เจาะกลยุทธ์ ‘ซูเปอร์สปอร์ต 3.0’ กับการปรับโฉมสาขาให้ล้ำขึ้น รับมือลูกค้ายุคข้อมูลแน่น 

หากมองธุรกิจค้าปลีกสินค้าเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา (Sport Retail) ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูง เฉพาะผู้เล่นหลักที่เป็นเชนก็มีประมาณ 4 รายใหญ่ ยังไม่รวมร้านของแบรนด์ โดยปัจจุบัน ซูเปอร์สปอร์ต (Supersports) ถือเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 25% 

ผู้บริโภคไม่ติดแบรนด์ ดันการซื้อซ้ำพุ่ง

นอกจากการแข่งขันจากรีเทลเลอร์ด้วยกันแล้ว ซูเปอร์สปอร์ต ยังต้องเจอการแข่งขันจากแบรนด์ที่เปิดช็อปโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ก็ทำให้รีเทลเลอร์ได้เปรียบกว่า โดย อเล็กซองต์ อัมเบล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เล่าว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความ ยึดติดกับแบรนด์น้อยลง เฉลี่ยแล้วผู้บริโภคจะซื้อสินค้ากีฬาอย่างน้อย 3 แบรนด์ เนื่องจากหลังการระบาดของโควิด ผู้บริโภคใช้ชีวิตยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการแต่งตัวแบบสบาย ๆ มากขึ้น ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งยิ่งส่งผลดีกับ รีเทลเลอร์ แบบซูเปอร์สปอร์ต

“อัตราการซื้อซ้ำในปัจจุบันอยู่ที่ 75% โดยสาเหตุที่มีการซื้อซ้ำสูงเป็นเพราะเราเป็นมัลติแบรนด์ รวบรวมทุกแบรนด์ในที่เดียวกัน และพฤติกรรมผู้บริโภคตอนนี้คือ ต้องการทดลองและเปรียบเทียบ เพื่อหาแบรนด์ที่ดีที่สุด หรือแบรนด์ที่ใช่ นี่จึงเป็นจุดแข็งของเรา ด้วยตัวเลือกที่หลากหลายทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำบ่อย”

อัปเกรดสาขา 3.0 เพราะผู้บริโภครู้ลึก

อีกเทรนด์ที่เห็นคือ ลูกค้าเริ่ม ซื้อสินค้าที่มีเลเวลสูงขึ้น เพราะลูกค้าต้องการสินค้าที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าของเดิมที่ใช้อยู่ หลังจากที่เริ่มฝึกหรือเล่นกีฬานั้น ๆ มาได้สักระยะ ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวเป็นในทุก ๆ กลุ่มกีฬา โดยผู้บริโภคจะเลือกสินค้าที่เหมาะกับตัวเองที่สุด ดังนั้น วิธีการเลือกสินค้าจะ เฉพาะเจาะจงมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ทำให้รู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับสินค้าที่สนใจ

ดังนั้น ในปีนี้ ซูเปอร์สปอร์ตได้วางงบลงทุนรวม 250 ล้านบาท รีโนเวตและเปิดสาขาใหม่ เพื่ออัปเกรดสาขาให้เป็น Supersports 3.0 โดยจัดพื้นที่ร้านตามประเภทกีฬา มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมแบบอินเตอร์แอคทีฟ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อาทิ Immersive Technology เทคโนโลยีเพื่อการช้อปที่แม่นยำ หารองเท้าวิ่งที่ใช่ที่สุดด้วยเครื่อง 3D Scan จากเซฟไซส์ (Safesize) โดยสามารถสแกนเท้าก็สามารถคำนวณและเลือกรองเท้าที่พอดี ด้วยระบบ AI โดยซูเปอร์สปอร์ตมีแผนจะเพิ่มเทคโนโลยี Safesize กว่า 20 สาขา ภายในปีนี้

