือประชาชนในภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ผ่านการพิจารณาและตรวจสอบเอกสาร ระบบงาน และคุณสมบัติของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่เสร็จสิ้นแล้ว จึงถือเป็นการออกคำสั่งมิชอบ จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ และถึงแม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะอ้างว่าออกกฎโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.๒๕๖๑ ก็ตาม ก็ยังถือว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕ วรรคแรก ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ซึ่งต้องให้ศาลพิจารณาต่อไปว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตเพื่อจงใจกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 หรือไม่
“นอกเหนือจากการฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ต่อศาลปกครองแล้ว ยังได้มีการร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และจะมีการดำเนินการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการสอบสวน ไต่สวน และพิจารณาดำเนินคดีในกรณี ปฏิบัติหน้าที่มิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตแลประพฤติมิชอบต่อสำนักงาน ก.ล.ต. อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล และคณะกรรมการ ก.ล.ต. ต่อไป”
นายวรวัฒน์ นาคแนวดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด กล่าวว่า ฝากถึงพี่น้องประชาชนทั้งหลาย พวกท่านไม่จำเป็นต้องกลัวคนที่มีอำนาจและมีตำแหน่งต่าง ๆ ที่มากลั่นแกล้งท่าน พวกเขาต่างหากที่จำเป็นต้องกลัวพวกเรา ในฐานะประชาชนหากพวกเราทำผิด พวกเราได้รับโทษ พวกเราก็ยังคงสถานะการเป็นประชาชน แต่หากผู้มากอำนาจในฐานะตำแหน่งใดได้ทำผิดต่อประชาชน พวกเขาเหล่านั้นก็จะไม่เหลือซึ่งอำนาจและไร้ซึ่งฐานะตำแหน่งใด ๆ อีกต่อไปและในฉากตอนจบสุดท้ายพวกเราก็คนเหมือนกัน