กลัวแข่งราคา! ‘ทรูออนไลน์’ เดิมเกมอัดสิทธิประโยชน์ ‘เน็ตบ้าน’ ชูความ ‘คุ้ม’ มัดใจผู้บริโภค

อย่างที่รู้กันว่า เอไอเอส นั้นได้ควบรวมกับ 3BB ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้ เน็ตบ้าน หรือ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ รวมกันกว่า 4.72 ล้านราย แซงคู่แข่งอย่าง ทรูออนไลน์ บริการเน็ตบ้านจาก บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ผู้ใช้งานประมาณ 3.78 ล้านราย

ตลาดเน็ตบ้านยังไปต่อได้

แน่นอนว่าการจะกลับเป็นเป็นเบอร์ 1 อีกครั้งในตลาดเน็ตบ้านของ ทรูออนไลน์ ในเร็ววันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่ว่าจะเติบโตไม่ได้ โดย สกลพร หาญชาญเลิศ หัวหน้าสายงานออนไลน์คอนเวอร์เจนซ์ บมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าว่า ในปีนี้ทรูออนไลน์มีโอกาสโกยลูกค้าใหม่ได้อีก 2 แสนราย รวมเป็น 4 ล้านราย รวมถึงเพิ่มการเติบโตของ ARPU (รายได้เฉลี่ยต่อของผู้ใช้งานต่อคนต่อเดือน) ที่ปัจจุบันอยู่ 494 บาท

“ภาพรวมอุตสาหกรรมตอนนี้มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์รวม 10 ล้านราย ซึ่งเรามองว่ายังมีโอกาสเติบโต จากการขยายตัวของชุมชน โดยเห็นได้จากโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”

ต้องเน้นอัดสิทธิประโยชน์ เพราะลงราคาไม่ไหว

ฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด ยอมรับว่า กลัวการแข่งราคา เนื่องจากตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มี ต้นทุนสูง โดยเฉพาะต้นทุนการติดตั้งที่ถือเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ที่สุด เนื่องจากอสังหาฯ ของไทยส่วนใหญ่เป็นแนวราบไม่ใช่แนวดิ่งเหมือนต่างประเทศ ดังนั้น จะเห็นว่าสัญญาของผู้ให้บริการในตลาดส่วนใหญ่จะเพิ่มเป็น 2 ปี

ในขณะที่ลูกค้าเองก็พยายามหา ดีลที่คุ้มที่สุด ทำให้การทำตลาดของทรูออนไลน์ต้องหาสิทธิประโยชน์อื่น ๆ มาบวกเพิ่มเข้าไปในแพ็คเกจเพราะไม่สามารถ ขึ้นราคา ได้ง่าย ๆ แต่ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า อีกทั้งยังช่วยมัดใจลูกค้ากลุ่มพรีเมียม หรือช่วยให้ลูกค้าอัพเกรดโปรได้อีกด้วย โดยสิทธิประโยชน์ที่ใช้ได้ผลหลัก ๆ จะเป็น คอนเทนต์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และ กล้องวงจรปิด

ล่าสุด ทรูออนไลน์ได้เพิ่มแพ็กเกจใหม่ ได้แก่ PRO AI 799 บาท, เปลี่ยนเราเตอร์ที่รองรับความเร็วสูงสุด 2Gbps, มอบอินเทอร์เน็ต, ให้อินเทอร์เน็ตมือถือเพิ่ม 10GB นาน 3 วัน กรณีอินเทอร์เน็ตบ้านเกิดเหตุขัดข้อง และมอบประกันที่พักอาศัย เป็นต้น ปัจจุบัน แพ็กเกจเริ่มต้นของทรูออนไลน์อยู่ที่ 499 บาท ความเร็ว 500/500 Mbps

“ตอนเอไอเอสควบรวมกับ 3BB เราก็กังวลเรื่องการแข่งขันราคา เพราะถ้าลงแล้วผู้บริโภคจะเข้าใจยากกับการขึ้นราคา แต่ตอนนี้ไม่ได้แข่งเรื่องราคาแล้ว แข่งกันเรื่องคุณภาพ เทคโนโลยี และบริการบัลเดิลที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้า”

ยังใช้ หนุ่ม กรรชัย เป็นพรีเซ็นเตอร์ต่อเนื่อง

พรีเซ็นเตอร์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลมาก เพราะแฟนคลับพร้อมจะสนับสนุน ยิ่งพรีเซ็นเตอร์ใช้งานสินค้าจริง จะยิ่งทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น การที่ทรูออนไลน์ยังใช้ หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย เป็นพรีเซ็นเตอร์ตั้งแต่เดือนมิถุนาคม 2022 ลากยาวจนถึงปี 2024 ก็ยิ่งยืนยันว่าใช้ได้ผล

“ตอนนี้พี่หนุ่ม กรรชัย กลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของประเทศไทยไปแล้ว ดังนั้น การได้เขาเป็นพรีเซ็นเตอร์แสดงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ เพราะถ้าของไม่ดีจริงก็เหมือนเขาแนะนำของไม่ดี” ฐานพล กล่าว

ฐานพล ทิ้งท้ายว่า เมื่อเอไอเอสกับ 3BB ควบรวมกันทำให้มีฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ความท้าทายของ ทรูออนไลน์ คือ ทำให้ลูกค้าเก่าแฮปปี้มากที่สุดเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ และสิ่งที่กลัวที่สุดคือ การแข่งขันเรื่องราคา