ส่องปรากฏการณ์ Swiftynomics เมื่อ Taylor Swift กลายเป็นผู้กระตุ้นเศรษฐกิจโลกแห่งยุค! 

เชื่อว่าหลายคนได้ฟังเพลงใหม่ของ Taylor Swift ในอัลบั้มล่าสุด The Tortured Poets Department หรือที่ชาวโซเชียลเรียกย่อว่า TTPD กันแล้ว เพราะอัลบั้มจุใจ 31 แทร็กเพลงนี้สามารถโกยยอดสตรีมบน Spotify เกิน 1 พันล้านครั้งใน 1 สัปดาห์ไปเรียบร้อย โดยเพลงที่ถูกสตรีม มากที่สุดต่อวันบน Spotify คือ Fortnight ที่ถูกเปิดฟังไปเบาๆ 25.2 ล้านครั้ง 

พลังของ TTPD ส่งให้สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายนกลายเป็นสัปดาห์ที่มีอัตราการสตรีมมิ่งรวมทุกแพลตฟอร์มที่สูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา เบ็ดเสร็จแล้วคิดเป็น 799 ล้านครั้ง ขณะเดียวกันก็ยังดันยอดขายแผ่นเสียงไวนิลให้โตขึ้นอีก สถิติยอดขายประจำสัปดาห์มาถูกบันทึกที่ 700,000 แผ่นในสหรัฐอเมริกา

หากข้ามไปฝั่งอังกฤษ TTPD ทุบสถิติยอดขายสัปดาห์แรกสูงสุดที่สหราชอาณาจักรในรอบ 7 ปี จนสาวเทย์ถูกนำไปโยงกับมาดอนน่า ที่เคยครองแชมป์ศิลปินหญิงอันดับ 1 ในตลาดอังกฤษมาก่อนหน้านี้ ทำให้ Taylor Swift กลายเป็นศิลปินที่มีอัลบั้มอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักรเกิน 12 อัลบั้มด้วยเวลาเร็วที่สุด แซงหน้า The Beatles ได้สำเร็จ

สถานการณ์ทั้งหมดตอกย้ำถึงความโดดเด่นด้านการทำเงินและการทำลายสถิติมากมายของ TTPD ทั้งที่อัลบั้มนี้ได้รับคำวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับเนื้อหาทางดนตรีและสไตล์ของอัลบั้ม นักวิจารณ์เพลงบางคนมองว่าอัลบั้ม TTPD มีเนื้อหาชวนให้คนฟังร่วมสำรวจชีวิตส่วนตัวของ Taylor Swift ในช่วง 2 ปีหลังที่ดูสับสนวุ่นวาย และเป็นงานที่สะท้อนเรื่องส่วนตัวที่สุดแบบไม่เซ็นเซอร์เท่าที่ป๊อปสตาร์สาวเคยทำมา ซึ่งเสียงวิจารณ์เหล่านี้แสดงว่านี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการจับตาว่าอัลบั้มใหม่อย่าง TTPD จะมีมนต์ขลังผลักดันอิมแพคทางเศรษฐกิจของจักรวาล Swiftonomics ให้โตยิ่งขึ้นอีก หรือว่าจะเป็นสัญญาณเข้าช่วงพีคหลังจากที่ Taylor Swift มีภาพเป็นขุมทรัพย์ในวงการดนตรีที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

พีคแล้ว พีคได้อีก

ที่ผ่านมา Taylor Swift ไม่ได้มีภาพแค่เป็นนักร้องนักแต่งเพลงฝีมือดีขวัญใจชาวโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นนักธุรกิจหญิงที่ฉลาดและรอบรู้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเสริมพลังหญิง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลากหลายทั้งในสังคมสหรัฐฯ ที่นักร้องสาวมีอิมแพคด้านการเมืองภายในประเทศ และในประเทศอื่นที่เทย์เทย์มีส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนทำให้รัฐบาลหลายประเทศเปิดไฟเขียวให้เทย์เทย์จัดตารางคอนเสิร์ตอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งหมดนี้เป็นผลส่วนหนึ่งจากความนิยมใน Taylor Swift ที่กระจายไปสู่วงการอื่นได้อีกหลังจากการประกาศความสัมพันธ์เป็นแฟนกับนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลอาชีพดาวรุ่งจากทีมที่กำลังคว้าฝันใน Super Bowl อย่าง Travis Kelce 

