การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ในอดีตมองแบบแยกส่วน แต่เมื่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เข้ามาเป็นตัวกำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคสังคมต้องหันกลับมองวิธีการที่จะพัฒนาตัวเองที่จะไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่การสร้างภาระในอนาคต แต่ยังสามารถเดินหน้าการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนจะต้องหันมาร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคการเงิน การลงทุน จะเป็นกลไกสำคัญในการวางแผนงาน ที่จะต้องลงมือทำเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (NET ZERO )เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกนี้
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีเป้าหมายชัดเจนที่สุด ในฐานะนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ (Universal Owner)ของไทย ที่มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท มีจำนวนหลักทรัพย์ที่ถือครองเป็นจำนวนมาก และกระจายตัวอยู่ทั่วโลก โดย กบข. ได้มีการพัฒนาการดำเนินงานด้านการลงทุน ESG มาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับในระดับสากล ในการขับเคลื่อนการลงทุนที่มุ่งเน้น ESG มาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผลสำเร็จจากการจัดทำรายงาน ESG Attribution Report เพื่อนำเสนอข้อมูลแนวทางและผลสัมฤทธิ์ของการบูรณาการปัจจัยด้าน ESG ออกมาสู่สาธารณะ
“กบข. ตระหนักถึงบทบาทของการเป็น “นักลงทุนที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทั่วโลก (Universal Owner)” ที่เชื่อว่า กบข. สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีระยะยาวให้กับสมาชิกควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนทางสังคมได้ นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ รวมถึง กบข. จึงต้องรับผิดชอบถึง 3 ขา ได้แก่ P แรก People หมายถึง สมาชิก กบข. ที่ต้องมั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอหลังเกษียณอายุราชการและมั่นคง ส่วน P ที่สองก็คือ Planet ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สุดท้ายก็คือ People in general หมายถึงสังคมทั่วไป การลงทุน ของ กบข. ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและประชากรโลก จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี (Environment, Social and Governance หรือ ESG)” ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กบข. กล่าวแสดงจุดยืนการลงทุนที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
ดังนั้น ESG จึงเป็นยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของ กบข.นับจากนี้ ที่ให้น้ำหนักกับกลุ่มธุรกิจ Sustainability มากขึ้น โดยมีเป้าหมาย และจุดยืนของการลงทุนกลุ่มธุรกิจยั่งยืน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ดังนั้นจำเป็นต้องวางเกณฑ์บริหารจัดการที่มีความซับซ้อน มากกว่ากองทุนของสถาบันทั่วไป เพราะต้องรักษาผลตอบแทนที่เป็นบวก เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างผลตอบแทนจากการลงทุนที่มาจากผลการดำเนินงานทางธุรกิจ และการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับสมาชิก โดยกำหนดนโยบาย วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูล และผลการดำเนินงานของบริษัท (Due diligence) ที่จะเข้าไปลงทุนก่อนทุกครั้ง
บทบาทของผู้จัดการกองทุนทั้งในและต่างประเทศจึงเป็นกลไกสำคัญของกบข. เพื่อคัดกรองและรายงานผลทั้งในรูปแบบการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ปัจจัยด้านการเงิน (Financial) และการเดินหน้าด้าน ESG หากบริษัทนั้นมีผลตอบแทนที่ดี แต่ประเมิน ESG ไม่ผ่านเกณฑ์ ก็จะไม่มีการลงทุน เช่นเดียวกับคุณสมบัติของผู้จัดการกองทุนที่ต้องเข้าใจหลักการ ESG และตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขที่สอดรับกับแนวทาง กบข. เพื่อให้กลไกการทำงานของ กบข. มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการทำงานร่วมกับธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) จัดทำรายงาน “วิธีการประเมินน้ำหนักและคะแนนมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนของ กบข. ตามหลักที่คำนึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” (ESG Weight and Score: Asset Valuation Methodology©) พร้อมทั้งยังทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการประเมินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในระดับ Top Ten ที่เน้นให้ความสำคัญสิทธิแรงงานในองค์กร ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประเมิน
ดังนั้น ในปี 2567 มองว่าการขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน(ESG) ที่ยังคงเป็นแกนหลักและยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีแนวทางเกี่ยวกับ “Biodiversity” หรือความหลากหลายทางชีวภาพที่ปัจจุบันเป็นการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน นักลงทุน เพราะรัฐให้ความสำคัญกับ Global warming เช่น ธุรกิจโรงแรมที่อยู่ติดทะเลที่ต้องวางแผนทางทำให้ชายหาดสวยงาม ลดผลกระทบต่อสัตว์ทะเล เพื่อให้กลับมามีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น และอีกกระแสหนึ่งของ ESG ที่เดิมใช้แนวทาง “การชดเชยคาร์บอน” (carbon offsetting) ซึ่งเป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้บุคคล หรือองค์กรจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิต เริ่มปรับมาสู่ Carbon Insetting คือ ลงทุนในโครงการลดคาร์บอนภายในห่วงโซ่อุปทานของตนเองที่จับต้องได้ ดังนั้นทิศทางกิจการ in setting กำลังมาแทน offsetting
“ที่สำคัญต้องมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะเป็นเทคโนโลยีที่อาจเปลี่ยนสังคมและการดำเนินธุรกิจไปจากเดิม ขณะเดียวกัน ESG ก็ยังจะสร้าง “ตลาดใหม่” ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อคนทั่วโลกและทางหลากหลายทางชีวภาพด้วย กบข. เองก็เริ่มที่จะนำ AI มาพัฒนาระบบการประเมินผล เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้กับสมาชิก ควบคู่ไปกับการผลักดันภาคธุรกิจให้เข้าสู่การบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน” ดร.ศรีกัญญา กล่าว
ความท้าทายของการบริหารกองทุนจะเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะสมาชิกของ กบข. มีความแตกต่างของช่วงวัย ทำให้รูปแบบการลงทุนของสมาชิก คำนึงถึงปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น สมาชิกที่ใกล้วัยเกษียณ จะให้ความสำคัญกับการลงทุนสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ขณะที่สมาชิกรุ่นใหม่ เริ่มให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น กบข. จึงออกแผนทางเลือกการลงทุนให้แก่สมาชิก เพื่อสร้างความหลากหลายในการเลือกลงทุนสอดรับกับการยอมรับความเสี่ยงจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแผนให้สมาชิกเลือกลงทุน 12 แผนการลงทุน เป็นแผนที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน
นับได้ว่า กบข. มีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อน ESG ไม่ใช่เฉพาะภายในประเทศไทย แต่รวมไปถึงเวทีโลกด้วย และในปีหน้าคงต้องจับตามอง บทบาท กบข. ในฐานะกองทุนชั้นนำ ด้าน ESG ของไทย ที่จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถเศรษฐกิจไทย ให้มีการเติบโตอย่างเข้มแข็งและมีความยั่งยืน ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของโลกแห่งอนาคต