อีกส่วนก็คือการพัฒนาเซอร์วิสและพนักงาน โดยซูเปอร์สปอร์ตแต่ละสาขาจะมี สปอร์ตกูรู และ Sports excellence ที่ได้รับการเทรนจากแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบคำถามหรือแนะนำลูกค้าได้ นอกจากนี้ ซูเปอร์สปอร์ตจะเพิ่มแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามา รวมถึงความหลากหลายของสินค้าตั้งแต่ ผู้เล่นระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับโปร และจัดพื้นที่ร้านตามประเภทกีฬา 

นอกจากนี้ยังเพิ่มแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริม โดยปีนี้ได้ Tottenham Hotspur (สโมสรทอตนัม ฮอตสเปอร์) เข้ามาจำหน่าย ปัจจุบัน ซูเปอร์สปอร์ตมีสินค้า 10 หมวดหมู่ ตามประเภทกีฬา รวมแบรนด์ในมือกว่า 100 แบรนด์ อาทิ Reebok, Columbia, Merrell และแบรนด์ LFC (สโมสรลิเวอร์พูล)

“เราก็พยายามหาแบรนด์ใหม่มาเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้มีแอเรียเฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและโอกาสในตลาดตอนนั้น ๆ มากกว่า”

กำลังศึกษาร้านสแตนด์อโลน

ปัจจุบัน ซูเปอร์สปอร์ตมี 92 สาขา ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ และมีช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 3% ของยอดขาย โดย อเล็กซองต์ ยอมรับว่าการเปิดสาขาค่อนข้างอิ่มตัว ดังนั้น จึงสามารถเปิดได้ประมาณ 1-2 สาขาต่อปี ทำให้แบรนด์จึงเน้นที่การรีโนเวต

โดยปีนี้ซูเปอร์สปอร์ตได้เปิดใหม่ 2 สาขา ได้แก่ นครสวรรค์ และนครปฐม ด้านการรีโนเวตปีนี้จะมีสาขาเซ็นทรัล ชิดลม, เมกาบางนา และเซ็นทรัล เวสต์เกต อย่างไรก็ตาม ทางซูเปอร์สปอร์ตกำลังศึกษาการเปิด สาขาสแตนด์ อโลน 

“เราไม่มีทิศทางว่าจะเปิดสาขาเยอะ แต่ต้องดูโลเคชั่นที่เหมาะสมจริง ๆ ดังนั้น จำนวนสาขาจะไม่หวือหวามาก ซึ่งการเปิดร้านสแตนด์อโลนถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่เราอยากศึกษาให้ชัดเจนก่อนว่ามันเป็นทิศทางที่ถูกต้องจริง ๆ” 

เศรษฐกิจไม่ดี แต่ตลาดยังโต

ปัจจุบัน ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อบิลอยู่ที่ 1,500 บาท แต่ถ้าเป็นสโตร์ตามหัวเมืองใหญ่หรือในกรุงเทพฯ ยอดใช้จ่ายจะเกิน 2,000 บาท ต่อคนต่อบิล และมีแนวโน้มจะเติบโต เนื่องจากผู้บริโภคในเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ มีกำลังซื้อที่ดีกว่า นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจาก นักท่องเที่ยว ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดนั้นเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน จำนวนสาขาในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่คิดเป็น 25% ของสาขาทั้งหมด แต่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 45% ต่างจังหวัดมีสัดส่วน 50%

สำหรับภาพรวมตลาดค้าปลีกอุปกรณ์กีฬามีมูลค่า 35,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเติบโต +6-7% โดยซูเปอร์สปอร์ตตั้งเป้าเติบโตเหนือตลาดที่ +9-10% มีรายได้ 10,000 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าตลาดยังสามารถเติบโตได้ เนื่องจากคนไทยหันมา ออกกำลังกาย เพื่อดูแลสุขภาพ อีกทั้งสังคมกำลังให้ความสนใจกับวงการกีฬามากขึ้น รวมถึงนักกีฬาไทยก้าวสู่การแข่งขันระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง ก็มีส่วนช่วยสร้างแรงบัลดาลใจให้คนหันมาเล่นกีฬา