ความพีคแล้วพีคอีกของ Taylor Swift นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย เห็นได้จากประวัติที่น่าทึ่งของนักร้องสาว    ผู้ลืมตาดูโลกครั้งแรกที่รัฐเพนซิลเวเนียในปี 1989 ข้อมูลระบุว่า Taylor Swift แสดงความสามารถทางดนตรีแบบก้าวกระโดด และเซ็นสัญญาเพื่อฝึกเป็นศิลปินเมื่ออายุ 13 ปี เวลานั้น Taylor Swift ผลักดันครอบครัวให้ย้ายไป  แนชวิลล์เพื่อขอโอกาสให้ได้ทำงานเพลงอย่างจริงจัง จนเมื่อเหลังจากย้ายบ้านในช่วงอายุ 14 ปี ในไม่ช้า Taylor Swift ก็เซ็นสัญญาแต่งเพลงกับ Sony ออกเป็นอัลบั้มแรกชื่อ “Taylor Swift” ในปี 2006 ส่งเพลงติดอันดับชาร์ตเพลงคันทรี่ยาวนาน 24 สัปดาห์ในฐานะแชมป์อันดับ 1 ทั้งหมดนี้ Taylor Swift ใช้เวลา 5 ปีครึ่งก็สามารถส่งเพลงขึ้นชาร์ต Billboard 200 สำเร็จ

หลังจากมีผลงานเพลงฮิตมากมาย Taylor Swift ย้ายไปนิวยอร์กและเปลี่ยนแนวมาสู่ดนตรีป๊อป จนในปี 2019 แคตตาล็อกเพลงของสาวเทย์ถูกขายให้กับบริษัทพลับลิชชิ่งของ Scooter Braun ซึ่งมีข้อหารังแก Taylor Swift ในช่วงที่เริ่มเป็นนักร้องหน้าใหม่ ตั้งแต่นั้นมา Taylor Swift ได้บันทึกเพลงเวอร์ชันใหม่และหยิบอัลบั้มล็อต แรกกลับมาโปรโมตอีกครั้ง ทั้งหมดเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าต่อความเป็นอิสระของ Taylor Swift

Photo : Shutterstock

Taylor Swift ไม่ยอมให้ใครมากำหนดแนวทางดนตรีหรือเส้นทางอาชีพของตัวเอง ใครที่คิดจะจำกัดทางเลือกในชีวิต Taylor Swift ก็ไม่ยอมเบือนหน้าหนีแต่จะเดินหน้าตั้งหลักต่อสู้และเผชิญหน้า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเคสลักษณะเดียวกับ Braun คือการที่ Taylor Swift เลือกเผชิญหน้ากับ Kanye West และอดีตภรรยาอย่าง Kim Kardashian รวมถึง Katy Perry และโจทก์คนอื่นๆ ซึ่งล้วนเสริมให้สตอรี่ของ Taylor Swift มีอิมแพคมากขึ้น

ปรากฏการณ์ Taylor Swift ที่โลกสัมผัสได้ชัดประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ผลดีทางเศรษฐกิจ และพลังซอฟต์พาวเวอร์ ในส่วนประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นเห็นได้ง่าย เพราะปีที่ผ่านมา ทัวร์ Eras tour ของสาว Swift สามารถทำยอดขายตั๋วได้ไม่ต่ำกว่า 4.35 ล้านใบใน 60 วัน และเป็นทัวร์คอนเสิร์ตในวงการดนตรีแรกที่สร้างรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทัวร์จะยังคงจัดต่อเนื่องและคาดว่าจะสร้างรายได้อีกพันล้าน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาพยนตร์    บันทึกภาพการแสดง “Taylor Swift: The Eras Tour” ที่สร้างรายได้มากกว่า 260 ล้านเหรียญทั่วโลก คว้าแชมป์เป็นภาพยนตร์คอนเสิร์ตที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล

เม็ดเงินมหาศาลไม่ได้ตกอยู่กับ Taylor Swift คนเดียว เพราะในขณะที่ยอดรายได้ของ Taylor Swift มีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศก็พุ่งขึ้นด้วย ผลจากการที่แฟนคลับจำนวนมากเดินทางไปชมคอนเสิร์ต และได้ใช้เงินมหาศาลในระหว่างการเดินทาง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งฟิลาเดลเฟียให้เครดิต Swift ในการยกระดับอัตราการเข้าพักโรงแรมจนคึกคักถึงระดับก่อนเกิดโควิด-19

Melbourne, Victoria Australia – February 16 2024: Taylor Swift Eras Tour Merchandise Stand 3 MCG Melbourne Cricket Ground

ข้อมูลระบุว่าคอนเสิร์ต 2 ครั้งในเดนเวอร์ของ Taylor Swift คาดว่าจะสร้างรายได้ 140 ล้านดอลลาร์ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของรัฐโคโลราโด ยังมีการแสดง 6 ครั้งในลอสแอนเจลิสที่สร้างรายได้ 320 ล้านดอลลาร์ สร้างงาน 3,300 ตำแหน่ง ผลักดันภาษีการขายและการขายในท้องถิ่นให้โตขึ้นอีก 20 ล้านดอลลาร์ ทำให้รัฐเก็บภาษีห้องพักโรงแรมได้เพิ่ม 9 ล้านดอลลาร์

สถิตินี้ทำให้หลายคนไม่แปลกใจที่รัฐบาลหลายประเทศกระตือรือร้นที่จะให้ Taylor Swift จัดตารางการแสดงในประเทศของตัวเอง ซึ่งประเทศไทยเองก็ถูกจัดเข้ากลุ่มนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายเริ่มกังวลว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สวยงามนี้อาจยิ่งใหญ่เกินจริง ขณะที่บางรายตั้งข้อสงสัยว่านี่อาจเป็นจุดพีคของกระแส Taylor Swift แล้วก็ได้

อัลบั้มใหม่ ยังขลังหรือใกล้พีค?

เมื่อ Taylor Swift เปิดตัวสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 11 ในชื่อ “The Tortured Poets Department” เมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2024 นักวิจารณ์บางคนยกย่องอัลบั้มนี้ในเรื่องการจัดเต็ม “ถ่ายทอดอารมณ์-ประสบการณ์  ส่วนตัวแบบไม่เซ็นเซอร์” และมีหลายเพลงที่สะท้อนอารมณ์ขันของสาวเทย์ อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า Swift มาถึงทางแยกในกระบวนการสร้างสรรค์งานของเธอ พร้อมกับเรียกร้องให้งานเพลงมีการเรียบเรียงให้เหมาะสมมากขึ้น

ประเด็นคำชื่นชมสำคัญจากนักวิจารณ์ในสื่อหลักหลายค่าย มีทั้งความรู้สึกได้ถึงความลึกของอารมณ์เพลง โดยนักวิจารณ์ยกย่อง Swift ที่ใช้อารมณ์แบบไร้การควบคุม และความเป็นผู้ใหญ่ของตัวเองในการสำรวจมุมมองคนอกหัก การถูกจองจำ และความหลงผิดที่เป็นประเด็นลึกและซับซ้อนมากขึ้น ในอีกด้าน อัลบั้มใหม่ยังสะท้อนว่า Swift ได้สำรวจแนวเพลงที่หลากหลาย รวมถึงป๊อป ร็อก และคันทรี่ ทำให้เพิ่มมิติและความสดใหม่ให้กับอัลบั้มได้มาก

แต่สำหรับประเด็นด้านลบ นักวิจารณ์นั้นสับเละตั้งแต่ความยาวของอัลบั้ม ที่นานเกินไปและอาจดีขึ้นได้ด้วยการเรียบเรียงแก้ไขที่รัดกุมมากขึ้น ขณะเดียวกันนักวิจารณ์บางคนมองว่าความแปลกใหม่ของอัลบั้มและการสำรวจแนวคิดทางดนตรีใหม่นั้นยังจำกัด

ซึ่งในแง่ความร่วมมือด้านการสร้างสรรค์ นักวิจารณ์มองว่าอาจล้าสมัยโดยเฉพาะความร่วมมือกับ Jack Antonoff ที่นักวิจารณ์บางคนเตือนว่าเพลงนี้อาจล้าสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดนวัตกรรมในด้านเสียงของสาวเทย์ได้

มากกว่าสกิลเพลง แต่คือพลังของฐานแฟน

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และผลกระทบทางเศรษฐกิจของ Taylor Swift ไม่เพียงได้รับแรงผลักดันจากความสามารถในการแต่งเพลงเท่านั้น แต่ยังมาจากอำนาจทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น และความเป็นอิสระของฐานแฟนที่เป็นผู้หญิงรุ่นมิลเลนเนียล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแฟนคลับหญิงของ Taylor Swift

การสำรวจล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับ “Swiftynomics” ซึ่งลงมือสำรวจฐานแฟนของ Swift ว่าเป็นใครและใช้จ่ายอย่างไร พบว่าฐานแฟนของ Taylor Swift คือผู้หญิงยุคมิลเลนเนียลที่มีความอิสระทางการเงินเป็นพิเศษ โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ผู้หญิงในสังคมมักอาศัยอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับพ่อแม่ขณะทำงานมากขึ้น ส่งผลให้พวกเธอมีรายรับมากขึ้น ในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และร่วมสัมผัสประสบการณ์ที่ชื่นชอบ เช่นคอนเสิร์ตของ Swift

การศึกษาย้ำว่าในอดีต ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนถูกควบคุมโดยผู้หญิง แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากคู่สมรส ปัจจุบันผู้หญิงโสดสามารถเลือกใช้จ่ายได้อย่างอิสระตามความชอบของตัวเองมากขึ้น

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงยุคมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะทำงาน หารายได้โดยอิสระจากคู่สมรส ขณะเดียวกันก็ชะลอหรือละเลยการแต่งงาน/มีลูก รวมถึงมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้

นำไปสู่เสรีภาพทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้หญิงสามารถใช้จ่ายเงินอย่างพร้อมเปย์กับผลิตภัณฑ์/ศิลปินที่สอดคล้องกัน

ในอีกแง่ แม้โลกจะปรบมือให้เนื้อเพลงที่เข้าใจง่ายและเป็นสากลของ Taylor Swift แต่การศึกษาพบว่าความสัมพันธ์หลักของ Taylor Swift กับผู้หญิงที่อายุน้อยและมีอำนาจทางเศรษฐกิจได้ นั้นเพิ่มชื่อเสียงให้กับ Taylor Swift ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกระบอกเสียงว่า สาวเทย์คือตัวแทนของผู้หญิงที่มีความทะเยอทะยานในสังคมปิตาธิปไตย

ส่งให้เสน่ห์ดึงดูดใจของ Taylor Swift สามารถครอบคลุมถึงหลายเพศ/วัยด้วย

ที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์ “Swiftynomics” สะท้อนให้เห็นถึงความเต็มใจและความสามารถในการใช้ จ่ายเงินของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับค่านิยมส่วนบุคคลและการแสวงหาความสำเร็จ กลายเป็นบทสรุปที่มีความเป็นไปได้สูงว่า Taylor Swift น่าจะยังไม่สิ้นมนต์ขลังง่ายๆ และไม่ได้เข้าช่วงใกล้พีคหรือจุดอื่มตัวในเร็วๆ นี้

ที่มา : Business Insider, BBC, Time, Economist