บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF องค์กรชั้นนำด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนในระดับภูมิภาค ผนึกกำลังร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะ ผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิทัลชั้นนำของไทย พร้อมด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงบริการโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ชูการนำจุดแข็งของทั้ง 2 องค์กรภาคเอกชน และการผสานกำลังกับภาครัฐอย่าง สวพส. ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงของประเทศ มาร่วมกันส่งมอบพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แก่ชุมชน พร้อมติดตั้งสถานีฐานโดยใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลสำหรับชุมชน
ผ่านโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย นำร่อง 2 พื้นที่ห่างไกล ชุมชนบ้านดอกไม้สด และ ชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พร้อมตั้งเป้าการทำงานร่วมกันมุ่งขยายผลโครงการต่อเนื่องในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS อธิบายต่อไปอีกว่า “จากความมุ่งมั่นในการก้าวสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา AIS เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความแข็งแรง มีความพร้อมมากพอที่จะเชื่อมต่อการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบร่วมกัน (Ecosystem Economy) เพราะเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าระบบสื่อสารโครงข่ายดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้คนให้เข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดการใช้ชีวิตเพื่อสร้างคุณค่าหลากหลายด้านได้อย่างมากมายภายใต้การเปลี่ยนแปลง
การทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เราทลายข้อจำกัดในการขยายโครงข่ายให้ครอบ คลุมการใช้งาน เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐ ด้วยโครงข่ายดิจิทัลจากโครงการนี้ โดย AIS และพาร์ทเนอร์จะมีการทำงานและติดตามความเปลี่ยน แปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริงและยั่งยืน ดังเช่น ชุมชนมอโก้โพคี หนึ่งในหลายชุมชนที่ได้เข้าถึงระบบไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์และระบบสื่อสารดิจิทัลของโครงการนี้ จะมีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟและการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น ตามเป้าหมายของผู้นำชุมชนที่ได้รวมกลุ่มคนในชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกไร่ข้าวโพดมาปลูกเมล็ดกาแฟ โดยหวังให้เมล็ดกาแฟของชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดที่กว้างขวางขึ้น อันจะสร้างรายได้สู่คนในชุมชนได้อย่างมั่นคง”
นางสาวธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากการที่ GULF และ GULF1 บริษัทในเครือ นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยน้ำไซ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา และบ้านดอกไม้สด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก รวมถึงมีทีมวิศวกรจาก GULF1 ให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาและวิธีการใช้งานชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์แก่ชุมชน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบโซลาร์ได้อย่างยั่งยืน เมื่อได้ลงพื้นที่จริง และพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหาในการสื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่ จึงเล็งเห็นการต่อยอดโครงการโดยการชักชวนพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง AIS เพื่อผนึกกำลังขยายสัญญาณสื่อสาร มอบโอกาสในการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข รวมถึงสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของ GULF ในการขับเคลื่อนให้สังคมมุ่งสู่อนาคตคาร์บอนต่ำผ่านการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย
ในปีนี้ ทาง GULF ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ดอยมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผีปานเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สำหรับพื้นที่ดอยมอโก้โพคีนั้น เดิมชาวบ้านมอโก้โพคีประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ทำให้มีการทำลายป่าเป็นวงกว้าง และยังทำลายสุขภาพผู้ปลูกเนื่องจากการใช้สารเคมี นอกจากนั้น การเผาในฤดูเก็บเกี่ยวยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย ซึ่งทาง GULF ได้ร่วมมือกับผู้นำชุมชนสานต่องานรักษาผืนป่าและพัฒนาอาชีพในการปลูกกาแฟให้กับคนในชุมชน GULF จึงได้เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน และในอนาคตชุมชนจะพัฒนาไปสู่การแปรรูปกาแฟด้วยตนเอง นับว่าเป็นช่องทางการสร้างอาชีพและการรักษาป่าควบคู่กันอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ GULF ยังนำชาวบ้านจากดอยมอโก้โพคี ไปเรียนรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนแห่งนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้อย่างเป็นอย่างดี”
นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ภารกิจสำคัญของ สวพส. คือ การนำความรู้ของโครงการหลวงไปพัฒนาให้ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศมีความอยู่ดีมีสุข สามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พึ่งพาตัวเองได้ นอกจากนี้ สวพส. ยังช่วยให้ชุมชนบนพื้นที่สูง เข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการ Green Energy Green Network for THAIs ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ GULF และ AIS ในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนบนพื้นที่สูงสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการสื่อสาร และยังสามารถต่อยอดการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ หรือแม้กระทั่งการตลาด เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างประโยชน์ทั้งชุมชน เศรษฐกิจ และยังเป็นการดูแลรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนด้วย”
นายสมชัยกล่าวในช่วงท้ายว่า “เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย จะเป็นต้นแบบสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการนำศักยภาพขององค์กรมาสร้างประโยชน์ที่จะช่วยดูแลด้านสิทธิมนุษยชน แก้ปัญหาทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ และบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จะนำมาสู่การเติบโตร่วมกันของผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”