การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับปี 2567 ยังคงมีความท้าทายสำหรับดีเวลลอปเปอร์อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่แม้จะฟื้นตัวจากปี 2566 แต่ยังคงเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แพง ขณะเดียวกันยังต้องสอดรับกับกติกาโลกและความต้องการของผู้บริโภคที่มุ่งดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น …โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนที่กำลังก้าวสู่ภาวะโลกเดือด
ดังนั้น การพัฒนาที่อยู่อาศัย ในฉบับของเสนา จึงต้องคิดให้ละเอียดบนแนวคิด “Made From Her” ที่มาจากความละเอียดของผู้หญิง ที่คิดรอบคอบและคิดเผื่อคนอื่น สู่การออกแบบที่อยู่อาศัยที่ใครอยู่ก็ Happy จนปัจจุบันการพัฒนาที่อยู่อาศัยของเสนาได้ถูกต่อยอดการพัฒนาแบบคิดละเอียดในทุกมิติ สู่ “Made From Her In Sustainable Way” โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม และในปี 2567 จะยิ่งตอกย้ำถึงคุณภาพที่จะได้รับจากแนวคิดแบบละเอียดที่เสนาคิดไว้ให้แล้วสำหรับผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของชีวิตที่แท้จริงนั่นคือชีวิตแบบโลว์ คาร์บอน
“เคยมีคนถามว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเสนาจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ไม่มีใครรู้หมือนกันว่าอีก 10 ปีข้างหน้าผู้บริโภคจะชอบบ้านแบบไหน การที่เสนามี DNA แบบ Made From Her ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เสนาควรทำในเวลานั้นคืออะไร เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ดังนั้นเราไม่ได้ทำบ้านแค่ว่าบ้านสีเขียว แต่โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้ใช้ชีวิตแบบ Sustainable เพื่อร่วมกันรับผิดชอบให้โลกนี้มันดีขึ้นจริงๆ” ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการเสนา หรือหญิงแกร่งแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวแสดงความมุ่งมั่นต่อแผนดำเนินงาน
ดร.ยุ้ย ได้สะท้อนมุมมองให้เห็นว่าปี 2567 State ของการพัฒนาอสังหาฯ เข้าสู่จุดที่ยากขึ้นทั้งแง่ผู้ซื้อและผู้ขาย โดยแง่ผู้ซื้อตัดสินใจยากขึ้น เพราะต้นทุนทุกอย่างแพงโดยเฉพาะดอกเบี้ยซื้อบ้าน ขณะที่บ้านที่เสนาขายต้นทุนสินค้าก็ขึ้นเกือบทุกตัว เสนาจึงพยายามที่จะลดต้นทุนจากสิ่งที่เราเห็นว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้สามารถขายสินค้าที่ลดลงได้โดยการที่ไม่ไปลดสิ่งที่ต้องให้กับผู้บริโภค ซึ่งก็หมายถึงมุ่งเน้นการปรับปรุงในเชิงคุณภาพควบคู่ไปกับการเติบโต และที่จะเน้นมากขึ้นคือการนำความยั่งยืน (Sustainability)เข้ามาใส่ในที่อยู่อาศัย
โดยจากความเป็นผู้หญิงของดร.ยุ้ย ที่ต้องใส่ใจทุกๆ รายละเอียด และคิดอะไรให้รอบคอบมากกว่า ฉะนั้นสิ่งที่คิดต้องไม่ใช่แค่อะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ดีและพิเศษสุด ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดละเอียดเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาเสนามุ่งเน้นทำบ้านประหยัดพลังงาน บ้านโซลาร์ และล่าสุดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ หรือ Zero Energy House (ZEH) ที่พัฒนาทั้งโครงการโดยนำแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาใช้เพื่อลดคาร์บอน รวมถึงการพัฒนาคอนโดโลว์ คาร์บอน
พร้อมกับร่วมมือพันธมิตรจากญี่ปุ่นสู่การนำแพลตฟอร์ม “Zeroboard” มาวัดผลลัพธ์การปล่อยคาร์บอนที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า บ้านของเสนาที่นำระบบต่างๆ ในการประหยัดพลังงานมาติดตั้งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมาก และยังมองไปถึงการลดของเสียต่างๆ นี่คือจุดต่างที่จะส่งเสริมยอดขายให้กับเสนาทำให้ปี 2567 เสนาจึงมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการในแนวดิ่งมากกว่าแนวราบตามแนวทางรถไฟฟ้าสายหลักๆ โดยให้ความสำคัญการพัฒนาที่มุ่งหวังในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ
“เสนาฯ ได้พัฒนาโครงการบ้านโซลาร์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 1,000 หลัง และยังเดินหน้าพัฒนาในทุกโครงการ เชื่อว่าในการพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ มีราคาที่เหมาะสมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากนำมาใช้ติดตั้งภายในบ้านแล้วจะเกิดความคุ้มค่า ทำให้ลูกบ้านสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในบ้านแล้ว ยังมีไฟฟ้าส่วนเกินเหลือที่สามารถนำมากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ จะเป็นประโยชน์กับลูกบ้าน นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญ และในอนาคตจะมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามาสนับสนุนอีกมาก เพราะไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ S-Curve ที่มีศักยภาพสูงอีกจำนวนมาก และแม้ว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีการเปิดขายไฟฟ้าเสรี หากนโยบายรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลดีให้เกิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่ใหญ่ขึ้นอีก”
นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาพการพัฒนาธุรกิจของ “เสนา” ที่มุ่งพัฒนาบ้านที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่แค่ บ้านสีเขียว แต่เป็นบ้านรักษ์โลก ที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Living เพราะบ้านจะอยู่คู่กับคนเรานานนับ 20-30 ปี ขณะเดียวกันยังสอดรับกับเป้าหมายต่อไปด้านความยั่งยืนของของเสนา หรือ The Road to Net Zero