“ไทยเบฟ” ปิดรายได้ 9 เดือนแรกปี 66 พุ่ง 2.15 แสนล้าน โต 3.8%

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีรายได้รวม 215,893 ล้านบาท เติบโต 3.8% ผลพวงจากการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ไทยเบฟยังเคงเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าต่างๆ และยังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ และความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยยึดมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์”

thaibev

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากปัจจัยโดยรวมทั้งในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ธุรกิจสุรา

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มธุรกิจสุรามีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 3.3% เป็น 93,673 ล้านบาท แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงที่ 3.5% จากปีก่อน มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 23,763 ล้านบาท และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชีต่อรายได้ (EBITDA margin) สูงขึ้นจาก 24.7% เป็น 25.4% โดยการขยายตัวของอัตรากำไรมาจากการขึ้นราคาสินค้าและการเปลี่ยนแปลงส่วนประสมของผลิตภัณฑ์จากการบริโภคสุราสีที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย สำหรับธุรกิจสุราในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธุรกิจในเมียนมามีการเติบโตทั้งรายได้ และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี

thaibev

สำหรับตลาดต่างประเทศ ได้ขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียม และเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุรา

ธุรกิจเบียร์

นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ของในประเทศไทยมีการฟื้นตัว เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่ธุรกิจในเวียดนามยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจเบียร์มีรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้น 0.7% เป็น 93,262 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณขายรวมจะลดลง 5.2% ทั้งนี้ การลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และแรงกดดันด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบหลักและบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 19.8% เป็น 10,783 ล้านบาท”

สำหรับธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนธุรกิจผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Commercial Leadership Winning Brand Portfolio และ Cost Competitiveness

Commercial Leadership เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่าง ๆ ที่ต่อยอดมาจากความรักที่ผู้บริโภคมีต่อตราสินค้า การถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “มิตรภาพ ฟุตบอล และดนตรี”

thaibev

Winning Brand Portfolio พัฒนาสินค้าที่โดดเด่น ในปี 2562 ได้เปิดตัว “ช้าง โคลด์ บรููว์” ซึ่งในปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ตราสินค้าเบียร์ที่มีปริมาณขายสูงสุดในประเทศไทย และเมื่อปลายปี 2565 ได้เปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เบียร์พรีเมียม และ “ช้าง เอสเปรสโซ่ ลาเกอร์”

Cost Competitiveness เน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนในการผลิตเบียร์ การจัดสรรทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทาน การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย และการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งส่งผลให้มีอัตรายอดขายต่อจำนวนพนักงาน (Net Sales to Headcount ratio) ที่ดีขึ้น

ส่วนสายธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมการส่งออก และการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศชะลอตัวลง

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

thaibev

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 15.6% เป็น 14,822 ล้านบาท ซึ่งมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 8.7% ตามการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการดำเนินแผนงานเพื่อบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้บางส่วนจากการลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,773 ล้านบาท

ธุรกิจอาหาร

จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภายในร้านอาหาร ประกอบกับการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า ส่งผลให้ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 14,296 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 8.4% เป็น 1,446 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าแรงงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการเปิดร้านใหม่

thaibev

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอาหารในปีนี้ คือ การเจาะตลาดให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหารของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารและผลิตภัณฑ์โปรดได้โดยง่ายในทุกพื้นที่ ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทย โดยเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 ร้านในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566

ปัจจุบัน ธุรกิจของไทยเบฟประกอบด้วย 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร โดยกลุ่มบริษัทไทยเบฟมีโรงงานผลิตสุรา 19 แห่ง โรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อีก 20 แห่งในประเทศไทย และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมจุดขายมากกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ จำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีโรงงานผลิตสุรา 5 แห่งในสก็อตแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์ เช่น บัลแบลร์ (Balblair) โอลด์ พุลท์นีย์ (Old Pulteney) และสเปย์เบิร์น (Speyburn) โรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในฝรั่งเศส ซึ่งใช้ผลิตสุราลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และบรั่นดี โอ-เดอ-วี (Eau-de-vie) โรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในนิวซีแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์โลกใหม่ (New World Spirits) โรงงาน 2 แห่งในเมียนมา และโรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในจีนซึ่งใช้ผลิตสุราอวี้หลิงฉวน (Yulinquan)

กลุ่มผลิตภัณฑ์สุราที่มีชื่อเสียงของไทยเบฟประกอบด้วย รวงข้าว หงส์ทอง เบลนด์ 285 แสงโสม แม่โขง และ
แกรนด์ รอยัล วิสกี้ นอกจากนี้ เบียร์ช้างซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หลัก ยังเป็นหนึ่งในเบียร์ของไทยที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ซาเบโก้มีผลิตภัณฑ์ Bia Saigon และ 333 ซึ่งเป็นเบียร์ที่มียอดขายอันดับต้นๆ ในประเทศเวียดนาม สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ ชาเขียวโออิชิ เครื่องดื่มอัดลมเอส โคล่า นํ้าดื่มคริสตัล เครื่องดื่มอัดลม F&N และเครื่องดื่มเกลือแร่ 100PLUS ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน ผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และได้ขยายธุรกิจอาหารผ่านบริษัทย่อย คือ ฟู้ด ออฟ เอเชีย และธุรกิจแฟรนไชส์เคเอฟซี