บีเจซี เผยกำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 ที่ 1,210 ล้านบาท เติบโตเป็นบวกจากปีก่อน ทั้งกำไรสุทธิและยอดขาย

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2566 เท่ากับ 1,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 2/2566 เท่ากับ 42,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,426 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากยอดขายและรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,299 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค และค้าปลีกสมัยใหม่ ในขณะที่รายได้อื่น รวมอยู่ที่ 3,375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้อื่นของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มสูงขึ้น จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าเช่า โดยมีรายได้รวมงวดหกเดือนของปี 2566 เท่ากับ 83,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,797 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมงวดหกเดือนของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากยอดขายในทุกกลุ่มสินค้าและบริการและรายได้อื่นที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ ยอดขายในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 6,060 ล้านบาท ลดลง 2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายกลุ่มบรรจุภัณฑ์ แก้วเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยอดขายกลุ่มบรรจุภัณฑ์กระป๋องลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลลบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค ยอดขายในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 5,194 ล้านบาท ลดลง 132 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากยอดขายที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยอดขายกลุ่มอาหารและอุปโภคเติบโตขึ้น

กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค ในไตรมาส 2/2566 รายได้รวมอยู่ที่ 2,429 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 105 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และกลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิค เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของรถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่จากฝ่ายการแพทย์ รวมถึงโครงการเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและโครงสร้างเหล็กทั่วไปจากฝ่ายเทคนิค

และ กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ รายได้รวมในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 29,465 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,485 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 26,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,302 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยอดขายต่อสาขาเดิมที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งของร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และยอดขายที่ดีจากเทศกาลสงกรานต์และฤดูร้อน ส่งผลให้ยอดขายต่อสาขาเดิมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในไตรมาส 2/2566 (ไม่รวมยอดขายสินค้าบีทูบี) ในขณะที่รายได้อื่นอยู่ที่ 3,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 181 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกัน บริษัทยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/2566 โดยได้เปิดบิ๊กซี มินิ จำนวน 17 สาขาในประเทศไทย และปิดบิ๊กซี มินิ ใน ระหว่างไตรมาส จำนวน 1 สาขา ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาเก็ตทั้งหมด 154 สาขา (รวมบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 สาขาในประเทศกัมพูชา) ร้านค้าขนาดซูเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา (บิ๊กซี มาร์เก็ต 35 สาขา และบิ๊กซี ฟู้ดเพลส ซูเปอร์ มาร์เก็ต 11 สาขา) บิ๊กซี มินิ 1,471 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 52 สาขาในประเทศไทย บิ๊กซี มินิ 18 สาขา และร้านค้าสะดวกซื้อกีวี่ 2 สาขา ในประเทศกัมพูชา) บิ๊กซี ดีโป้ 11 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส 4 สาขา ตลาดกลางแจ้ง 8 ตลาด ร้านขายยาเพรียว 146 สาขา กาแฟวาวี 107 สาขา และ ร้านเอเชียบุ๊คส 56 สาขา เครือข่ายร้านโดนใจเพิ่มขึ้น 1,427 สาขา ในระหว่างไตรมาส ส่งผลให้มีร้านค้าโดนใจทั้งหมด 2,597 สาขา ณ สิ้นไตรมาส และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มออมนิชาแนลของบริษัทอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/2566 บริษัทเพิ่มศักยภาพของอีคอมเมิร์ซโดยการเชื่อมต่อร้านค้าบิ๊กซี มินิ จำนวน 400 สาขานำร่องเข้ากับแอปพลิเคชัน Big C PLUS เพื่อให้ลูกค้าบิ๊กซี มินิ สามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และรับส่งสินค้าภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากร้านค้า