นักวิเคราะห์มอง ‘จีน’ อาจโดน ‘สหรัฐฯ’ จำกัดการส่งออกเกี่ยวกับการผลิต ‘ชิป’ อีกระลอก

ปีที่ผ่านมา จีนเองก็ทำแสบโดยการออกชิปของตัวเองในสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย เหมือนเป็นสัญญาณว่าไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ด้านชิป อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าปีนี้สหรัฐฯ จะยกระดับข้อจำกัดการส่งออกชิป รวมถึงอุปกรณ์การผลิต หลังจากที่เพิ่งโดนเนเธอร์แลนด์จำกัดไป

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์ได้มีคำสั่งให้ ASML บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ระงับการส่งออกระบบ ลิโทกราฟีรังสีอัลตราไวโอเลตขั้นสูง ไปยังจีน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้ในการผลิตชิป โดยข้อจำกัดดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ เพิ่มการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงและเครื่องมือการผลิตชิปไปยังจีนในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เนื่องจากข้อกังวลว่ารัฐบาลจีน สามารถใช้ชิปขั้นสูงเหล่านี้ในด้านปัญญาประดิษฐ์และการใช้งานทางการทหาร

“ฉันจะไม่แปลกใจเลยหากมีข้อจำกัดของสหรัฐฯ เกิดขึ้นอีก เนื่องจากสหรัฐฯ กังวลอย่างมากเกี่ยวกับการเสริมกำลังทางทหารของจีน” Dan Hutcheson รองประธานและนักวิจัยอาวุโสของ TechInsights กล่าว

หลังจากที่เนเธอร์แลนด์ได้จำกัดการส่งออกดังกล่าว ทางรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาประณามพร้อมเรียกร้องให้เนเธอร์แลนด์ รักษาวัตถุประสงค์ วางตัวเป็นกลาง และรักษาหลักการทางการตลาด และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ ใช้การควบคุมการส่งออกเป็นเครื่องมือ

“นี่เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ไม่เพียงแต่รัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศตะวันตกอื่น ๆ เช่น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ที่กำลังจะดำเนินการแก้ไขข้อจำกัดบางประการที่เราเคยเห็นเกี่ยวกับทั้งอุปกรณ์การผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงด้วย” Chris Miller ผู้เขียน ของ “Chip War” กล่าว

ข้อจำกัดของฝั่งตะวันตก ทำให้การนำเข้าวงจรรวมของจีนในปี 2566 ลดลง 15.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เหลือ 349.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 ตามข้อมูลศุลกากรที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (12 ม.ค.) ปริมาณการจัดส่งก็ลดลง 10.8% ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามของชาติตะวันตกที่จะควบคุมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน โดยข้อจำกัดต่าง ๆ ได้ผลักดันให้จีนหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น

Source