รู้จัก ‘ชล อโรมาทีค’ แบรนด์เครื่องหอมน้องใหม่ขอชิงชัยในตลาด ‘อโรมาเทอราปี’ 3.6 พันล้านบาท

ภาพรวมตลาด อโรมาเทอราปี ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ ไทย ถือเป็นประเทศในโซนร้อนทำให้มีศักยภาพในการปลูกวัตถุดิบ รวมถึงมีความรู้ในการใช้ สมุนไพร ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มีแบรนด์ไทยมากมายที่โด่งดังในต่างประเทศ

ตลาดอโรมาเทอราปีไทย 3.6 พันล้านบาท

ภาพรวมตลาดอโรมาเทอราปีทั่วโลกปีนี้คาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.12 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตไปถึง 3 แสนล้านบาท ภายในปี 2030 สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการเก็บตัวเลขชัดเจน แต่ถ้าประเมินจาก Top 20 แบรนด์ในไทยคาดว่าตลาดในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 3.62 พันล้านบาท เติบโตขึ้น +30% และคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 4 พันล้านบาท ในอนาคต

ด้วยโอกาสเติบโตของตลาดที่ยังมีมหาศาล แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ ชลลี่ ชล วจนานนท์ นักแสดงและพิธีกรดัง ที่ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจเครื่องหอม ชล อโรมาทีค (CHOL Aromatique) เนื่องจากแพชชั่นที่ชื่นชอบในเรื่องเครื่องหอม

“จุดเริ่มต้นคือ เราใช้แบรนด์เครื่องหอมเยอะ แต่ความหอมมันมากกว่าความหอม อย่างน้ำมันหอมระเหยมันมีมากกว่าความหอม ความหรูหรา ความพรีเมียม แต่มันช่วยบำบัดได้จริง ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้”

ชล อโรมาทีค เริ่มทำตลาดในปี 2019 หรือช่วงที่โควิดกำลังระบาด ซึ่งถือเป็นช่วงที่ท้าทายธุรกิจอย่างมาก เพราะต้อง ขายกลิ่นผ่านออนไลน์ ดังนั้น แบรนด์จึงชูจุดเด่นเรื่อง กลิ่นบำบัด ซึ่งปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เนื่องจากโควิดเป็นช่วงที่คนเครียด ส่งผลให้ลูกค้าหาตัวช่วยในการผ่อนคลาย โดยลูกค้า 80-90% มาซื้อเพราะ นอนไม่หลับ เขาเลยต้องการหาตัวช่วยให้ผ่อนคลาย

“เราก็กังวลเหมือนกันว่าเราขายกลิ่น แต่ขายผ่านออนไลน์เขาก็จะไม่ได้ลองกลิ่นก่อน ดังนั้น เราเลยชูเรื่องการบำบัด ซึ่งเรามองว่าเรามาถูกทาง เพราะเราสามารถขายได้โดยที่ลูกค้าไม่เคยได้ลองดมกลิ่น”

เริ่มขยายหน้าร้านรับนักท่องเที่ยว

หลังจากที่ขายออนไลน์เป็นหลัก มาปี 2023 บริษัทก็ได้ขยายช่องทางออฟไลน์ โดยเปิด Pop-up store แห่งแรกที่ไอคอนสยาม และล่าสุดได้เปิดแฟลกชิปสโตร์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้มีตู้คีออสที่สยามดิสคัฟเวอรี่, สนามบินสุวรรณภูมิ และภูเก็ต

เนื่องจากเห็นว่า นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา และ เครื่องหอมถือเป็น Top5 สินค้าขายดี โดยปัจจุบันช่องทาง ออนไลน์ 90% เป็นลูกค้าไทย ส่วน ลูกค้าต่างชาติ 90% ซื้อผ่านหน้าร้าน 

ปัจจุบัน สินค้าของชล อโรมาทีคมีทั้งหมด 56 SKU แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  • Essential Oils (น้ำมันหอมระเหย)
  • Home Ambience (เครื่องพ่น)
  • ก้านหอมปรับอากาศ และตัวรีฟิล
  • On The Go ใช้สำหรับพกพา
  • ผลิตภัณฑ์ เช่น ครีมอาบน้ำ, แฮนด์ครีม และโลชั่น

“พฤติกรรมลูกค้าไทยจะไม่ได้เน้นกลิ่นมาก แต่จะสนใจเรื่องประโยชน์ของกลิ่นนั้น ๆ มากกว่า ดังนั้น กับลูกค้าไทยเราจะเน้นสื่อสารไปที่กลุ่มคนรักสุขภาพ ส่วนกลุ่มพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเน้นที่ความหอมของกลิ่นและจะชอบกลิ่นเดี่ยวไม่ใช่กลิ่นผสม”

พาร์ตเนอร์ 1577 รุกต่างประเทศ

สำหรับเป้าหมายของแบรนด์ในปีหน้าจะขยายหน้าร้านให้ทั่วทุกภูมิภาคของไทย และต้องส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ภายใน 1-3 ปีจากนี้ ซึ่งชล อโรมาทีคได้พาร์ตเนอร์อย่าง 1577 โฮมชอปปิ้ง เข้ามาร่วมลงทุน โดยถือหุ้นมากกว่า 51% ในชล อโรมาทีค

โดย ชลลี่ อธิบายว่า สาเหตุที่ร่วมกับ 1577 เพราะมองว่าจะเข้ามาเติมเต็ม 3 ด้าน ได้แก่ 1. การขยายสาขาเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค 2. การไปต่างประเทศ เนื่องจาก 1577 มีการทำการตลาดและส่งออก 3. การบริหารจัดการหลังบ้านในทุกมิติ เช่น หาพนักงาน การทำบัญชี และคัสตอมเมอร์เซอร์วิส

“เราได้ทำตลาดจีน ฮ่องกง UAE ไปแล้ว เนื่องจากเขามีความชอบและความเข้าใจ และเฟสต่อไปจะเข้าไปทำตลาดในมาเลเซีย ไต้หวัน และออสเตรเลีย เป็นต้น”

ในส่วนของรายได้ปี 2024 บริษัทวางเป้าไว้ที่ 50 ล้านบาท โดยคาดว่ารายได้ 70% เป็นรายได้ในประเทศ อีก 30% เป็นส่งออก และวางเป้า 3-5 ปีจากนี้ ตั้งเป้าที่ 200-300 ล้านบาท โดยจะยังคงสัดส่วนรายได้ในประเทศที่ 70%

คนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจน้ำมันหอมระเหย

ประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญในตลาดอโรมาเทอราปี แต่ ชลลี่ มองว่า คนไทยยังไม่คุ้นชินกับการใช้งานน้ำมันหอมระเหย ไม่เหมือนกับในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือออสเตรเลีย ที่ใช้เหมือนยาสามัญประจำบ้าน เช่น น้ำมันลาเวนเดอร์ และสามารถหาซื้อได้ในร้านขายยา เป็น Daily Life

แต่จากจากอินไซต์ของคนไทยพบว่า คนไทยมีความรู้เรื่องอโรมาน้อยมาก บางคนไม่รู้ว่าใช้ยังไง ก้านหอมใช้ไม่เป็น ดังนั้น ชล อโรมาทีคก็ต้องให้ความรู้กับตลาด