TCMA ชูต้นแบบนิเวศนวัตกรรม PPP-Saraburi Sandbox ในเวที COP28

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศความสำเร็จการสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน แปลงโรดแมป 2050 Net Zero Cement and Concrete สู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน ริเริ่มพัฒนานิเวศนวัตกรรมดำเนินงาน Public-Private-People Partnership สระบุรี แซนด์บ๊อกซ์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับเป็นที่ยอมรับของภาครัฐไทยและองค์กรซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก และเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศชั้นนำอื่นๆ ในเวที COP28

TCMA ผนึกภาครัฐ และ GCCA ในเวที COP 28

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA เป็นหนึ่งในภาคเอกชนไทย ที่ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าใน Thailand Innovation Zone และ GCCA Pavilion ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประเทศสมาชิกได้ร่วมกันทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) เพื่อจะบรรลุเป้าหมายหลักของข้อตกลงปารีส ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5องศาเซลเซียสในสิ้นศตวรรษนี้

“ในการเข้าร่วมประชุม COP28 นี้ TCMA ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานกลางของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยประสานงานกลางของประเทศด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจัดแสดงความก้าวหน้าดำเนินงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap การนำโรดแมปสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่านในคูหานิทรรศการของประเทศไทย Thailand Innovation Zone พร้อมร่วมเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด ‘Climate Partnership Determination’ นอกจากนี้ TCMA ได้ร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) องค์กรด้านซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก นำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงาน ‘Decarbonization Action’ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในระดับโลก”

ชูต้นแบบนิเวศนวัตกรรมเชิงพื้นที่ PPP-Saraburi Sandbox

TCMA นำ 2050 Net Zero Cement and ConcreteRoadmap มาสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่านเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 มีการจัดทำแผนการดำเนินงานที่ลงรายละเอียด และพัฒนานิเวศนวัตกรรมดำเนินงานบูรณาการความร่วมมือเชิงพื้นที่ในจังหวัดสระบุรีภายใต้ Public-Private-People Partnership (PPP)-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City สร้างสระบุรีเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย

ดร. ชนะฯ กล่าวว่า “PPP-Saraburi Sandbox เป็นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือทำงานในเชิงพื้นที่ (Area Base) โดยใช้แนวทาง 3C คือ Communication-Collaboration-Conclusionstep-by-step และ 3P คือ Public-Private-People Partnership นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี บูรณาการความร่วมมือและร่วมกันกำกับดูแล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ ทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม ทำงานเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการต้นแบบ ที่สอดคล้องกับ Thailand NDC แผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ครอบคลุมมิติด้านนโยบาย/ กฎหมาย/กฎระเบียบ (Policy/ Law/ Regulation) ด้านแหล่งทุน (Climate Funding) ด้านเทคโนโลยี (Technology) และด้านการกำกับดูแล (Governance) การดำเนินงานด้วยวิธีนี้จะทำให้โครงการที่ทำด้านลดก๊าซเรือนกระจกมีความชัดเจนและวัดผลได้ ซึ่งได้รับความชื่นชมและความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งจากภาครัฐและสมาชิก GCCAที่เข้าร่วมประชุม COP28”

โครงการภายใต้ PPP-Saraburi Sandbox ครอบคลุม:-

  1. การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Accelerating Energy Transition) เช่น การจัดหาพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) และระบบผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน การพัฒนาสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) และการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์
  2. การยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Fostering Green Industry & Green Product)
    ด้วยการศึกษาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน และส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ หรือปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก รวมถึงการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ผลิตจากนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  3. การจัดการวัสดุเหลือใช้ (Turning Waste to Value) ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE)
  4. การทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ (Promoting Green Agriculture) ด้วยการปลูกพืชพลังงานตามโมเดล BCG เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  5. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Increasing Green Space) สนับสนุนการปลูกป่าชุมชนเพิ่ม 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับคาร์บอน ต่อยอดสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต และสร้างรายได้ให้ชุมชน