การพัฒนา SME อาจไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก็มีปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของเอสเอ็มอีที่น่าสนใจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาของผู้ประกอบการรายย่อยได้ เคล็ดลับหนึ่งที่สอดแทรกอยู่ในงานอบรมโครงการ “ตอกเสาเข็มเพื่อ SME” ปี 2567 ที่ทางศูนย์เซเว่น อีเลฟเว่นสนับสนุนเอสเอ็มอี ภายใต้การบริหารของซีพี ออลล์ หยิบยกขึ้นมาคือ “การสร้างแบรนด์” ได้จุดประกายให้เกิดคำถามต่อเนื่องที่เชื่อมโยงสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างมีนัยยะสำคัญ
ผศ.ดร.วราภรณ์ คล้ายประยงค์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์ SME หนึ่งในวิทยากร ได้ขยายความเรื่องของ “การสร้างแบรนด์” สิ่งที่ SME ควรรู้ก่อนที่จะปั้นแบรนด์ให้ปัง เพื่อพิชิตใจผู้บริโภคอย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า ในปัจจุบันมีการแบ่งแยกประเภทลูกค้าตามพฤติกรรมของลูกค้า แทนแบ่งแยกตามอายุ (Generation) เนื่องจาก Digital เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิต และภาพเหล่านี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นหลังเหตุการณ์โควิด 19 โดยมีวางกรอบกลุ่มผู้บริโภคใหม่ดังนี้ กลุ่มที่น่าจับตามองคือกลุ่ม Generation C (Connected Generation) ซึ่งมีประมาณ 75% ของประชากรวัยทำงาน ต่างกับ Generation X, Y และ Z ในอดีต ตรงที่อายุไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ
Gen C กลุ่มนี้จึงไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ แต่มุ่งเน้นไปที่ทัศนคติและกรอบความคิดในการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับไลฟ์สไตล์ จากข้อมูล Parachute Digital. 2024 พบว่า กลุ่ม Gen C ส่วนใหญ่จะเสพข้อมูลผ่านเว็บไซต์โซเซียลมีเดีย โดย 42% ใช้แท็บเล็ตขณะดูทีวี และ 64% ของเวลาบนมือถือถูกใช้ไปกับ Application ต่างๆ เรียกว่า กลุ่ม Gen C มีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เพียงแต่บริโภคเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังสร้าง content ขึ้นมาด้วย
จากการวิจัยของ Think with Google พบว่า 90% ของผู้บริโภค Gen C สร้างเนื้อหาบนโลกออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง การแบ่งปันชีวิตกับโลกดิจิทัลผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter และ Instagram ความคิดสร้างสรรค์และกรอบความคิดดิจิทัลคือสิ่งที่ทำให้คน Gen C แตกต่างจากคนรุ่นอื่นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนเหล่านี้คือคนที่กิน นอน และหายใจผ่านสื่อดิจิทัล (ข้อมูลจาก : Appleton. 2024) ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าต่างๆได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อกลุ่ม Gen C มีขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการ SME หน้าใหม่จะทำอย่างไรเพื่อให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ หนึ่งในวิธีที่เห็นผลและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนก็คือ “การสร้างแบรนด์” โดยการสร้างแบรนด์ในสมัยนี้ง่ายและสะดวกสบายกว่าเมื่อก่อนมาก แบรนด์ที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
1.ทัศนคติในเชิงบวกกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง:การมองโลกในแง่ดีและสนับสนุนผู้บริโภคด้วยการสร้างมูลค่าเชิงบวกกับการขายที่ลำบากจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นใจและสร้างความสัมพันธ์ในแบรนด์ เช่น ผู้ประกอบการจำหน่ายพลาสเตอร์ปิดแผล ซึ่งจะถูกใช้งานก็ต่อเมื่อเกิดบาดแผล หากผู้ประกอบการมีการนำข้อความดีๆ หรือออกแบบลายที่ดูสดใส ก็จะช่วยสร้างอารมณ์และความรู้สึกที่ดีได้
2.มีความเป็นมิตร:ผู้บริโภคกำลังมองหาความไว้วางใจและมูลค่าในการซื้อสินค้า ที่มากกว่ามูลค่าทางตัวเงิน ผ่านการให้ความใส่ใจผู้บริโภคเช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริการด้วยใจ ดังนั้นเรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัย และความสะดวกจึงยังคงสำคัญ แม้ว่าจะมีความอ่อนไหวต่อราคาเพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คนไม่สามารถออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าได้ ผู้ประกอบการก็มีบริการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ หรือมีการสอบถามเพื่อแสดงความห่วงใย
3.ผสานเทคโนโลยีทั้งในการทำงานและชีวิตประจำวัน:เมื่อกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในตลาดออนไลน์ ผู้ประกอบการก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าไปสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านช่องทางนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เลือกทำตลาด และมีค่าใช้จ่ายไม่สูง เหมาะกับผู้ประกอบการ SME หน้าใหม่ให้ได้ทำตลาดและสร้าง แบรนด์ โดยผู้ประกอบการจะต้องศึกษารูปแบบและวิธีการขายในแต่ละแพลตฟอร์มให้ดี เพื่อสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
4.ให้ความสำคัญกับงานและชีวิต:การที่กลุ่ม Gen C เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้มองเห็นการเปลี่ยน แปลงของโลกในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลขององค์กร ดังนั้น หากแบรนด์มีการสร้างการตระหนักรู้ถึงความใส่ใจขององค์กรที่มีต่อพนักงาน ก็จะยิ่งทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เพราะความสุขของพนักงานที่มีต่อการทำงานจะสะท้อนออกมาผ่านตัวสินค้าและบริการนั่นเอง
5.ให้ความสำคัญกับสังคม:ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องการเห็นธุรกิจดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ กลุ่ม Gen C มักจะค้นหาข้อมูลของผู้ประกอบการและที่มาของสินค้าว่า สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมถึงมีการทำกิจกรรมหรือโครงการดีๆ เพื่อตอบแทนสังคมหรือรักษาสิ่งแวด ล้อมหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างมาก
หากดำเนินการสร้างแบรนด์ครบทั้ง 5 เรื่องแล้ว ลำดับถัดไปคือการเลือกช่องทางในการสร้างแบรนด์ ผู้ประกอบการควรเลือกจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีการการันตีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางออนไลน์ที่เป็นสื่อกลางในการขายสินค้าจำนวนมาก หากผู้ประกอบการสร้างแบรนด์ผ่านช่องทางขายออนไลน์ของตัวเอง ก็สามารถการันตีสินค้าได้เช่นกัน และต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความพึงพอใจ