การ์ทเนอร์ ประกาศ 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรต้องจับตาและศึกษาในปี 2567
บาร์ท วิลเลมเซ่น รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “การรับมือกับความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคมต้องอาศัยความกล้าที่จะมุ่งมั่นอย่างตรงไปตรงมาและเพิ่มความยืดหยุ่นในการตอบสนองอย่างเฉพาะเจาะจง ผู้นำไอทีอยู่ในสถานะที่ต่างจากผู้อื่นในการวางโรดแมปเชิงกลยุทธ์ โดยการลงทุนเทคโนโลยีจะช่วยให้ธุรกิจยังคงประสบความสำเร็จได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนและแรงกดดันเหล่านี้”
คริส ฮาวเวิร์ด รองประธานและหัวหน้าฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ผู้นำไอทีและผู้บริหารในส่วนงานอื่น ๆ ต้องประเมินผลกระทบและประโยชน์จากเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อพิจารณาจากจำนวนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น Generative AI และ AI ประเภทอื่น ๆ ที่นำเสนอโอกาสและขับเคลื่อนเทรนด์ต่าง ๆ แต่การจะได้มาซึ่งคุณค่าทางธุรกิจจากการใช้ AI อย่างต่อเนื่องนั้น ต้องมีแนวทางที่เป็นขั้นเป็นตอนเพื่อการนำไปใช้ได้อย่างครอบคลุม ควบคู่กับการใส่ใจในความเสี่ยง”
10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ในปี 2567 ได้แก่
Democratized Generative AI
Generative AI (หรือ GenAI) กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีสาธารณะด้วยการผสานรวมรูปแบบจำลองที่ได้รับการฝึกฝนล่วงหน้าไว้จำนวนมาก เข้ากับการประมวลผลคลาวด์และระบบโอเพ่นซอร์ส ทำให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถเข้าถึงโมเดลเหล่านี้ได้ การ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี 2569 องค์กรมากกว่า 80% จะใช้ GenAI API และโมเดลต่าง ๆ และ/หรือปรับใช้แอปพลิเคชันที่เปิดใช้งาน GenAI ในสภาพแวดล้อมการผลิต เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2566 ที่น้อยกว่า 5%
แอปพลิเคชัน GenAI ต่าง ๆ ช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงแหล่งข้อมูลมากมายจากภายในและภายนอกองค์กรเพื่อใช้ในทางธุรกิจได้ ซี่งหมายความว่าการนำ GenAI มาใช้อย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดองค์ความรู้และทักษะในองค์กรอย่างเสรีและมีนัยสำคัญ โดยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) จะช่วยให้องค์กรเชื่อมโยงพนักงานกับความรู้ในรูปแบบการสนทนาพร้อมเข้าใจความหมายที่หลากหลาย
AI Trust, Risk and Security Management
การเข้าถึง AI แบบเสรีทำให้ต้องมีการกำหนดกลยุทธ์สำหรับจัดการด้านความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยง และการรักษาความปลอดภัย (หรือ TRiSM) อย่างเร่งด่วนและชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากไม่มีกลยุทธ์ที่ตีกรอบโมเดลการใช้ AI จะสร้างผลลบแบบทบต้นที่ควบคุมไม่ได้ บดบังประสิทธิภาพเชิงบวกและประโยชน์ที่สังคมควรได้รับจาก AI ทั้งนี้ AI TRiSM มอบเครื่องมือสำหรับ ModelOps, การป้องกันข้อมูลเชิงรุก, ความปลอดภัยเฉพาะของ AI, การมอนิเตอร์โมเดล (รวมถึงการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล – Data Drift หรือของโมเดล – Model Drift และ/หรือผลลัพธ์โดยไม่ได้ตั้งใจ) และการควบคุมความเสี่ยงของการอินพุตและเอาต์พุตไปยังโมเดลและแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการรายอื่น ๆ
การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 องค์กรที่ใช้การควบคุม AI TRiSM จะเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ โดยกำจัดข้อมูลผิดพลาดและผิดกฎหมายได้มากถึง 80%
AI-Augmented Development
การพัฒนาเสริมด้วย AI คือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น GenAI และ Machine Learning เพื่อช่วยในการออกแบบ เขียนโค้ด และทดสอบแอปพลิเคชันให้กับวิศวกรซอฟต์แวร์ โดยการทำวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่ใช้ AI มาช่วย (AI-assisted Software Engineering) จะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของนักพัฒนา และช่วยให้ทีมพัฒนาตอบสนองความต้องการซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับการดำเนินธุรกิจ เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ AI (AI-Infused Development Tools) เหล่านี้ช่วยให้วิศวกรซอฟต์แวร์ใช้เวลาเขียนโค้ดน้อยลง จึงสามารถใช้เวลามากขึ้นกับงานเชิงกลยุทธ์มากขึ้นเช่นการออกแบบและจัดวางองค์ประกอบของแอปพลิเคชันทางธุรกิจที่น่าสนใจ
Intelligent Applications
การ์ทเนอร์ให้คำจำกัดความของแอปพลิเคชันอัจฉริยะที่มีความชาญฉลาด ว่าเป็นความสามารถในการเรียนรู้ปรับตัวให้ตอบสนองอัตโนมัติอย่างเหมาะสม โดยข้อมูลอัจฉริยะนี้สามารถนำไปใช้ในหลายเคสการใช้งานเพื่อเพิ่มหรือทำงานอัตโนมัติได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากความสามารถพื้นฐาน ความชาญฉลาดในแอปพลิเคชันประกอบด้วยบริการต่าง ๆ ที่ใช้ AI เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง การเก็บเวกเตอร์และข้อมูลที่เชื่อมต่อ ด้วยเหตุนี้แอปพลิเคชันอัจฉริยะจึงมอบประสบการณ์ที่ปรับเข้ากับผู้ใช้แบบไดนามิก
ความต้องการใช้งานแอปพลิเคชันอัจฉริยะนั้นมีอยู่ โดย 26% ของผู้บริหารระดับซีอีโอ จากการสำรวจของการ์ทเนอร์ 2023 Gartner CEO and Senior Business Executive Survey ระบุว่าการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเป็นความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายมากที่สุดต่อองค์กร โดยการดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในด้านบุคลากรของผู้บริหาร ขณะที่ AI ได้รับเลือกให้เป็นเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมในช่วงสามปีข้างหน้า
Augmented-Connected Workforce
Augmented-Connected Workforce (ACWF) เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าที่ได้รับจากแรงงานมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความจำเป็นในการเร่งและขยายทีมบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถกำลังขับเคลื่อนกระแส ACWF กลยุทธ์ ACWF ใช้แอปพลิเคชันอัจฉริยะและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของบุคลากรเพื่อสร้างบริบทและแนวทางการทำงานทุกวันเพื่อสนับสนุนประสบการณ์ ความเป็นอยู่ที่ดี และความสามารถในการพัฒนาทักษะของตนเองของทีมงาน ขณะเดียวกัน ACWF ยังใช้ขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจและผลกระทบเชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก
ในปี 2570 ผู้บริหารไอที (CIOs) 25% จะริเริ่มการเชื่อมโยงพนักงานให้ทำงานร่วมกันมากขึ้น (Augmented-Connected Workforce) เพื่อลดเวลาการทำงานในบทบาทสำคัญลง 50%
Continuous Threat Exposure Management
การจัดการความเสี่ยงต่อภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง (Continuous Threat Exposure Management หรือ CTEM) เป็นแนวทางเชิงปฏิบัติและเป็นระบบที่ช่วยให้องค์กรประเมินการเข้าถึง ความเสี่ยง และการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลและสินทรัพย์ที่จับต้องได้ขององค์กรได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ การจัดวางขอบเขตการประเมินและการแก้ไข CTEM ให้สอดคล้องกับวิธีการสร้างภัยคุกคามหรือโครงการทางธุรกิจ แทนที่จะเป็นส่วนประกอบในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เพียงแต่จะเผยให้เห็นช่องโหว่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยคุกคามที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย
ภายในปี 2569 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าองค์กรที่จัดลำดับความสำคัญการลงทุนด้านความปลอดภัยตามโปรแกรม CTEM จะพบว่าการละเมิดลดลง 2 ใน 3
Machine Customers
