เคยไหม?…รู้สึกเหนื่อยล้า เครียด หมดแรง พักแล้วก็ไม่หายเหนื่อย พลังชีวิตหดหาย รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่ตื่นเต้นท้าท้าย หรือมีความรู้สึกเชิงลบกับงานที่ทำ จนมาถึงจุดที่แย่ที่สุดคือรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความสำคัญต่องานที่ทำ จนกระทบต่อประสิทธิภาพของงานที่ลดลง
หากคุณเริ่มมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ ‘Burnout syndrome’ หรือ ภาวะหมดไฟจากการทำงาน อาการที่คนทำงานทั่วทุกมุมโลกต่างกำลังเผชิญและดูเหมือนตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้น โดยจากรายงานแนวโน้มความสามารถระดับโลกปี 2024 (2024 Global Talent Trends) โดย Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก พบว่า มากกว่า 8 ใน 10 ของพนักงานทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะหมดไฟ โดย 43%ระบุว่าเกิดจากความตึงเครียดทางการเงิน 40% ระบุว่าเกิดจากความเหนื่อยล้า และ 37% ระบุว่าต้องเผชิญกับภาระงานที่มากเกินไป
ตัดภาพมาที่ประเทศไทย จากข้อมูลของ สสส. ปี 2566 พบว่า คนวัยทำงานใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน และจากข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟในการทำงาน และจากข้อมูลของสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ปี 2566 พบว่า วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานมากถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สายและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น
ด้วยตัวเลขคนทำงานที่สะท้อนถึงภาวะของการหมดไฟเพิ่มมากขึ้นในยุคดิจิทัลนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือ อะไรคือสาเหตุของอาการเหล่านี้ และทางออกจะต้องเริ่มจากตรงไหน ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
4 สาเหตุใหญ่…ทำคนทำงานหมดไฟในยุคดิจิทัล
จากการเปิดเวทีชวนผู้เชี่ยวชาญ คนทำงาน และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังมาร่วมหารือ ถกถึงปัญหาในเรื่องนี้ ผ่านหลายๆ เวทีของ ETDA ไม่ว่าจะเป็น ETDA Live หรือ Big Event อย่าง DGT2024 ที่เพิ่งจบไป ได้เห็นประเด็นของสาเหตุในเรื่องนี้ร่วมกัน จนสามารถสรุปได้ว่า 4 สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้คนทำงานหมดไฟไวมากขึ้นในยุคนี้ สาเหตุแรก คือรายได้ที่ไม่สอดรับกับภาระงานที่ได้รับ ที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับคนทำงาน เพราะในปัจจุบันสัดส่วนภาระงานต่อคนทำงานหนึ่งคนมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันรายได้ที่ได้รับกลับไม่ได้มากเพียงพอ เมื่อเทียบกับปริมาณงานและค่าครองชีพในปัจจุบัน จึงทำให้คนทำงานเริ่มตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าสำหรับรายได้ที่ได้รับกับการลงแรงทำงานที่เสียไป จนทำให้เกิดความเฉยชาต่องานมากขึ้น สาเหตุถัดมาก็คือการทำงานภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด ส่งผลให้เกิดความกดดันและความเครียดมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุต่อเนื่องมาจากภาระงานต่อคนที่มีมากขึ้น ทำให้คนทำงานต้องบริหารจัดการงานให้เสร็จได้ทันตามกำหนดเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด จนเกิดความเครียด กดดัน และกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ไม่สามารถจัดการงานให้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด ขณะที่งานใหม่ก็เข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ จนทำให้ภาวะความเครียดสะสมมากขึ้นตามมา สาเหตุที่ 3 คือ สภาวะความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล (Digital Fatigue) ที่เกิดจากการทำงาน ติดต่อสื่อสาร เปิดรับข้อมูลข่าวสารต่างๆรวมถึงประชุมทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลติดต่อกันเป็นเวลายาวนานมากๆ โดยไม่เว้นแม้แต่ตอนพัก หรือช่วงที่ใช้ชีวิตส่วนตัว จนทำให้เกิดภาวะความเหนื่อยล้าทางร่างกาย ลุกลามไปถึงทางจิตใจที่ไม่สามารถแยกชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานออกจากกันได้ จนทำให้เกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว จนนำมาสู่ภาวะหมดไฟในที่สุดและสาเหตุสุดท้ายคือการเปรียบเทียบชีวิตตนเองกับผู้อื่นที่อยู่บนโลกโซเชียล เพราะการมองเห็นชีวิตของคนอื่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันผ่านโลกโซเชียล ทั้งคนใกล้ตัว หรือคนมีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จ อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับตัวเองจนทำให้รู้สึกเครียด และกดดันว่าทำไมตัวเองถึงทำไม่ได้เท่าเขา มีไม่เท่าเขา จนเกิดความรู้สึกไม่ภูมิใจในตนเอง อีกทั้งคนในโซเชียลมีเดียก็ยังนิยมสร้างคอนเทนต์โชว์ความสำเร็จ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เราเห็นความสำเร็จของชีวิตคนอื่นมากขึ้น ตัวเองก็ยิ่งกดดันมากขึ้น จนบางครั้งเราอาจจะลืมนึกไปว่า ชีวิตอีกด้านหลังโลกโซเชียลของคนเหล่านั้น ก็อาจจะเครียดไม่ต่างไปกับเราก็ได้
‘ตั้งเป้า – วางแผน – ปรับพฤติกรรม’ สิ่งที่ต้องรีบทำก่อน “ไฟทำงาน” จะมอดดับ
เมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานแล้ว วิธีที่จะตั้งรับก่อนภาวะนี้จะเกิด จึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะหากเราสามารถบริหารจัดการตนเองกับการทำงานได้อย่างลงตัว ก็อาจทำให้ชีวิตการทำงานมีความสุขมากขึ้นได้ จากการถอดบทเรียนในหลายๆ เวที ของ ETDA พบว่า ข้อแนะนำสำคัญที่อยากจะให้คนทำงานลองนำไปปรับใช้ คือ ‘การตั้งเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจน’ ไม่ได้หมายถึงเป้าหมายเพื่อให้งานเสร็จ หรือเป้าหมายที่เป็นนามธรรมอย่างเช่น ความภูมิใจกับงาน แต่เป็นการตั้งเป้าหมายที่มีขอบเขตที่ชัด และวัดผลได้จริง เช่นเป้าหมายเพื่อตำแหน่งงานที่สูงขึ้น, เป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางการเงิน เงินเดือน โบนัส โดยมีเป้าเป็นจำนวนเงินที่คาดหวังหรือที่รับได้หากไม่เป็นดั่งหวัง หรือถ้าเป้าหมายอยู่ในระยะยาวเกินไป อาจจะลองปรับเป็นเป้าหมายระยะสั้น เช่น ทำงานเพื่อนำเงินไปใช้ในสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง การยึดโยงการทำงานกับเป้าหมายบางอย่างเช่นนี้ จะทำให้เราสนใจที่เป้าหมายของการทำงาน มากกว่าความเครียดความกดดันที่เข้ามากระทบจิตใจระหว่างทำงาน
หลังจากตั้งเป้าหมายการทำงานได้แล้ว ลองมาสำรวจดูว่าด้วยภาระงานที่มีมาก ‘เราวางแผนการทำงานได้อย่างดีเพียงพอแล้วหรือยัง’ หลายครั้งที่คนทำงานเลือกที่จะทำงานไปก่อน โดยไม่ได้จัดลำดับความสำคัญการทำงานให้ดี จนกระทบต่อคุณภาพของงาน แต่ยังกระทบกับทีมด้วย เช่นงานที่เรากำลังเร่งทำอาจจะเป็นงานที่ทีมไม่ได้โฟกัส จนกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะโดยทั่วไปแล้วงานในแต่ละวัน ถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ งานสำคัญและเร่งด่วน, งานสำคัญที่ไม่เร่งด่วน, งานไม่สำคัญแต่งเร่งด่วน และงานที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน ซึ่งมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป และเราไม่จำเป็นต้องทำงานนั้นทั้งหมด เช่น งานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน เป็นงานประเภทที่สามารถหาผู้ช่วยมาทำงานตรงนี้แทนได้ อาจจะหาคนทำงาน หรือลองใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยจัดการงานแทน อย่างการใช้เครื่องมือ AI assistant ที่เหมาะสมมาช่วยทำงานแทน และเอาเวลา ความคิดไปโฟกัสกับงานที่สำคัญ และเร่งด่วนซึ่งเป็นงานหลัก หากคนทำงานลองปรับใช้การวางแผนการทำงานเช่นนี้ อาจจะทำให้ความเครียดจากภาระงานที่มีเบาบางลง ไฟในการทำงานก็จะกลับมามีมากขึ้นได้
เมื่อวางแผนการทำงานได้แล้ว ประเด็นสำคัญต่อมาที่ต้องคำนึงถึงคือ “สภาพแวดล้อมเอื้อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่” โดยต้องพิจารณาตั้งแต่ความเป็นไปได้ที่จะเติบโตในองค์กรตามเป้าหมายที่วางไว้, เจ้านาย และหัวหน้างานที่เข้ากันกับการทำงานของตัวผู้ทำงานเอง รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่ไม่ก่อภาวะเป็นพิษ (Toxic) ในที่ทำงาน องค์ประกอบเหล่านี้มีส่วนก่อกระตุ้นให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าคนทำงานอาจจะไม่สามารถเลือกที่ทำงานที่มีแต่ข้อดีทั้งหมดได้ หากแต่พิจารณาแล้วว่าสภาพแวดล้อมการทำงานตามเกณฑ์ข้างต้นมีแนวโน้มไม่ดี ก็อาจจะต้องพิจารณาว่าสถานที่ทำงานนี้ยังเหมาะกับเราอยู่หรือไม่ หรือควรหางานที่เหมาะสมกว่านี้
ประการสุดท้ายที่คนทำงานต้องเปลี่ยน และปรับให้ภาวะความเครียดลดลงก็คือ “ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิตบ้าง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูล ข่าวสาร หรือการติดตามชีวิตอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดีย ที่ส่งผลกระทบให้เบียดบังเวลาที่จะใช้โฟกัสไปกับการทำงาน มาเสียกับสิ่งเหล่านี้ไปโดยไม่จำเป็น อีกทั้งเรื่องราว ข่าวสารที่ได้รับโดยไม่จำเป็นก็ยังไม่นับรวมกับการเสพสื่อโซเชียล ติตตามชีวิตอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จจนทำให้รู้สึกกดดันตนเองมากขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้อาจจะทำให้เกิดภาวะทางอารมณ์ที่กระทบต่อจิตใจ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และเมื่องานมีปัญหา ความเครียดและความกดดันจะตามมาในที่สุด ดังนั้น คนทำงานควรปรับพฤติกรรม ติดตามข่าวสารโซเชียลแต่พอประมาณ เว้นที่ว่างให้กับจิตใจ เพื่อให้เกิดโฟกัสกับการทำงานให้มากที่สุดจะเป็นผลดีมากกว่า
เมื่อโลกการทำงานเปลี่ยนไป โดยมีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น “คนทำงาน” ก็ควรต้องปรับตาม ทั้งปรับแนวคิด รูปแบบการทำงาน และพฤติกรรม เพื่อที่จะสามารถทำงาน และใช้ชีวิตร่วมกับเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดภาวะเครียด ผลที่ตามมาก็คือความสุข และความสำเร็จจากการทำงานที่จะมีมากขึ้นเช่นเดียวกัน และหากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจแง่มุมการทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถติดตามสารข่าวสารที่จะช่วยทำให้ “ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล” ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดียกับ ETDA Thailand