นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างตั้งตารอผลการประชุมครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System) ในวันที่ 13 มิถุนายน (13.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ต่างก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมภายในประเทศเช่นกัน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะทบทวนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในวันที่ 12 มิถุนายนนี้
ในระยะข้างหน้า การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ ธปท. คงไม่แตกต่างกันมากนัก ในขณะที่นักเศรษฐ ศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับลดลง แต่ในกรณีของไทย อาจมีความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปได้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ลงร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา
สำหรับสิงคโปร์ การดำเนินนโยบายการเงินต่างออกไป เนื่องจากใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยผูกค่าเงินกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกันระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก
เมื่อมองย้อนไปในอดีต การทำนโยบายการเงินที่สวนทางกันระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ กับธนาคารกลางในภูมิภาคนี้ เกิดขึ้นน้อยครั้ง เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการไหลออกของเงินทุนในช่วงวิกฤตการเงินเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การว่างงานปรับเพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินอ่อนค่าอย่างหนักและต่อเนื่อง
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งจำเป็นเพราะโดยทั่วไปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินสกุลที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน ดังนั้น เพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงจำ เป็นต้องให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนที่สูงกว่า
อนึ่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลพวงหนึ่งของวิกฤตโควิดคืออัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564ทำให้ธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นต่ำกว่ามาก เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความรุนแรงน้อยกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนจึงสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำกว่า
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 สู่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 5.5 และทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ ธปท. อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศมาเลเซียทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3 ปรับเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 1.25 อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.25 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75
ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6.5 อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ยังต่ำกว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ปัจจุบัน อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียมีความเป็นอิสระด้านนโยบายการเงินมากขึ้น เนื่องจากเสถียรภาพภาคต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศ และการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากกว่าในช่วงก่อนหน้านี้มาก ทั้งสี่ประเทศนี้เคยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระหว่างร้อยละ 3.4 ถึงร้อยละ 7.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2539 ก่อนเกิดวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540 อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ทั้งสี่ประเทศมีสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมมาก
ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 1 ของจีดีพีในปี 2565 และขาดดุลเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.1 ของจีดีพีในปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ในณะที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 1.4 ของจีดีพีในปี 2566 หลังจากขาดดุลติดต่อกันเป็นเวลาสองปีนับตั้งแต่ปี 2563
มาเลเซียมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด โดยการเกินดุลปรับลดลงจากร้อยละ 3.1 ของจีดีพีในปี 2565 เหลือร้อยละ 1.2 ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ธนาคารยูโอบีประเมินว่า การเกินดุลจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 ในปีนี้
ในกรณีของฟิลิปปินส์มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงอย่างมาก จากร้อยละ 4.4 ของจีดีพีในปี 2565 เหลือเพียงร้อยละ 1.3 ในปีที่แล้ว
เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ อาทิ การเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขัน การควบคุมดูแลภาคการเงินที่ดีขึ้น และการพัฒนาให้ตลาดทุนมีความโปร่งใสและมีสภาพคล่องมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป โดยเมื่อเร็วๆ นี้ อินโดนีเซียได้เริ่มใช้ความพยายามในการพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ประเทศไทยได้ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านวีซ่าเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกบริการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
เมื่อทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลง เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้เร็วกว่าหรือมากกว่าได้ ด้วยเสถียรภาพทางการเงินที่ดีขึ้น ทำให้มีความยืดหยุ่นในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศของตน โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินตามธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
ปัจจุบัน นโยบายการเงินของธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ค่อนข้างเป็นกลางหรือค่อนข้างผ่อนคลาย โดยเมื่อพิจารณาจากคำแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุด การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ และสกุลเงินเปโซของฟิลิปปินส์ ก็ถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีความยืดหยุ่นมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน
ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ น่าจะช่วยเอื้อให้ ธปท. สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจแข่งแกร่งขึ้นได้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 12 มิถุนายนนี้
ส่วนมาเลเซีย แม้ว่าการส่งออกจะเติบโตของชะลอลง แต่อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ และความจำเป็นที่จะใช้การกระตุ้นจากนโยบายการเงินมีไม่มาก
ขณะที่อินโดนีเซียน่าจะเป็นประเทศที่ใช้ความระมัดระวังมากที่สุดในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ราคาสินค้านำเข้าจะสูงขึ้น นอกจากนี้ แม้ว่าสถานะด้านต่างประเทศมั่นคงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจจะมีความระมัดระวังในการรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดเงินทุนให้ไหลกลับเข้าประเทศ
สิงคโปร์แม้จะไม่ได้ดำเนินการผ่านกลไกอัตราดอกเบี้ยโดยตรง แต่ผ่านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ก็สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากโมเมนตัมการเติบโตกำลังชะลอตัวลง
ไม่ว่าธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะมีนโยบายอย่างไร ประเทศเหล่านี้มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และธนาคารกลางสหรัฐฯ ในฐานะผู้กำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลก มีอิทธิพลต่อทิศทางของนโยบายการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง