องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้เปิดเผยรายงานว่าความต้องการพลังงานฟอสซิลจะมีจุดสูงสุดในปี 2030 โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้พลังงานของโลกคือการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่เติบโตลดลงลงหลังจากนี้
รายงานจาก IEA มองว่าความต้องการ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินถึงจุดสูงสุดภายในปี 2030 นี้ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงเวลาหลังจากนี้คือเทรนด์การใช้พลังงานสะอาด นำโดยการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็รวมถึงการใช้พลังงานจากฟอสซิลลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีนเติบโตลดลง
Fatih Birol กรรมการบริหารของ IEA กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและไม่มีใครหยุดยั้งได้ ไม่ใช่คำถามว่า ‘ถ้า’ แต่เป็นเรื่องของ ‘เร็วแค่ไหน’ และเขายังกล่าวเสริมว่า รัฐบาล บริษัท และนักลงทุนจำเป็นต้องอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาด แทนที่จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ในรายงานชี้ว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นั้นผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าระบบไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกาทั้งหมดในปัจจุบัน หรือแม้แต่สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดทั่วโลกกำลังจะแตะระดับ 50% การลงทุนในโครงการฟาร์มกังหันลมทั่วโลกมูลค่ามากกว่ามูลค่าการลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากถึง 3 เท่าแล้ว
โดยรายงานดังกล่าวยังชี้ว่าปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 10 เท่าหลังจากนี้ ซึ่งมาจากนโยบายสนับสนุนต่างๆ ตัวอย่างที่ยกมาคือ IEA คาดว่า 50% ของการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในสหรัฐฯ จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 เหตุผลส่วนหนึ่งนั้นมาจากกฎหมายลดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ทำให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย
ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนก็เพิ่มสูงมากขึ้น โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสัดส่วนมากกว่า 50% ของโลกอยู่ที่ประเทศจีน
ขณะเดียวกันก็ยังรวมถึงปัจจัยที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ส่งผลทำให้ความต้องการพลังงานจากฟอสซิลลดลงด้วย ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันมากถึง 2 ใน 3 ของความต้องการน้ำมันทั่วโลก
มุมมองดังกล่าวของ IEA ขัดแย้งกับมุมมองของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งเห็นว่าความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นเวลานานหลังจากปี 2030 และเรียกร้องให้มีการลงทุนเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในรายงานของ IEA ยังกล่าวอีกว่าในขณะที่สิ่งต่างๆ ยังคงอยู่ ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงสูงเกินไปที่จะบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสอีกด้วย ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวจะกระทบต่อสภาวะภูมิอากาศของโลกหลังจากนี้