‘บมจ.วีรันดา รีสอร์ท’ หรือ VRANDA มั่นใจปี 2567 คาดผลประกอบการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังยุติรับรู้ผล ขาดทุนจากธุรกิจร้านขนมหวานตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยการบันทึกด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดเพียงครั้งเดียว (One-time Non-cash) ส่งผลให้ปี 2567 จะไม่ขาดทุนจากธุรกิจร้านขนมหวานไตรมาสละประมาณ 8 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ด้านธุรกิจหลักโรงแรมขยายตัวต่อเนื่องรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวแรง เตรียมเปิดโรงแรมแห่งใหม่ในภูเก็ตและส่วนขยายโครงการ รีสอร์ทในสมุย รวมถึงโอนกรรมสิทธิ์โครงการในชะอำและภูเก็ต หนุนรายได้เติบโตต่อเนื่อง
นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA ผู้นำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจไลฟ์สไตล์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดการณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2567 จะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเตรียมยุติการรับรู้ผลขาดทุนจากธุรกิจร้านขนมหวานแบรนด์ “GRAM Pancakes และ PABLO Cheese tart” ที่ดำเนินการผ่านบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทย่อยที่เป็นเจ้าของสัญญาแฟรนไชส์หลักตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 หลังจากที่พิจารณาปรับแผนการลงทุนในธุรกิจร้านขนมหวาน โดยจะบันทึกด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดเพียงครั้งเดียว (One-time Non-cash) ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งจะไม่มีผล กระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทฯ
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากธุรกิจร้านขนมหวานประมาณ 24 ล้านบาท ซึ่งระหว่างนั้น บริษัทฯได้ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อการลดขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยนับจากไตรมาส 1/2566 ได้ลดจำนวนสาขา “GRAM Pancakes” และ “PABLO Cheese tart” ก่อนจะบันทึกด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดเพียงครั้งเดียวในไตรมาสที่ 4/2566 ซึ่งจะมีผลทำให้ในแต่ละไตรมาสของปี 2567 หยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนธุรกิจร้านขนมหวานเฉลี่ยไตรมาสละประมาณ 8 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566
โดยก่อนหน้านั้น VRANDA ได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มและเป็นเจ้าของสัญญาแฟรนไชส์หลักของร้านคาเฟ่และขนมหวานภายใต้แบรนด์ “GRAM Pancake” และ “PABLO Cheese tart” ในช่วงปลายปี 2562 และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งทางทีมผู้บริหารได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้มาโดยตลอด ทั้งการเพิ่มช่องทางเดลิเวอรี่และขยายสาขาเพื่อครอบคลุมพื้นที่และคิดค้นริเริ่มเมนูใหม่ๆ ให้เข้ากับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค แต่ถึงกระนั้นทางเจ้าของแฟรนไชส์หลักที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันได้ปิดสาขาแฟลกชิปหลักในเมืองโอซาก้า ส่งผลกระทบต่อความนิยมของแบรนด์ลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัญหาด้านเงินเฟ้อและราคาต้นทุนของวัตถุดิบที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลให้บริษัทฯตัดสินใจยุติการประกอบกิจการในปี 2567 และนำมาสู่การบันทึกด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดเพียงครั้งเดียว (One-time Non-cash) ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งทางบริษัทฯ ได้สื่อสารแก่นักลงทุนเป็นการทั่วไป (Public) ในการนำเสนอข้อมูลผลประกอบการใน Opportunity day ไตรมาส 3/2566 เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ไปแล้ว
นายภวัฒก์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2567 คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวแรง โดยบริษัทฯ มีแผนเปิดให้บริการโรงแรม – รีสอร์ท และโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อาทิ การเปิดให้บริการโรงแรมวีรันดา รีสอร์ท ภูเก็ต, ออโต้กราฟ คอลเลกชัน (Veranda Resort Phuket, Autograph Collection) จำนวน 159 ห้อง และ ส่วนขยาย ร็อคกี้ บูทีค รีสอร์ท – วีรันดา คอลเลกชัน สมุย (Rocky’s Boutique Resort – Veranda Collection Samui) จาก 50 ห้องเป็น 70 ห้อง (+40%) ในไตรมาส 4/2567 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดภูเก็ตและเกาะสมุยเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการเปิดให้บริการโรงแรมและรีสอร์ทภายใต้แบรนด์วีรันดาในแห่งอื่นๆ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ในปี 2567 โดยตั้งเป้ารายได้ของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทของปีนี้ที่ 1,300 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% จากปี 2566
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนโอนกรรมสิทธิ์พูลวิลล่าและวิลล่า ได้แก่ โครงการวีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ (Veranda Pool Villas Hua-Hin Cha-am) ซึ่งจะทยอยโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2567 และโครงการวีรันดา วิลล่า แอนด์ สวีท ภูเก็ต (Veranda Villas and Suites Phuket) ซึ่งมียอดขายรวมกว่า 50% ปัจจุบันได้เริ่มก่อสร้างห้องตัวอย่างแล้ว คาดว่าจะพร้อมให้เข้าชมประมาณ เม.ย. 2567 และคาดว่าจะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์เพื่อรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/2567 โดยตั้งเป้ารายได้ของธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เติบโตกว่า 100% จากปี 2566
Related