SCB EIC คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้โตแค่ 2.7% ขณะเดียวกันก็ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าอยู่กลุ่มรั้งท้ายของโลก และยังมีความท้าทายในเรื่อง Supply Chain ซึ่งไทยเองมีความจำเป็นเร่งด่วนในการที่จะต้องแก้ปัญหาดังกล่าว
มุมมองเศรษฐกิจโลกนั้น SCB EIC คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงปีก่อนที่ 2.6% ซึ่งมุมมองปรับดีขึ้นจากแรงส่งจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงต้นปีนี้ รวมถึงเศรษฐกิจโลกได้รับแรงสนับสนุนจากการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อโลกที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีแรงกดดันจากผลกระทบของภาวะดอกเบี้ยสูง ความขัดแย้งต่างๆ อยู่
นอกจากนี้ SCB EIC ยังมองว่าธนาคารกลางหลายแห่งของประเทศพัฒนาแล้ว จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก
สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2024 เหลือ 2.7% (จากเดิม 3%) แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องได้ จากแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยวและภาคบริการรวมถึงเศรษฐกิจด้านอุปสงค์อื่นที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นในหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มดีขึ้น
อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่าแรงส่งภาครัฐจะยังหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 รวมถึงปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูงจากปีก่อนจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้เร็ว ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกไทยที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นช้าต่อเนื่องมาในปีนี้
สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยนั้นเหมือนจะดี และเห็นสัญญาณที่ไม่ดีตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2023 ที่ผ่านมา และเขายังกล่าวว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นฟื้นตัวช้าในกลุ่มรั้งท้ายของโลก ซึ่งอันดับของไทยอยู่ที่อันดับ 162 ซึ่งแย่ลงกว่าเดิม จากปีก่อนหน้าอยู่ที่อันดับ 155
ขณะเดียวกัน สมประวิณ เชื่อว่า การที่ กนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้มาจากปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเป็นสำคัญ แต่น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน โดยชี้ถึงสาเหตุสำคัญมาจาก
- ผลิตภาพการผลิต (Total Factor Productivity) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวของไทยต่ำลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งจากปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยลดลงและกฎเกณฑ์ภาครัฐจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ
- ปัจจัยทุน (Capital) ปัจจัยดังกล่าวของไทยมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเห็นได้จากสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ลดลงเหลือประมาณ 24% ของ GDP ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง นอกจากนี้ความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (FDI) ของไทยต่ำลงหากเทียบประเทศในภูมิภาคอาเซียน
- ปัจจัยกำลังแรงงาน (Labor) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมาจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว
SCB EIC ยังคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปี ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยจะเหลือแค่ 2% เท่านั้น ซึ่งสมประวิณมองว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสอดคล้องกับผลิตภาพการผลิตของไทย
นอกจากนี้ SCB EIC ยังมองว่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยังผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานเก่าอยู่มาก ขณะเดียวกันการที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนและห่วงโซ่การผลิตจีนมากท่ามกลางกระแสภูมิรัฐศาสตร์โลกรวมถึงความสามารถของภาคการผลิตไทยในการปรับตัวกับห่วงโซ่การผลิตโลกใหม่และรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้ช้าทำให้การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออกไทยยังทำได้ค่อนข้างจำกัด สะท้อนจากส่วนแบ่งยอดขายสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ยังใกล้เดิมมาตลอดทศวรรษ
SCB EIC ยังชี้ว่าไทยยังมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว