กลุ่มเซ็นทรัล เดินหน้าปั้นโมเดลต้นแบบ (Central Tham Zero Waste Model) ด้านการจัดการขยะทุกประเภท ให้ถูกวิธีอย่างครบวงจรทั่วประเทศ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ปัญหาการจัดการขยะเป็นความท้าทายทั้งระดับโลกและประเทศไทยที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหลักของขยะตกค้างที่ก่อให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมามากมายโครงการ เซ็นทรัล ทำ ทำด้วยกันทำด้วยใจ โครงการเพื่อความยั่งยืนดำเนินการโดยกลุ่มเซ็นทรัล  ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญด้านการจัดการขยะมาโดยตลอดและได้มีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวเนื่องด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แคมเปญ JOURNEY TO ZERO ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการบริหารจัดการขยะมูลฝอย อาทิ โครงการ ศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะและแปรรูปชุมชน จริงใจมาร์เก็ต .เชียงใหม่, โครงการ A Journey to Zero: “Beauty Reborn”, โครงการ Bye Bye e-Waste, โครงการทิ้งดีXรีไซเคิลเดย์สัญจร, ติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ โครงการ Food Surplus และโครงการ Plastics Only, Please’ (P-O-P) เป็นต้น ด้วยการลงมือทำผ่านการดำเนินโครงการและการดำเนินธุรกิจต่างๆ ของบริษัทในเครือ ได้แก่  บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน)

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า โครงการเซ็นทรัล ทำ เริ่มต้นด้วยการลงมือทำ ต่อยอดเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันทำ จนกลายเป็น ทำด้วยกัน ทำด้วยใจมุ่งมั่นตามเจตนารมย์ที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม ให้เติบโตและเข้มแข็ง พร้อมด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการทำธุรกิจ และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการลงพื้นที่ ณ หมู่บ้านคามิคัตสึ (Kamikatsu) เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ที่เกาะชินโชกุประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการซึมซับแนวคิด Zero Waste และกระบวนการจัดการขยะที่ทรงประสิทธิภาพและต่อเนื่องอย่างการแยกขยะ ผ่านหลักการพื้นฐานที่ทุกคนทำเริ่มต้นด้วยการ     ลดขยะ (Reduce) โดยการใช้ของอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างรู้คุณค่า การใช้ซ้ำ (Reuse)  และการ         รีไซเคิล (Recycle)  พร้อมนำมาต่อยอดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และจะเป็นรีเทลแรกๆ ที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ต้นแบบในด้านการจัดการขยะทั่วประเทศ (Central Tham Zero West Model) และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกๆ คน ทุกๆ ภาคส่วน คู่ค้า ลูกค้า จะร่วมด้วยช่วยกันเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยตัวเรา และประเทศไทยจะสามารถปลอดขยะได้ในที่สุด

ตัวอย่างโครงการเด่นด้านการจัดการขยะของกลุ่มเซ็นทรัล

  • โครงการศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะและแปรรูปชุมชน จริงใจมาร์เก็ต .เชียงใหม่ ที่จริงใจมาร์เก็ต คือศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ ที่มุ่งหวังให้เป็นสถานที่เรียนรู้และโมเดลการจัดการขยะเหลือศูนย์ของตลาดจริงใจ  เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ตลาดจริงใจก้าวสู่การเป็นตลาดชุมชนเมืองท่องเที่ยวสีเขียวแบบคาร์บอนต่ำ ภายใต้แนวคิดรักษ์โลก (Eco-Friendly) ด้วยการนำหลักระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การจัดการขยะให้เหลือศูนย์ (Zero waste) และปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) มาเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดจริงใจ ทั้งนี้ ขยะประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดจริงใจทั้งหมด รวมถึงที่นำมาส่งโดยประชาชนทั่วไป รวมถึงร้านค้าจากภายนอก แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ ขยะอินทรีย์ (70%) ขยะรีไซเคิล (10%) และขยะทั่วไป (20%) ขยะที่จะไม่ถูกนำไปสู่บ่อฝังกลบขยะคือ        ขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิล (10%) ซึ่งจะถูกนำไปจัดการอย่างถูกวิธี อาทิ ขยะอินทรีย์เข้าสู่เครื่อง T.O.B.Y. วันละ 250 กิโลกรัม สามารถผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 12.51 กิโลกรัมต่อวัน (ทดแทน LPG 1 ถัง) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 350.28 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อวัน หรือประมาณ 127,852  กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  ส่วนวัสดุรีไซเคิล ประเภทอื่นๆ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว อลูมิเนียม กระดาษ ที่รวบรวมได้จะนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และบางส่วนอาจนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycled แทนการรีไซเคิล เช่น การทำบล็อคปูถนน นำวัสดุทำเฟอนิเจอร์ เป็นต้น  ในส่วนของขยะทั่วไป คือ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เป็นขยะปนเปื้อนเศษอาหาร ขยะกำพร้า (วัสดุไม่สามารถรีไซเคิลได้)  ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 20% ทางตลาดจริงใจ ได้กำลังผลักดันส่งเสริมให้มีการแยกเศษอาหารออกทั้งหมดและล้างภาชนะ บรรจุภัณฑ์ เพื่อที่ขยะส่วนนี้จะลดปริมาณลง และสามารถส่งไปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) แทนการไปสู่บ่อฟังกลบ และบรรลุเป้าหมายขยะเหลือศูนย์   

ตัวอย่างโครงการเด่นด้านการจัดการขยะของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ (CRC) 

  • ในกลุ่มธุรกิจแฟชั่น ได้จัด โครงการ ลดการใช้พลาสติกและส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ให้มีการใช้ซ้ำ (Bring Your Own Bag) มอบคะแนนสะสมแก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิก The1 ที่นำถุงช้อปปิ้งแบบใช้ซ้ำมาเอง รวมถึงโครงการ A Journey to Zero: “Beauty Reborn” ซึ่งนับเป็นค้าปลีกที่ริเริ่มโครงการนี้ ภายใต้แคมเปญ Central Love The Earth โดยร่วมกับ ECOLIFE ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มรักษ์โลก เชิญชวนลูกค้านำบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ความงามที่ใช้แล้วจากวัสดุพลาสติก โลหะ และแก้ว มาที่จุด  Beauty Waste Separation Corner เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ความงามต่าง ๆ ด้วยการร่วมแยกผลิตภัณฑ์ความงามที่ใช้แล้วและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี   เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจุด Beauty Waste ดังกล่าว ทางห้างเซ็นทรัลได้มีการนำร่องที่แผนกบิวตี้ แกเลอรี ชั้น 1 ห้างเซ็นทรัล แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นที่แรก ทั้งนี้เรามีแผนที่จะขยายจุด Beauty Waste Separation Corner ในแผนกเครื่องสำอางของ ห้างเซ็นทรัล ทุกสาขา รวมถึงห้างโรบินสัน  เพื่อสานต่อภารกิจรักษ์โลกอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
  • ในกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าไอที ได้จัดโครงการ Bye Bye e-Waste จุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นไปกำจัด และรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากล

ตัวอย่างโครงการเด่นด้านการจัดการขยะของบริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน)

  • เซ็นทรัลพัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์รีไซเคิลเดย์ จัดตั้งรีไซเคิลสเตชั่นแล้ว 6 สาขา มีสาขาอีสต์วิลล์, ศรีราชา, อยุธยา, ระยอง, ลาดพร้าว และเวสต์วิลล์ ปี 2566 สามารถนำขยะรีไซเคิลเข้าสู่ระบบแล้วกว่า 331 ตัน ลดปริมาณคาร์บอนได้กว่า 677 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับปลูกต้นไม้ไปแล้ว 71,202 ต้น ทั้งยังส่งเสริมให้พนักงานอาคารสำนักงานเซ็นทรัลเวิลด์เปลี่ยนขยะไร้ค่า ให้มีมูลค่า กับ โครงการ ทิ้งดีXรีไซเคิลเดย์สัญจร โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 592 ราย รับขยะรีไซเคิลกว่า 6.7 ตัน ลดปริมาณคาร์บอนได้กว่า 10 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 935 ต้น

ตัวอย่างโครงการเด่นด้านการจัดการขยะของบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด

  • ติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ (Cowtech) เพื่อบริหารจัดการขยะอาหารบางส่วนและขยะอินทรีย์ต่างๆ แปลงขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหาร ส่วนปุ๋ยนำใช้บำรุงต้นไม้ในโรงแรมรวมถึงแจกจ่ายให้กับชุมชน โดยเริ่มดำเนินการติดตั้งเครื่อง Cowtech ในปี 2561ที่เซ็นทรา บาย เซ็นทารามาริสรีสอร์ทจอมเทียนและติดตั้งเพิ่มเติมที่เซ็นทาราแกรนด์ บีชรีสอร์ทแอนด์วิลล่า ภูเก็ต และเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย รวม 3 โรงแรม
  • บริจาคอาหารที่ยังรับประทาน (Surplus Food) ได้ให้กับมูลนิธิ SOS เพื่อประโยชน์ของผู้ที่คลาดแคลน กลุ่มเปราะบางที่มีความต้องการ ผู้ด้อยโอกาสในสถานสงเคราะห์ในพื้นที่ต่างๆ โดยเริ่มโครงการในปี 2560 ปัจจุบันมีโรงแรมในกรุงเทพ ภูเก็ต และหัวหิน เข้าร่วมโครงการจำนวน 8 โรงแรม นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจอาหาร (CRG) ได้เข้าร่วมโครงการบริจาคนำร่องโดยแบรนด์มิสเตอร์ โดนัท จำนวน 23 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ, ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และ เชียงใหม่ นอกจากนี้ ในปี 2565 CRG ยังดำเนินโครงการส่งมอบอาหารคุณภาพดีส่วนเกินจากการจำหน่ายขอมิสเตอร์ โดนัท ให้กับมูลนิธิ วีวี แชร์ ปัจจุบันมีสาขาเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 สาขาในสมุทรปราการ พัทยาและเชียงราย
  • สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าในการส่งเสริมการแยกขยะผ่าน โครงการ Plastics Only, Please’ (P-O-P) ที่ต้องการรณรงค์ให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญและร่วมมือกันจัดการกับปัญหาขยะพลาสติก โดยเริ่มโครงการครั้งแรกในปี 2562 และดำเนินโครงการต่อเนื่องในปี 2566 โดยโรงแรมและรีสอร์ทภายในเครือเซ็นทาราทุกแห่งที่เปิดให้บริการ     จะจัดให้มีถังขยะรูปทรงสัตว์ทะเลน่ารักๆไว้ภายในพื้นที่ของโรงแรม

กลุ่มเซ็นทรัลได้ตระหนักถึงความท้าทายดังกล่าวและมองเห็นว่าปัญหาด้านการจัดการขยะให้ถูกวิธีเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขเราจะร่วมเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่จะเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจในทุกภาคส่วนในด้านการใช้ทรัพยากรหรือสินค้าให้เกิดคุณค่าและประสิทธิภาพสูงสุดการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ไม่รู้จบจะนำมาสู่การแก้ไขวิกฤตปัญหาด้านขยะได้แบบรอบด้านเพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน