สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) เตรียมจัดงาน Sasin Impact Entrepreneurship Week 2024 (SasinIEW) ระหว่างวันที่ 19-23 มิถุนายน 2567 โดยมีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ นักลงทุน ผู้กำหนดนโยบาย นิสิตนักศึกษา ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไป เนื้อหาหลักของงานมุ่งส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ นวัตกรรม การเปิดกว้าง ผลกระทบเชิงบวกจากภาคธุรกิจ และความยั่งยืน
กิจกรรมหลัก 3 อย่างในสัปดาห์ผู้ประกอบการ (SasinIEW) จะเปลี่ยนความมุ่งหมายให้กลายเป็นการลงมือทำจริง กิจกรรมที่หนึ่งคือการประชุม GCEC ครั้งแรกในทวีปเอเชียและยังเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นนอกทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ในหัวข้อ “New Frontier: Bangkok Summit 2024” ซึ่งสะท้อนแนวคิด “Inclusive Entrepreneurship Driving Impact” หรือการขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกทางสังคมและธุรกิจผ่านการเป็นผู้ประกอบการที่เปิดกว้าง อันที่จริงการประชุม GCEC หรือ Global Consortium of Entrepreneurship Centers มีความตั้งใจที่จะจัดงานที่ประเทศไทยมานานแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.เอียน เฟนวิค ผู้อำนวยการ ศศินทร์ กล่าวว่า “แน่นอนว่าทวีปเอเชียคือฐานของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ไม่ว่าอย่างไร GCEC ก็ต้องมาจัดประชุมที่เอเชียอย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์เอียนชี้ให้เห็นความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะศูนย์กลางผู้ประกอบการว่า “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เป็นบ่อเกิดของสิ่งใหม่และการเปลี่ยนแปลงมากมาย และผมมองว่าการเป็นผู้ประกอบการคือกลไกการเติบที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
กิจกรรมถัดมาคือการแข่งขัน Bangkok Business Challenge 2024 (BBC 2024) ซึ่งได้รับการสนับสนุบจาก SCG Chemicals (SCGC) เป็นการแข่งขันสตาร์ทอัพระดับนิสิตนักศึกษาของศศินทร์ที่ดำเนินการติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานที่สุดในเอเชีย BBC 2024 เริ่มต้นจากการแข่งขันภายในประเทศเมื่อปี 2002 ก่อนจะพัฒนาเป็นเวทีระดับโลกในปี 2008 แชมป์ปีล่าสุดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดน และสิงคโปร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชื่อเสียงระดับนานาชาติของงาน สอดคล้องกับจุดยืนอันเป็นรากฐานของศศินทร์ นั่นคือการสร้างผลกระทบเชิงบวกและการเปลี่ยนแปลง เกณฑ์การประเมินในการแข่งขันครั้งนี้ให้น้ำหนักกับความยั่งยืนและผลกระทบเชิงบวก 20 % “เราต้องปรับวิถีชีวิตของเรา เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ และเปลี่ยนวิธีคิด หากเรายังเดินในเส้นทางเดิม จะไม่มีอนาคตสำหรับลูกหลานของเรา เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงและต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่ทำเพื่อแค่การสร้างผลกำไรเท่านั้น แต่ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกด้วย ภาคธุรกิจต้องลงมือเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่จำเป็นนี้” ผู้อำนวยการศศินทร์กล่าว
กิจกรรมที่สามคือ Family Enterprise Case Competition – Asia Pacific 2024 (FECC-AP 2024) ศศินทร์ในตำแหน่งแชมป์โลกจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันนี้เป็นครั้งแรกในเอเชียเพื่อค้นหากลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มองปัญหากรณีธุรกิจครอบครัวระดับภูมิภาคได้ขาดและมีทักษะการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ที่เฉียบคมที่สุด ผู้ชนะจะผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายในเดือนมกราคมปีหน้าที่รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา
สำหรับวิสัยทัศน์ของสัปดาห์ผู้ประกอบการ (SasinIEW) นั้น มร.ลาร์ส สเวนสัน ผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนและส่งเสริมผู้ประกอบการแห่งศศินทร์ (Sasin Sustainability & Entrepreneurship Center) กล่าวว่ากิจกรรมครั้งนี้จะช่วยจุดประกายการหารือ การเจรจาระดับสากลผ่านกิจกรรมเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างครอบคลุม 3 กิจกรรม ได้แก่ BBC, FECC และ GCEC “นี่เป็นครั้งแรกที่เรานำกิจกรรมสามอย่างที่เชื่อมโยงกันมารวมไว้ด้วยกัน และจากความสนใจที่ล้นหลามและการตอบรับเชิงบวก เราตั้งใจที่จะพัฒนาให้สัปดาห์ผู้ประกอบการ (SasinIEW) เป็นกิจกรรมประจำปีที่ดึงดูดสถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน นิสิตนักศึกษา บรรษัทข้ามชาติและ SME สถาบันภาครัฐ สตาร์ทอัพ และองค์กรพัฒนาเอกชนมาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในวงกว้าง ยกระดับการอภิปราย วางรากฐานสำหรับเครือข่ายและการทำความรู้จักระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายภาคส่วน รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจต่อไปให้กว้างไกลกว่าสัปดาห์ผู้ประกอบการ (SasinIEW) และภูมิภาคของเรา”
นอกเหนือจากการหารือที่น่าสนใจแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและพันธมิตรยังมีโอกาสที่จะสร้างเครือข่ายอีกด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศศินทร์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กิจกรรมสัปดาห์ผู้ประกอบการนี้จะ “เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เจรจากันอย่างมีส่วนร่วมในวงกว้าง แลกเปลี่ยนแนวทางการบริหาร สนทนา อภิปราย และพบปะผู้คนใหม่ ๆ ไม่เพียงแค่ภายในกิจกรรมที่พวกเขาเข้าร่วมโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเยี่ยมชมกิจกรรมและเครือข่ายอื่น ๆ ในงาน โอกาสในการเชื่อมต่อนี้ไม่ว่าจะเป็นช่วงพัก มื้อเย็นที่ทุกคนรวมตัวกัน และเวิร์คช็อป เราคาดหวังว่าจะได้เห็นการเชื่อมต่ออย่างมีพลังในความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างระดับฝ่าย บุคคล องค์กร ภาคส่วน และภูมิภาค” และสิ่งที่ทำให้สัปดาห์ผู้ประกอบการ (SasinIEW)ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสกับเสน่ห์ของประเทศไทย “กรุงเทพฯ นับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก และประเทศไทยคือประตูสู่เอเชียตะวั้นออกเฉียงใต้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความประทับใจจากผู้คนที่พบปะพูดคุย ได้สัมผัสน้ำใจของชาวไทย การต้อนรับแบบไทย ๆ อาหารเลิศรส และเพิ่มพลังไปในตัว”
และเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของกรุงเทพฯ และศศินทร์ในฐานะศูนย์กลางความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการ มร.ดิเบียนดู โบส รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและการพัฒนาของศศินทร์ กล่าวชวนเชิญให้ “ผู้เข้าร่วมงานสัปดาห์ผู้ประกอบการ (Sasin IEW) ทุกท่านเข้าร่วมในการประชุมสุดยอด Hult Prize Global Summit ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมชมการแข่งขัน Hult Prize รอบชิงชนะเลิศในวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน ซึ่งนิสิตนักศึกษาและผู้ประกอบการด้านความยั่งยืนจากทั่วโลกจะมาแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และผู้เข้าร่วมชมการแข่งขัน Hult Prize จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน BBC Pitch และกิจกรรม GCEC อีกด้วย และนี่จะเปิดมิติใหม่ให้กับการสนทนา การพบปะ และการสร้างเครือข่าย”
กว่าสี่ทศวรรษที่ศศินทร์ได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งในฐานะสถาบันธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ในวันนี้ สัปดาห์ Impact Entrepreneurship Week คือรูปธรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของสถาบันที่ว่าผู้ประกอบการมีหน้าที่หลักในการปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินธุรกิจ สร้างความยั่งยืน และแก้ไขประเด็นทางสังคมเพื่อมุ่งสู่โลกที่เจริญรุ่งเรือง อย่าพลาดงาน สัปดาห์ผู้ประกอบการ (SasinIEW) ในเดือนมิถุนายนนี้เพื่อ “การสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมต่อ และเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น ฉลาดขึ้น และยั่งยืนขึ้น”
ศาสตราจารย์ ดร.เอียน เฟนวิค ผู้อำนวยการ ศศินทร์ กล่าวปิดท้ายด้วยการเชิญชวนผู้ที่สนใจทุกท่าน “หากคุณสนใจสตาร์ทอัพ ขอเชิญมาที่งาน Bangkok Business Challenge หากคุณชื่นชอบการแข่งขันเชิงกรณีศึกษาแก้ปัญหาธุรกิจ อย่าลืมมาเข้าร่วม Asian Family Enterprise Case Competition และหากคุณเป็นผู้ประกอบการหรือต้องการที่จะเป็น การประชุม GCEC จัดขึ้นเพื่อคุณ และเราหวังว่าจะมีคนมาร่วมกิจกรรมทั้ง 3 อย่างให้มากที่สุด”