บทความโดยณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง BUZZEBEES
ที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้เข้าไปเรียน CXO ของพี่กระทิง พูนผล ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย แต่ว่าหัวข้อหนึ่งที่อยากพูดถึงในวันนี้ คือ เคสที่คุยกัน เป็นเคสเกี่ยวกับหนังสือ Light Out หนังสือ Light Out เป็นหนังสือที่เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่สมัย Jack Welch CEO of the Century ที่นำพาหุ้น GE ขึ้นไปถึง 40X หรือ 40 เท่า แล้วเปลี่ยนถ่ายมาสู่ยุค Jeff Immelt ซีอีโอของคนถัดไป ที่เป็นช่วงหุ้นตกระเนระนาด
โดยหนังสือพูดถึงหลายเรื่อง แต่ว่าเรื่องที่น่าสนใจมากๆ คือ เรื่องที่คุยกันว่าทำไมคนถึงตัดสินใจผิด เมื่อคุณเป็นซีอีโอหรือผู้นำของบริษัท โดยที่อ้างอิงจากคำพูดของ Charlie Munger ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะนักลงทุนชื่อดัง และนักธุรกิจชาวอเมริกัน Munger เป็นผู้ช่วยสำคัญและเป็นหุ้นส่วนธุรกิจของ Warren Buffett ที่บริษัท Berkshire Hathaway Inc ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าการตลาดสูงสุดในโลก เค้าจบฟิสิกส์ ฉลาดหลักแหลมมาก ลงทุนในทุกๆ อย่าง และเพิ่งเสียชีวิตไปในวัย 99 ปี เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมานี้เอง Charlie Munger เป็นคนที่ลงทุนในหุ้นและได้กำไรมากมาย โดยตัวล่าสุดเค้าได้ลงทุนในบริษัทรถที่ชื่อว่า BYD กว่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2008 และขายทำกำไรไป 30X ในปี 2022 ก่อนเขาเสียชีวิตลง
ทีนี้เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า ว่าจริงๆ แล้วคนเราตัดสินใจ ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวหรือการทำงาน Charlie Munger ก็แนะนำว่าให้ตัดสินใจด้วยการตัดสินใจสองด้าน ด้านที่หนึ่งการใช้ข้อมูลทั้งหมด ที่เกี่ยวกับข้อมูลตามความเป็นจริงมาประกอบการตัดสินใจ อาทิ งบการเงิน ผู้บริหาร สภาพตลาด อุตสาหกรรม และอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนค่อนข้างพูดถึงกันบ่อยอยู่แล้วว่าก่อนตัดสินใจต้องพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้
แต่สิ่งที่เพิ่งจะพูดก็คือการตรวจสอบการตัดสินใจตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่า การตัดสินใจของเรานั้นมีความเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ ซึ่งการเอนเอียงของคนเรานั้น Charlie Munger บอกว่า คนเรามักมีอคติทางปัญญาและแนวโน้มทางจิตวิทยาต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดหรือความคลาดเคลื่อนในการตัดสินใจ ขออธิบายถึงวิธีที่ความคิด การรับรู้ และการตัดสินใจของเราอาจถูกบิดเบือนโดยปัจจัยทางจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลัง นี่คือคำอธิบายสั้นๆ ของแต่ละข้อเจ๋งๆ ที่เลือกมาค่ะ
1. ผู้คนมีแรงจูงใจสูงต่อรางวัลที่ได้รับทันทีและการหลีกเลี่ยงโทษที่ได้รับในทันที ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ให้ผลในระยะสั้น ที่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด
2. การเอนเอียงที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือไม่สนใจข้อบกพร่อง เพื่อสนับสนุนหรือแก้ต่างให้กับสิ่งที่ชอบของเราต่อบางสิ่ง
3. แนวโน้มที่จะรีบตัดสินใจเพื่อกำจัดความสงสัย โดยไม่มีหลักฐาน หรือการพิจารณาทางเลือกที่เพียงพอ เพื่อบรรเทาความไม่สบายใจจากความไม่แน่นอน
4. แนวโน้มหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง โดยชอบที่จะยึดมั่นในความเชื่อที่มีอยู่ และให้ความสนใจกับข้อมูลที่ยืนยันความเชื่อเหล่านั้น ในขณะที่ละเลยในการอธิบายอย่างมีเหตุผลต่อหลักฐานที่ขัดแย้ง
5. แนวโน้มการรักษาแนวปฏิบัติทางสังคม แนวโน้มเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของเราในบริบททางสังคม เช่น การต่อคิว และการให้ความเคารพผู้มีอายุมากกว่า ซึ่งขับเคลื่อนโดยการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคม และการยึดถือความเป็นธรรม
6. แนวโน้มที่ได้รับอิทธิพลจากการเชื่อมโยงเพียงอย่างเดียว เช่น เป็นการตัดสินใจที่มีอิทธิพลจากการยึดมั่นในสิ่งที่ได้ผลในอดีตโดยไม่พิจารณาบริบทปัจจุบันหรือการเปลี่ยนแปลง
7. แนวโน้มมองโลกในแง่ดีเกินไปเกี่ยวกับผลลัพธ์ของแผนหรือการตัดสินใจ โดยมักประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไปและประเมินผลประโยชน์สูงเกินไป
8. แนวโน้มที่จะตอบสนองจากความกลัวต่อการถูกคุกคามว่าจะสูญเสียบางสิ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การพนัน เมื่อเล่นเสียแล้วแทงต่อด้วยเงินที่เพิ่มขึ้น
9. แนวโน้มการได้รับอิทธิพลจากความเครียด ความเครียดสามารถทำให้การตัดสินใจแย่ลงเป็นอย่างมาก นำไปสู่การเลือกที่ไม่ดีภายใต้ความกดดัน
10. แนวโน้มที่จะโจมตีผู้ส่งสารแทนที่จะจัดการกับข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ที่ผู้ส่งสารมาบอก
11. การปฏิเสธทางจิตวิทยาที่ง่ายและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด การปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงเพราะมันเจ็บปวดหรือไม่สบายใจ นำไปสู่การปฏิเสธข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์
12. แนวโน้มที่มีต่อการประเมินตนเองสูงเกินไป การประเมินความสามารถหรือคุณลักษณะของตนเองสูงเกินจริง ซึ่งอาจนำไปสู่ความคาดหวังหรือการตัดสินใจที่ไม่เป็นจริง แต่อาจเป็นประโยชน์ได้ในระดับหนึ่งหากมีความเข้าใจตัวเองจริง ๆ อย่างมีสติ
13. ความล้มเหลวในการเห็นภาพรวมเพราะโฟกัสไปที่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจนำไปสู่ความเคยชิน และไม่ตระหนักว่าปัญหาในภาพรวมนั้นใหญ่มาก
14. แนวโน้มที่มีต่อการให้น้ำหนักความสามารถในการจำได้มากเกินไป การประเมินความสำคัญหรือความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่จำได้ง่ายสูงเกินจริง มักเกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเรื่องที่ดราม่าหรือมีอารมณ์ประกอบอยู่
15. แนวโน้มที่ถูกอิทธิพลจากผู้มีอำนาจ เกิดความเอนเอียงที่จะถูกอิทธิพลจากผู้มีอำนาจมากเกินควร ไม่ว่าคำแนะนำหรือคำสั่งของพวกเขาจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด
16. แนวโน้มที่ให้ความสำคัญกับเหตุผล ความเอนเอียงที่จะให้ค่ากับคำอธิบายหรือเหตุผลของการกระทำ คือ พอตัดสินใจไปก็หาเหตุผลมากมายมาอธิบายว่าที่ตัดสินใจนั้นเพราะอะไร
17. “แนวโน้มลอลลาพาลูซ่า” หมายถึงสถานการณ์ที่อคติหลายอย่าง หรืออิทธิพลการทำงานร่วมกันอย่างมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อผลิตผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยน หรือนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมาก มากกว่าผลรวมของผลกระทบแต่ละอย่าง แต่ละปัจจัย
แนวคิดเหล่านี้มีความสำคัญในการเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะในด้าน เช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จิตวิทยา และกระบวนการตัดสินใจ แนวโน้มเหล่านี้อาจมีอยู่ในตัวเราทุกๆ คน เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจ และทำให้การตัดสินใจผิดพลาดน้อยลง เมื่อรู้แล้วก็ขอให้คิดทบทวนไม่ว่าการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรืองานที่ท่านตัดสินใจอยู่นั้นมีเหตุผลเป็นไปได้เพราะเหตุผลเหล่านี้หรือไม่