จะดีแค่ไหน หากเราจะมีโปรแกรมดูแลรักษาสุขภาพที่สอดคล้องเหมาะสมกับตัวเราจริงๆ หรือหากเราเจ็บไข้ได้ป่วยโดยเฉพาะด้วยโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงที่รักษายาก ก็มียาและวิธีการรักษา “เฉพาะ” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเราเท่านั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจดูเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การแพทย์ในวันนี้สามารถมุ่งไปที่การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ส่งต่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจ และได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสใหม่ที่จะมาช่วยดูแลสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในอนาคต
เพราะแต่ละคนมีความต่าง การดูแลสุขภาพจึงต้องลงลึก
รศ.ดร. ธนพล วีราสา หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ (HBM) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ในอดีตแนวทางการดูแลสุขภาพหรือรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหรือเป็นโรคเดียวกันโดยมากมักมีวิธีการดูแลรักษาที่มีมาตรฐานเดียวกัน แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้เกิดแนวทางใหม่ที่เรียกว่า การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Healthcare and Personalized Medicine) ซึ่งสามารถทำการรักษาได้อย่างแม่นยำ ตรงจุด และให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตาและถูกคาดการณ์ว่าจะเข้ามาปฏิวัติวงการแพทย์ในอนาคต
การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะบุคคล คือ แนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาที่ออกแบบมาเฉพาะหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยนำข้อมูลพื้นฐานของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสุขภาพ ประวัติการรักษา สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการกินอยู่ การใช้ชีวิต รวมไปถึงข้อมูลระดับลึกอย่างข้อมูลทางพันธุกรรมมาใช้ในการตรวจคัดกรองความเสี่ยง ทำนายแนวโน้มการเกิดโรคตรวจวินิจฉัย วางแผนและกำหนดวิธีการรักษา เลือกใช้ยา รวมไปถึงแนะนำแนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาน้อยลง ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลง โอกาสหายขาดหรือรอดชีวิตเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในภาพรวม
3 ปัจจัยหลัก หนุน Personalized Healthcare โตเร็ว
รศ.ดร. ธนพล กล่าวว่า การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะบุคคลกำลังเป็นเทรนด์สำคัญในอุตสาหกรรมสุขภาพทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคตโดยมี 3 ปัจจัยหลักสนับสนุน ได้แก่
1) เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data & Analytics) จีโนมิกส์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การวินิจฉัยการรักษา และการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะบุคคลมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2) ประชากรสูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงสูง ส่งผลให้ความต้องการบริการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะบุคคลยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
3) ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญของวงการแพทย์ทั่วโลก ซึ่งการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะบุคคลจะช่วยทั้งในแง่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในแง่การวางแผนป้องกันการเกิดโรคได้อย่างชะงัดตัดปัญหาที่สาเหตุ
อิทธิพลของ Personalized Healthcare ต่อธุรกิจสุขภาพไทย
รศ.ดร. ธนพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าจับตาควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ คือ โอกาสทองของธุรกิจ Health & Wellness ไทย ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชันใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยคาดการณ์ว่าการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะบุคคลจะมีอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ Health & Wellness ไทยในอนาคต ดังนี้
1) เกิดบริการสุขภาพวิถีใหม่ ที่ Personalized ยิ่งกว่าเดิม โรงพยาบาล คลินิก และธุรกิจสุขภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการโดยมุ่งเน้นไปที่บริการตรวจหาความเสี่ยง ให้คำปรึกษา และดูแลรักษาสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น แพทย์จำเป็นต้องเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ การพิมพ์สามมิติทางการแพทย์ สเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด จีโนมิกส์ รวมทั้งข้อมูลทางพันธุกรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น โดยจะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ ตรวจหาความเสี่ยง วินิจฉัยโรค พัฒนายา วางแผนป้องกัน รักษา และผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เฉพาะบุคคล
2) ผู้บริโภคยุคใหม่ จะหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตนเอง (Self-Care) และจะมีบทบาทในการเลือกวิธีดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหาร เลือกการออกกำลังกาย เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งเลือกบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตนเองยิ่งขึ้น พร้อมที่จะจ่ายเงินสำหรับบริการสุขภาพที่ตอบโจทย์และมีลักษณะ personalized หรือกำหนดได้ด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น ตลอดจนนิยมใช้เทคโนโลยี เพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชันสุขภาพ แอปพลิเคชันด้านโภชนาการ อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Smart Devices & Wearables) เช่น Smartwatches เป็นต้น
3) Personal Healthcare ในอนาคต จะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันมากกว่าการรักษา ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสแจ้งเกิดของธุรกิจใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้ธุรกิจเดิมมีโอกาสขยายตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรค เช่น การตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม การตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ การตรวจหาความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง ธุรกิจให้คำปรึกษาและวางแผนสุขภาพ เช่น การให้คำปรึกษาทางโภชนาการ การให้คำปรึกษาด้านการออกกำลังกาย การให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม ธุรกิจเทคโนโลยีสุขภาพ เช่น อุปกรณ์ตรวจสุขภาพแบบสวมใส่ แอปพลิเคชันสุขภาพ ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ ธุรกิจโภชนาการและอาหารเสริม เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม โปรแกรมควบคุมอาหาร รวมถึงธุรกิจการออกกำลังกายและฟิตเนส เช่น โรงยิม ฟิตเนส อุปกรณ์ออกกำลังกายคอร์สออกกำลังกายออนไลน์
กล่าวได้ว่า Personal Healthcare ไม่เพียงเป็นโอกาสและความหวังให้กับระบบสุขภาพและการแพทย์ไทย แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ Health & Wellness โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการสามารถเข้าใจเทรนด์ Personal Healthcare ปรับตัวอย่างรวดเร็ว รู้จักพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะยิ่งเพิ่มโอกาสเติบโตของธุรกิจและประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
CMMU กับการนำทัพความเชี่ยวชาญตอบโจทย์อุตฯ Health & Wellness
รศ.ดร. ธนพล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้การดูแลสุขภาพและการรักษาเฉพาะบุคคลจะมีแนวโน้มเติบโตสูงทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่การเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ใหม่แบบมุ่งเน้นเฉพาะบุคคล รวมทั้งค่าใช้จ่ายและการใช้ข้อมูลส่วนตัวมาวินิจฉัยหรือทำนายการเกิดโรค ยังเป็นข้อจำกัดของคนทั่วไปในสังคมจำนวนมาก ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงเวลาแห่งการวางรากฐานและเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี นโยบายด้านระบบสุขภาพ การสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบเฉพาะบุคคลให้แก่ประชาชนในวงกว้าง
โดย CMMU ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านการจัดการระดับแถวหน้าของเมืองไทยและมีเครือข่ายด้านสุขภาพและการแพทย์ที่เข้มแข็งอย่างโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้ร่วมเตรียมการรองรับเทรนด์ดังกล่าวโดยการ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจด้านสุขภาพที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยได้มีการออกแบบหลักสูตรการจัดการธุรกิจสุขภาพ (Health Business Management: HBM) เพื่อพัฒนา ผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับสตาร์ทอัพ SMEs ผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรม Health & Wellness รวมถึงนักวิจัยหรือนักวิชาการที่มีความประสงค์จะดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมสุขภาพ โดยเป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมทุกด้านของการบริหารจัดการธุรกิจสุขภาพตั้งแต่
1. ปูพื้นฐานแนวคิดทางธุรกิจและมุมมองแบบองค์รวม ของอุตสาหกรรม Health & Wellness 2. สร้างความเข้าใจในภาพรวมของระบบการดูแลสุขภาพ บริบทและภาพรวมของธุรกิจสุขภาพในปัจจุบันและแนวโน้ม โอกาส ความเสี่ยง และความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 3.ให้ความรู้ทางด้านธุรกิจ Health & Wellness อย่างครบวงจร ทั้งในด้านการป้องกันและรักษา ทั้งด้านสุขภาพและความงาม รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง 4. เสริมสร้างทักษะการบริหารและการจัดการ โดยมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำในแวดวงธุรกิจสุขภาพมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคในการบริหารจัดการและบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ พร้อมพาผู้เรียนไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลและบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมสุขภาพเพื่อเรียนรู้จากพื้นที่จริง เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสู่อุตสาหกรรม Health & Wellness ของไทยต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจ ซีเอ็มเอ็มยู เปิดสอนหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต ครอบคลุมทุกด้านของการบริหารจัดการธุรกิจและการตลาด ทั้งหลักสูตรไทย หลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรออนไลน์ นานาชาติ โดยทุกหลักสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเพียง 5% ของโลกที่ได้รับการรับรองนี้ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์02-206-2000 หรือเพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL)