เจโทร กรุงเทพฯ รุกตลาดสินค้าอาหารนำเข้าเต็มสูบ เปิดตัวแคมเปญ HOTATE Festival ส่งเสริมการบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมในประเทศไทย

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตร ป่าไม้ การประมง และอาหารจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญใหญ่แห่งปี HOTATE Festival  เทศกาลหอยโฮตาเตะส่งตรงจากญี่ปุ่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในประเทศไทยรู้จักหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น พร้อมกระตุ้นการบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะร่วมกับวัตถุดิบอื่นๆ ในอาหารหลากหลายประเภท และเพลิดเพลินไปกับการบริโภคหอยโฮตาเตะนำเข้าได้โดยที่ไม่ต้องบินไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งส่งเสริมกิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีกในประเทศไทย เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารนำเข้าในตลาดกลุ่มใหม่ๆ ในประเทศไทยแบบเต็มสูบ ภายในงานแถลงข่าวได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ (H.E. Mr. NASHIDA Kazuya) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย ร่วมเปิดงานอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัทที่เข้าร่วแคมเปญฯและเชฟอาร์ ธีรภัทร    ตียาสุนทรานนท์ เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ร่วมพูดคุยและสร้างสีสัน ณ โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ

นายคุโรดะ จุน (Mr. KURODA Jun) ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวถึงโครงการและเชิญชวนคนไทยออกมาบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะญี่ปุ่นว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้ประกอบการธุรกิจเข้าร่วมโครงการสนับสนุนวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นจำนวนมากขนาดนี้ อยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัสเสน่ห์ของหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมญี่ปุ่น ที่นำไปทำอาหารสัญชาติอื่นนอกเหนือจากอาหารญี่ปุ่น และในพื้นที่อื่นๆ นอกกรุงเทพมหานคร ผ่านโครงการ HOTATE Festival นี้ครับ”

ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ (H.E. Mr. NASHIDA Kazuya) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย เล่าถึงที่มาของชื่อ HOTATE ในภาษาญี่ปุ่นว่า “หอยเชลล์โฮตาเตะ “HOTATE” ในภาษาญี่ปุ่น เล่าขานกันว่าเมื่อเปิดเปลือกหอยขึ้นจะมีรูปร่างเหมือนเรือที่กางใบเรือออก (คำพ้องเสียง HO=ใบเรือ TATE=กาง) และยังถือเป็นเครื่องรางนำโชคอีกด้วย” นอกจากนี้ยังกล่าวแสดงความมุ่งหวังต่อแคมเปญนี้ว่า “ในฤดูหนาวนี้ น่าจะมีคนไทยจำนวนมากที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นและได้ลิ้มรสหอยเชลล์โฮตาเตะที่หวานอร่อยตามฤดูกาล ผมหวังว่าหลังจากกลับมาประเทศไทยแล้ว เขาเหล่านั้นจะเป็นแฟนพันธุ์แท้หอยเชลล์โฮตาเตะญี่ปุ่นและบอกต่อคนอื่นๆ ด้วยครับ”

ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะขยายการส่งออกสินค้าอาหารผ่านการกระตุ้นการบริโภคในตลาดกลุ่มใหม่ในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะมายังประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 1,200 ล้านเยน (ประมาณ 288 ล้านบาท) ซึ่งจัดเป็นสินค้าอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกมาประเทศไทยในอันดับที่ 9 โดยในครั้งนี้ เจโทร กรุงเทพฯ จัดแคมเปญ HOTATE Festival เทศกาลหอยโฮตาเตะส่งตรงจากญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อช่วยกระตุ้นตลาด สร้างสีสัน พร้อมรุกขยายตลาดการบริโภคแห่งใหม่ ตลอดจนเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายหอยเชลล์โฮตาเตะในประเทศไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับผู้นำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีกชื่อดังมากมาย โดยวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 ขยายตลาดจัดจำหน่ายหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นไปยังพื้นที่อื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ และส่งเสริมการนำไปใช้ในเมนูอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารญี่ปุ่น เช่น อาหารไทย และอาหารอิตาเลียน โดยร่วมมือกับร้านอาหาร จำนวน 65 แบรนด์ 261 ร้าน และร้านค้าปลีกในประเทศไทย  5 แบรนด์ 29 ร้าน จัดแคมเปญฯ ประชาสัมพันธ์หอยเชลล์โฮตาเตะในร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2566) และปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้  HOTATE Festival เป็นโครงการสนับสนุนการส่งออกวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นที่จัดทำโดยเจโทรที่มีจำนวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักในครั้งนี้ ได้แก่ 1. เชนร้านอาหาร (รวมร้านอาหารญี่ปุ่น) หรือร้านค้าปลีกที่มีสาขาครอบคลุมนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 2. เชนร้านอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากร้านอาหารญี่ปุ่น เช่น อาหารไทย อาหารอิตาเลียน และอาหารจีน โดยเน้นนำเสนอคุณภาพและเสน่ห์ของหอยเชลล์โฮตาเตะจากประเทศญี่ปุ่นให้กับลูกค้า พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมประชาสัมพันธ์เมนูจากหอยเชลล์โฮตาเตะ, การประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค หรืออินฟลูเอนเซอร์ และอื่นๆ

กิจกรรมที่ 2 จัดงานอีเว้นท์ประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะ โดยวางแผนจะจัดงานอีเว้นท์ในร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านค้าปลีก ซึ่งนอกจากสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังมีการเชิญผู้ที่มีส่วนสำคัญในการนำวัตถุดิบหรือสินค้าหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคตเข้าร่วมด้วย อาทิ ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ทั้งร้านอาหาร และร้านค้าปลีก, เชฟ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการผลักดันให้เกิดการซื้อขายสินค้าในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีกำหนดการจัดงานอีเว้นท์รวมทั้งสิ้น 16 งาน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม  2566)

กิจกรรมที่ 3 นำหอยเชลล์โฮตาเตะญี่ปุ่นไปเป็นวัตถุดิบหลักของการแข่งขันทำอาหารในรายการ เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย เพื่อประชาสัมพันธ์แคมเปญนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเจโทร กรุงเทพฯ ได้ร่วมสนับสนุนการแข่งขัน โดยนำหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นไปเป็นวัตถุดิบหลักในการรังสรรค์เมนูอันหลากหลาย ทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารอิตาเลียน และอาหารไทย โดยเป็นการแข่งขันระหว่างเชฟอาร์ – ธีรภัทร เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย กับเชฟผู้ท้าชิง ซึ่งสามารถติดตามชมเทปการแข่งขันอันแสนลุ้นระทึกได้ในรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป หรือทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของช่อง 7HD

สำหรับ โฮตาเตะ (HOTATE) เป็นหอยเชลล์สัญชาติญี่ปุ่นชื่อดังที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพดี มีขนาดใหญ่ และมีรสชาติหวานอร่อย จนได้รับฉายาว่าราชาแห่งหอย ถือเป็นอาหารทะเลที่อุดมไปด้วยสารอาหาร มีโปรตีนสูงและแคลอรีต่ำ พร้อมมีคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพมากเป็นอันดับต้นๆ โดยหอยเชลล์โฮตาเตะในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นการเพาะเลี้ยงตามธรรมชาติที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในบริเวณที่มีน้ำสะอาดและอุณหภูมิต่ำเท่านั้น รวมถึงใช้นวัตกรรมการแปรรูปและแช่แข็งอย่างรวดเร็วทันทีหลังจับหอยเชลล์โฮตาเตะ เพื่อเก็บกักความสดใหม่สูงสุดจากทะเลสู่ตลาดอย่างเต็มรูปแบบ คงไว้ซึ่งคุณภาพสูงสุดและความอร่อยที่ไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยในปัจจุบันมีแหล่งเพาะเลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ ฮอกไกโด (Hokkaido), อาโอโมริ (Aomori), อิวาเตะ (Iwate) และมิยากิ (Miyagi) นอกจากนี้ยังมีการรีไซเคิลแปรรูปเปลือกหอยนำไปทำถนนยางมะตอย วัสดุก่อสร้าง ผงซักฟอก และปุ๋ย เป็นต้น เพื่อให้กระทบระบบนิเวศทางธรรมชาติน้อยที่สุด และนำทรัพยากรไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดของแคมเปญ HOTATE Festival เทศกาลหอยโฮตาเตะส่งตรงจากญี่ปุ่น    เพิ่มเติมได้ทางอีเมลผู้ประสานงานโครงการ [email protected]