ลูกค้าที่เป็นเครื่องจักร (Machine Customers หรือที่เรียกว่า ‘คัสโตบอท’) จะเป็นผู้มีบทบาททางเศรษฐกิจในแบบที่ไม่ใช่มนุษย์ มีความสามารถเจรจา ซื้อสินค้าและบริการเพื่อให้เกิดเป็นการชำระเงิน ภายในปี 2571 ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อกัน 15 พันล้านชิ้นจะมีศักยภาพแสดงตนเป็นลูกค้าได้และจะมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกนับพันล้านชิ้นตามมาในปีต่อไป โดยแนวโน้มการเติบโตนี้สร้างรายได้นับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2573 และในที่สุดจะมีความสำคัญมากกว่าเมื่อตอนเกิด Digital Commerce ทั้งนี้ผู้บริหารควรพิจารณากลยุทธ์รวมถึงโอกาสในการอำนวยความสะดวกให้กับอัลกอริธึมและอุปกรณ์เหล่านี้ หรือแม้แต่สร้างคัสโตบอทใหม่ ๆ
Sustainable Technology
เทคโนโลยีที่ยั่งยืน (Sustainable Technology) เป็นกรอบการทำงานของโซลูชันดิจิทัลที่ใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สนับสนุนสมดุลของระบบนิเวศและสิทธิมนุษยชนในระยะยาว ซึ่งการใช้เทคโนโลยี อย่าง AI, Cryptocurrency, Internet of Things และ Cloud Computing กำลังผลักดันให้เกิดข้อถกเถียงด้านการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมั่นใจว่าการใช้ไอทีจะมีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียน และมีความยั่งยืนมากขึ้น การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2570 ผู้บริหารซีไอโอ 25% จะเห็นการเชื่อมโยงของค่าตอบแทนส่วนบุคคลกับผลกระทบทางเทคโนโลยีที่ยั่งยืน
Platform Engineering
วิศวกรรมแพลตฟอร์ม (Platform Engineering) เป็นหลักการสร้างและดำเนินการแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาภายในด้วยตนเอง แต่ละแพลตฟอร์มเป็นชั้น ๆ ที่ถูกสร้างและดูแลโดยทีมงานผลิตภัณฑ์เฉพาะ โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ผ่านการเชื่อมต่อเครื่องมือและกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเป้าหมายของ Platform Engineering คือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้ และเร่งการส่งมอบมูลค่าทางธุรกิจ
Industry Cloud Platforms
ภายในปี 2570 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าองค์กรมากกว่า 70% จะใช้แพลตฟอร์มคลาวด์อุตสาหกรรม (ICP) เพื่อเร่งโครงการใหม่ ๆ ทางธุรกิจของตน เพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 15% ในปี 2566 ICP จัดการกับผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโดยการรวมบริการ SaaS, PaaS และ IaaS พื้นฐานเข้าด้วยกัน ไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มีความสามารถในการประกอบเข้ากันได้ โดยทั่วไปจะรวมถึงโครงสร้างข้อมูลอุตสาหกรรม คลังความสามารถทางธุรกิจแบบแพ็คเกจ เครื่องมือจัดองค์ประกอบ และนวัตกรรมแพลตฟอร์มอื่น ๆ ICP ได้รับการปรับแต่งข้อเสนอระบบคลาวด์โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมและสามารถปรับแต่งเพิ่มเติมให้ตรงกับความต้องการขององค์กรได้
เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์อันดับต้น ๆ ของปีนี้เน้นย้ำถึงแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและโอกาสที่สำคัญสำหรับซีไอโอและผู้นำไอทีอื่น ๆ ภายใน 36 เดือนข้างหน้า
ติดตามข่าวสารและข้อมูลอัปเดตจาก Gartner for IT Executives ได้ทาง X และ LinkedIn โดยติดแฮชแท็ค #GartnerIT หรือเยี่ยมชม IT Newsroom สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม
เกี่ยวกับการ์ทเนอร์
บริษัท การ์ทเนอร์ (Gartner, Inc.) (NYSE: IT) คือบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่องค์กรสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงและมีความเป็นกลาง ช่วยขับเคลื่อนการตัดสินใจที่ชาญฉลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดลำดับความสำคัญของภารกิจองค์กร สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ gartner.com