สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ภายใต้โครงการ SME Restart ปีงบประมาณ 2566 ให้ความสำคัญ พร้อมผลักดันการสร้างต้นแบบกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยว เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว 5 สาขาอาชีพ อาทิ โรงแรมและที่พัก บริการพาหนะขนส่งทางน้ำและบก ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ เน้นศักยภาพ ความพร้อมของชุมชนท่องเที่ยว 20 ชุมชนต้นแบบ ที่มีความโดดเด่นด้วย อัตลักษณ์ วิถีชีวิต เอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สะท้อนเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวตามบริบทของชุมชน เพื่อสร้าง “ประสบการณ์” ในความทรงจำของนักท่องเที่ยว ผ่านการสื่อสาร “เรื่องราว” ที่น่าสนใจและมีพลัง
ชุมชนท่องเที่ยวเชียงแสน จ.เชียงราย สะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อแบบล้านนา ผ่านกิจกรรมการทำ “สะเปา” ที่มีเรื่องราวสอดแทรก และนำไปลอยในแม่น้ำโขง พร้อมกับการชมนั่งรถรางวิวรอบเมืองเชียงแสน
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่ ชุมชนที่มีการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เรียบง่ายและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพแบบฉบับชุมชน กับการ “ย่ำข่าง” พร้อมอาหารพื้นถิ่นรสชาติลงตัว
ชุมชนบ้านศาลาบัวบก จ.ลำปาง หมู่บ้านเซรามิกต่อยอดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวกับการทำสปาเท้าสมุนไพรด้วยเม็ดเซรามิก ผ่อนคลายและดีต่อสุขภาพ และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ ลูกประคบธัญพืชเซรามิกเพื่อเป็นของฝาก
ชุมชนท่าชัย – ศรีสัชนาลัย จ.สุโชทัย โดดเด่นด้วยเสน่ห์เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ผ้าทอมือลายเฉพาะ เครื่องทอง-เงินโบราณ นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เทคนิคลงยาสี คือ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน
ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย อัตลักษณ์ กิจกรรม “การเขียนลายสังคโลก” ลวดลายแบบดั้งเดิมในสมัยสุโขทัย เช่น รูปปลา กงจักร ดอกไม้ เป็นต้น ที่สร้างสรรค์ลายเส้น สี และการลงมือวาดได้ด้วยตนเอง
ชุมชนบ้านผารังหมี จ.พิษณุโลก สัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติของชุมชนชาวอีสานที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ทั้งการทอผ้า ทอเสื่อ และการทำนา ปลูกข้าว พร้อมจำหน่ายแบบครบวงจร
ชุมชนโคกเมือง จ.บุรีรัมย์ ชุมชนที่มีปราสาทเมืองต่ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และขึ้นชื่อกับเมนู “กุ้งจ่อมสมุนไพร” เมนูอาหารแสนอร่อย และการทอเสื่อกกยกลาย “ปราสาทเมืองต่ำ” จากภูมิปัญญาของคนในชุมชน
ชุมชนบ้านปะอาว จ.อุบลราชธานี หนึ่งเดียวในไทยกับการผลิตเครื่องทองเหลือง ด้วยวิธี “การหล่อแบบสูญขี้ผึ้ง” เพื่อทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน เช่น กระดิ่ง ขัน ระฆัง ภูมิปัญหาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ชุมชนบ้านเชียงแหว จ.อุดรธานี ชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ บึงหนองหาญ ทะเลบัวแดง ชุมชนต่อยอดภูมิปัญญา รังสรรค์กิจกรรมสำหรับท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเมนู เมี่ยงบัวแดง ชาบัวแดง การมัดย้อมสีบัวแดง
ชุมชนเมืองเก่าเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ชุมชนริมน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ที่โดดเด่นด้านวัฒนธรรม กิจกรรมศิลปะตอกกระดาษเมืองเพชร ลายหนังใหญ่ และ อาหารขึ้นชื่อเมืองเพชร “ข้าวแช่”
ชุมชนถ้ำรงค์ (ไร่สะท้อน) จ.เพชรบุรี แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด เมื่อ 1 ต้นตาลสู่การแปรรูปที่โดดเด่น ทั้ง น้ำตาลสด ขนมตาล แกงคั่วหัวตาล รวมถึง การจักสานใบตาล
ชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี ชุมชนผืนสุดท้ายในภาคตะวันออก ที่ส่วนใหญ่ทำสวนมะพร้าว คงไว้ซึ่งวิถีชีวิต พร้อมต่อยอดสู่กิจกรรมที่สอดคล้องทั้ง อาหาร เครื่องดื่ม การปั่นจักรยาน การย้อมสีจากกะลามะพร้าว
ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด ชุมชน 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ควบคู่กับผืนป่าชายเลนขนาดใหญ่ รังสรรค์กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดทั้งการปล่อยปูม้า ปลูกป่า นั่งเรือลอดอุโมงค์ป่าโกงกาง สานหงอบน้ำเชี่ยว
ชุมชนบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ สืบทอดวิถีชีวิตร่วมกันระหว่างคนไทย ชาวมอญ และชาวจีน กับความเฉพาะของพื้นที่ “กระเพาะหมู” สำหรับการปั่นจักรยานเรียนรู้วิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ชุมชนบางโรง จ.ภูเก็ต ชุมชนที่มีวิถีชีวิตด้านการเกษตร ทั้งการปลูกยาง สับปะรด มะพร้าว การจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม ลงมือทำ เพื่อให้เข้าใจวิถีชุมชน เช่น การทำสบู่สับปะรด การทำขนมพื้นบ้าน การกรีดยาง
ชุมชนบ้านสามช่องเหนือ จ.พังงา ชุมชนที่อยู่บนเกาะ เป็นหมู่บ้านชาวประมง ล้อมรอบด้วยน้ำทะเล พร้อมกิจกรรมสนุกสานไปกับการทำผ้ามัดย้อม การทำพวงกุญแจเรือหัวโทง และลิ้มรสอาหารทะเลสดๆ
ชุมชนบ้านแหลมสัก จ.กระบี่ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันของคน 3 เชื้อชาติ ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน โดดเด่นด้วยเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเล วิถีชีวิตชาวประมง การเพ้นท์ผ้าบาติก
ชุมชนคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนมีวิถีชีวิตแบบชาวสวนที่ทำสวนผลไม้ผสมผสานเรียกว่า “สวนสมรม” ชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ของป่าต้นน้ำ มีลำธารไหลผ่านหมู่บ้าน ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้ทั้งปี
ชุมชนเมืองเก่าสงขลา จ.สงขลา ชุมชนเมืองเก่าที่มีชีวิตชีวา กับถนนสำคัญ 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า
ชุมชนบ้านทรายขาว จ.ปัตตานี ชุมชนที่อยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว สร้างประสบการณ์แปลกใหม่กับการนั่ง “รถจิ๊ปโบราณ” เที่ยวชมภายในชุมชน และการรับประทานเมนูพื้นถิ่นที่รสชาติไม่เหมือนใคร
สามารถดูโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนผ่านทาง https://tctmarketplace.com/index.php
รายละเอียดเส้นทางท่องเที่ยว 20 เส้นทางที่มีการเชื่อมโยงกับชุมชนท่องเที่ยวทั้ง 20 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