พฤกษา เดินหน้าบ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซัน 2 ลุยจัดกิจกรรม Accelerate Impact อัดแน่นด้วยเวิร์กชอปเข้มข้นที่จะช่วยพัฒนาความรู้และทักษะด้านธุรกิจ พร้อมทั้งระดมผู้บริหารระดับสูงจากเครือพฤกษามาเป็นโค้ชให้คำปรึกษา เพื่อต่อยอดธุรกิจ พร้อมมีโอกาสรับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ เงินลงทุนจากพฤกษาภายใต้ Corporate Venture Capital และโอกาสครั้งสำคัญที่ได้เป็นพันธมิตรกับเครือพฤกษา
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซัน 2 มีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “อยู่ดี มีสุข” ซึ่งทีมผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ผ่านการคัดเลือกในซีซันนี้มี 4 ทีม ได้แก่ ทีมแล็บมูฟ (Labmove) ผู้ให้บริการเจาะเลือดถึงที่พักโดยนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรอคิวเป็นเวลานาน ช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล ทีมแอ็กนอสเฮลท์ (Agnos Health) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยวิเคราะห์โรคและประเมินความเสี่ยง ช่วยลดภาระของแพทย์ในกรณีที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยและลดต้นทุนในการรักษาพยาบาล ทีมฟาร์มแคร์ (PHARMCARE) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม PHARMCARE ตัวช่วยอัจฉริยะที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงร้านขายยาที่มีคุณภาพ สามารถเช็กสุขภาพและวิเคราะห์โรคได้เบื้องต้น และ ทีมวงศ์ไผ่ (WONGPHAI) ธุรกิจที่ช่วยเหลือชุมชนที่ต้องการจัดการกับเศษไผ่เหลือทิ้ง และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการผลิต KN Biochar จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างเศรษฐกิจในชุมชน
“ขณะนี้โครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซัน 2 ได้เข้าสู่ช่วงของการบ่มเพาะเพื่อให้แต่ละทีมมีความพร้อมทางธุรกิจมากขึ้น โดยเราได้จัดเวิร์กชอปเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจต่าง ๆ อาทิ Techsauce, อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย และ Disrupt Impact Fund มาให้ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานการดำเนินธุรกิจ การทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ การวัดผลทางธุรกิจ การต่อยอดธุรกิจเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน และที่พิเศษคือแต่ละทีมจะมีผู้บริหารระดับสูงจากเครือพฤกษามาเป็นสปอนเซอร์คอยให้คำแนะนำ นอกจากนี้ยังมีพนักงานที่มีความชำนาญด้านอสังหา เฮลท์แคร์ อีคอมเมิร์ซ มาช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และช่วยให้แต่ละทีมเข้าถึงทรัพยากรในเครือพฤกษา อาทิ การเข้าถึงลูกบ้านเครือพฤกษา การหาพันธมิตรที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโต” นายอุเทน กล่าว
สำหรับการทำงานร่วมกันจะทำงานภายใต้คอนเซปต์ X-Team ที่ประกอบไปด้วยพนักงานพฤกษาที่มีความเชี่ยวชาญและความรู้เฉพาะทางหลากหลายสาขาเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของทีม อีกทั้งยังรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยที่คอยประสานกับส่วนงานอื่น ๆ ภายในพฤกษาเพื่อผลักดันให้ธุรกิจสามารถต่อยอดและเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น โดยในซีซันนี้มีพนักงานพฤกษาที่อาสาสมัครร่วมเป็น X-Team จำนวน 32 คน ซึ่งทั้ง 32 คนจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ทีมเพื่อร่วมเวิร์กชอปและทำงานตามความถนัดของตนเองร่วมกับผู้ประกอบการทีมนั้น ๆ โดยทุกคนจะคอยเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่น ๆ และคอยสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำงานที่ทำให้พนักงานทั้งองค์กรได้มีส่วนร่วมกับโครงการด้วยเช่นกัน โดยแต่ละทีมได้รับการสนับสนุน ดังนี้
ทีมแล็บมูฟ ได้มีการรวบรวมทีมผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลเทพธารินทร์ และอินโนเควสต์ ที่ดำเนินธุรกิจตรวจวินิจฉัยโรคทางคลินิกและห้องปฏิบัติการทางแพทย์ในเครือพฤกษา ซึ่งทั้งหมดได้ร่วมให้คำปรึกษาและแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้ธุรกิจแข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันแก่ชุมชนตัวอย่าง การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่สะดวก ร่วมด้วยคุณภาพการบริการที่ดีและมีมาตรฐาน
ทีมแอ็กนอสเฮลท์ ได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเพื่อยกระดับการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมได้ รับการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อช่วยลดความแออัดและการรอรับบริการในโรงพยาบาล อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำทางการแพทย์และการเข้าถึงเครือข่ายพันธมิตรในเครือ วิมุต โฮลดิ้ง
ทีมฟาร์มแคร์ ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเฮลท์โดยเฉพาะ ซึ่งได้ให้คำแนะนำในการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการผลักดันให้เทคโนโลยีการบริการเภสัชกรรมได้เข้าถึงคอมมูนิตี้ต่าง ๆ ในเครือพฤกษา เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่กลุ่มลูกบ้าน รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับหน่วยงาน วิมุต ฟาร์มาซี โซลูชั่น เพื่อผสานให้ฟาร์มแคร์เป็นหนึ่งในบริการเภสัชกรรมทางไกล (Tele-pharmacy) ภายใต้ โรงพยาบาลวิมุต
ทีมวงศ์ไผ่ ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบการผลิต Biochar เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง และขยายกำลังการผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้นอกจากจะช่วยลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังถือเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและชุมชนอีกด้วย
“วิธีการบ่มเพาะที่เข้มข้นเหล่านี้ส่งผลให้ทั้ง 4 ทีมพัฒนาขึ้นอย่างมาก เราหวังว่าทุกทีมจะมีความพร้อมที่จะออกไปสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคม สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีความอยู่ดีมีสุขได้ตามเป้าหมาย และในเดือนเมษายนนี้ เราจะจัดกิจกรรม Demo Day เพื่อให้ทุกทีมได้นำเสนอแผนธุรกิจอีกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสในการรับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ เงินลงทุนจากพฤกษาภายใต้ Corporate Venture Capital และอาจเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะได้ร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับเครือพฤกษาด้วย” นายอุเทน กล่าวในตอนท้าย