เราอาจเห็นการสร้างแบรนด์ หรือสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ในยุคนี้มากมาย ทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ขึ้นกับหลายๆ ปัจจัย วันนี้มีหนึ่งเคสที่น่าสนใจและพร้อมมาแชร์ประสบการณ์จริงจากแม่ค้าขายของออนไลน์ที่เริ่มต้นจากมุมเล็กๆ ในบ้านสู่การสร้างแบรนด์ มาเจาะลึกธุรกิจสาวพลัสไซส์ นิว-นริศตา กรภัสร์วานิชย์ เจ้าของแบรนด์ Tinybity เสื้อผ้าสาวพลัสไซส์ หรือ“กางเกงอดทน” ที่สาวพลัสไซส์ต้องมีติดตู้เสื้อผ้าประจำบ้าน
แน่นอนว่ากว่าจะสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าความขยันและความอดทนของคุณนิวที่มีสเต็ปการเติบโตจากการไม่หยุดพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้และการลงมือทำ สู่แม่ค้าไลฟ์สดขายเสื้อผ้าสาวพลัสไซส์ใน TikTok Shop จนมาสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเองด้วยตัวเลขการเติบโตที่ 6 หลัก โดยเน้นช่องทางการขายผ่านไลฟ์สด 99%
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นก่อนเข้าวงการไลฟ์
คุณนิว: ก่อนหน้านิวเปิดบริษัทฯ ธุรกิจซับคอนแทรค รับงานซ่อมสีให้กับศูนย์บริการรถยนต์ จนเกิดเหตุการณ์ที่บริษัทขาดทุน ไปต่อไม่ไหว ก็เลยต้องจบกิจการตอนนั้น ประจวบกับเห็นคนไลฟ์ขายของใน TikTok Shop เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงแรก ๆ ที่คนฮิตมาขายของในแพลตฟอร์ม และมีเพื่อนคนหนึ่งที่ตัวจริงพูดไม่เก่งเลย แต่สามารถสร้างยอดขายได้เยอะมาก จึงเกิดแรงบันดาลใจหากเพื่อนคนนี้ทำได้เราก็ต้องทำได้ และเราเป็นคนชอบขายของเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยตัดสินใจไปประตูน้ำด้วยทุนก้อนแรก 950 บาท หาเสื้อผ้า oversize มาขายจำนวน 10 ตัว
อาศัยความใจกล้าเดินหน้าไลฟ์สดครั้งแรกที่มุมแคบ ๆ ของบ้าน
คุณนิว: นิวจำได้ว่าใช้ราวตากผ้าเก่าที่มีอยู่แล้วและใช้พื้นที่มุมห้องในบ้าน กดปุ่มไลฟ์สดขายของครั้งแรกใน TikTok Shop มีคนดูแค่ 5-6 คนแล้วก็ขายไม่ได้เลย ตั้งหน้าตั้งตาไลฟ์ไปหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ แต่ก็ไม่ท้อนะ คิดแค่ว่าคนอื่นทำได้เราเองก็ต้องทำได้
“วันที่สองก็เริ่มไลฟ์ใหม่อีกครั้งปิดยอดขายที่ 2 ตัว (หัวเราะ) มาต่อวันที่สามก็มีพี่ๆ ที่รู้จักเข้ามาช่วยอุดหนุน จาก 10 ตัวก็เหลืออยู่สองตัวสุดท้ายก็เลยให้แม่เข้ามากดซื้อ เพราะอยากมีความรู้สึกขายหมดร้านสร้างพลังบวกให้ตัวเอง (ยิ้ม) พอขายหมดก็คิดขายต่อเลยถ้าเรามีเยอะและเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้าอีกหน่อยก็น่าจะขายหมดและจะต้องมีคนดูเยอะกว่านี้ ก็เลยไปซื้อเสื้อที่ประตูน้ำมาอีก 50 ตัว ขยายจากที่ยืนอยู่มุมแคบ ๆ ก็ไปใช้ห้องนอนที่ไม่ได้ใช้มาเป็นห้องไลฟ์ โดยซื้อตะแกรงซี่มาขึงด้านหลังเป็นฉากแล้วเอาเสื้อที่ซื้อมาแขวนโชว์ไว้ให้ลูกค้าเห็น ซื้อไฟวงใหญ่มาเสริมความโปรในการไลฟ์ด้วย”
“นิวเริ่มไปส่องการไลฟ์ร้านดังๆ เห็นฉากไลฟ์สดของเค้า ก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราจะมาไลฟ์ฉากแบบนี้ไม่ได้แล้ว ก็เลยเริ่มทำฉากไลฟ์สดต่อในแบบของเราที่ไม่ต้องจ้างหรือเริ่มจากอะไรแพงๆ ก็ให้แฟนทำฉากให้โดยไปซื้อไม้มาทำกันเอง ตกแต่งกันเองเพื่อให้ร้านเราแตกต่างจากร้านที่ขายเสื้อแบบเดียวกับเราซึ่งมี 20-30 เจ้าตอนนั้น แต่เราสามารถเอาลูกค้าอยู่ในไลฟ์ร้านเราได้ โดยพยายามโชว์ให้เห็นว่ากางเกงของเรามีคุณภาพ โชว์ใส่กางเกงที่กางขาแบบสุด โชว์ความแข็งแรงของกางเกงในหลายๆ ท่า ซึ่งลูกค้าก็ชอบ รู้สึกสนุกไปกับเรา”
“ลูกค้าเข้ามาก็รู้สึกว่าเราไม่เหมือนร้านอื่น ไม่ได้มาดูเราขายของอย่างเดียว แต่ฟีลแบบมาหาเพื่อน มาฟังเพื่อนเล่าเรื่องและทำอะไรสนุกๆ ให้ดู บวกกับการที่ร้านดูโปรมากขึ้น มีฉากสวยๆ มีป้ายไฟชื่อร้าน ก็ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อเราบ่อยๆ”
สร้างโอกาสให้ชุมชนและคนวัยเกษียณ
คุณนิว: ที่แบรนด์เราเลือกเสื้อผ้าสาวพลัสไซส์นั้น เพราะเรามองเห็นโอกาสว่าเสื้อผ้าแนวนี้สามารถไส่ได้ทุกสรีระ ไม่ว่าจะอ้วนหรือผอม เราเลยเริ่มจริงจังกับการผลิตกางเกงเอง จากตอนแรกที่รับสินค้าจากประตูน้ำมาขายในไซส์ปกติ แต่ก็เจอปัญหาที่สินค้าไม่มีให้เราอย่างต่อเนื่อง
“ส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบรอ เมื่อไม่อยากรอก็ต้องลงมือผลิตเอง นำมาสู่การหาช่างเย็บผ้าแถวบ้าน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงใช้ช่างแถวบ้านในการตัดเย็บทุกชิ้น ถือเป็นการสร้างโอกาส สร้างงานให้คนในชุมชนให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่เกษียณจากงานประจำ และอดีตหัวหน้าช่างเย็บผ้าโรงงานอุตสาหกรรมฝีมือดี โดยทุกคนได้ทำงานที่บ้านของตัวเองไม่ต้องห่างไกลครอบครัว สร้างความภาคภูมิใจให้นิวมากๆ เรามีส่วนสร้างรายได้ให้เค้า ช่างบางคนมีเงินซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน คือทำให้เค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นมากๆ แม้จะอายุเยอะแล้วประมาณ 60-80 ปีแต่ก็สามารถมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองที่มั่นคง และเลี้ยงดูคนในครอบครัวอีกด้วย”
“ช่างคนแรกของนิวเป็นคุณป้าอายุ 70 กว่า เป็นคนทำแพทเทิร์นให้ ผลตอบรับดีทำให้เริ่มผลิดไม่ไหว นิวก็เลยหาช่างเพิ่มและเน้นพื้นที่ใกล้บ้าน โดยกำหนดคุณภาพอย่างชัดเจน เช่น QC รอบแรกจากช่างแล้วก็ยังต้องผ่าน QC จากคุณแม่ของนิวด้วยทุกตัว ทั้งเช็คตะเข็บการเย็บ เป้ากางเกงต้องตรง ยางยืดตรงเอว ดีเทลกระเป๋าทั้งสองข้าง ฯลฯ เพื่อมันใจว่าสินค้าที่ออกไปต้องดีที่สุด เพราะเราขายลูกค้าพลัสไซส์ดังนั้นงานเย็บเราต้องดีจริงๆ ไม่อย่างนั้นไม่เกิดการซื้อซ้ำแน่นอน”
กลยุทธ์การปั้นแบรนด์และเลือกขายใน TikTok Shop แพลตฟอร์มเดียว
คุณนิว: เหตุที่เลือก TikTok Shop เป็นช่องทางเดียวในการขายสินค้าของแบรนด์เพราะว่า นิวเริ่มต้นเข้ามาตอน TikTok Shop เปิดใหม่ๆ เปิดประสบการณ์ไลฟ์ครั้งแรกก็แพลตฟอร์มนี้ รู้สึกว่าง่าย ครบ จบ ในแพลตฟอร์มเดียว เราโตมากับมันและสร้างการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเรามากที่สุด ก็ไม่อยากไปแพลตฟอร์มอื่น อยากโฟกัสที่นี่อยากทำให้ดีที่สุด และอีกอย่างคือชอบ vibes ของแพลตฟอร์มที่มีชีวิตชีวา
“นิวชอบคุณภาพของการไลฟ์ทั้งภาพ แสง สี เสียง ต่อให้ใช้แค่มือถือธรรมดาก็ยังคมชัด มีระบบซัพพอร์ตหลังบ้านที่ดีตอบโจทย์ ทำงานง่าย สามารถเช็คอะไรได้หลายๆ อย่างจาก Dashboard ระหว่างไลฟ์และหลังไลฟ์ เช่น ช่วงอายุของคนที่เข้ามาดูไลฟ์ คนที่คลิกเข้ามาดูแล้วซื้อและไม่ซื้อ ฯลฯ ทำให้เราสามารถเอาไปปรับปรุงในไลฟ์ครั้งหน้าต่อไปได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับนิวมากๆ”
“เครื่องมือและโซลูชันของ TikTok Studio ช่วยเสริมประสิทธิภาพการไลฟ์ให้ดูมืออาชีพแบบสุด แม้จะทำกันแค่สองคนก็ไม่ใช่ปัญหา อีกจุดที่นิวทำคือแคปรีวิวลูกค้าพลัสไซส์ตัวจริงมาใส่ Stream Deck ที่เป็นอุปกรณ์ช่วยในการไลฟ์สตรีมซ้อนเข้าไปกับระบบ OBS โชว์รีวิวง่ายๆด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีทีมงานเยอะ และการขึ้นโชว์รีวิวจริงในไลฟ์ก็ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นด้วย”
เริ่มตระหนักถึงการไลฟ์แบบเฮลตี้แต่มีคุณภาพมากขึ้น
คุณนิว: ช่วงแรกๆ ยอมรับว่าไลฟ์หนักเพราะไม่มีฐานลูกค้าเลย ทุ่มเทมาก มีตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ “Sold out” เลยไลฟ์ต่อเนื่องหลายชั่วโมง จนมีฐานลูกค้าระดับนึง ก็เริ่มปรับตารางชีวิตให้ไลฟ์อย่างเฮลตี้ขึ้นเหลือวันละ 1-2 ชั่วโมงช่วงเช้ากับช่วงดึก ตามฐานข้อมูลวิเคราะห์ลูกค้าว่านี่คือช่วง Primetime ของร้านเรา โดยเราก็ตั้งเป้ายอดขายในไลฟ์แบบไม่กดดันแต่มีเป้าหมายเพื่อให้ลงมือทำ กระตุ้นการสั่งซื้อด้วยการทำโปรโมชั่น FLASH DEAL หรือ FLASH SALE เฉพาะในไลฟ์ช่วงเวลาสั้นๆ ตามพฤติกรรมลูกค้าใน TikTok Shop
ผลตอบรับและฟีดแบคที่ดีจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
คุณนิว: เชื่อไม๊ว่าลูกค้าบางคนมีกางเกงเราเป็นร้อยตัว ห้าสิบตัวก็มี ลูกค้าท่านนึงมี 150 กว่าตัวซึ่งเป็นลูกค้าเราแค่ประมาณ 6-7 เดือนแต่กลายเป็นแฟนคลับตัวยง เวลาเราออกลายใหม่ปุ๊บซื้อปั๊บ คือแทบจะไม่ขอดูรายละเอียดอะไรเลย เป็นตัวชี้วัดการที่เราสร้างสินค้าคุณภาพผนวกกับเวลาเราไลฟ์ขายสินค้า มันมาจากความเป็นตัวของตัวเอง สร้างความรู้สึกที่ไม่มีระยะห่างระหว่างแม่ค้ากับลูกค้า ทำจากใจ เหมือนพี่ เหมือนเพื่อน เหมือนน้อง เกิดความไว้ใจและเชื่อถือกันมาโดยตลอด
เทคนิคและเคล็ดลับที่ทำให้ลูกค้ารักและติดตาม
คุณนิว: นิวจำชื่อลูกค้าที่เป็นลูกค้าประจำได้แทบทุกคน หรือถ้าลูกค้าใหม่แค่เข้ามาคุยมาทักในไลฟ์กับนิวแค่สองครั้งนิวก็จำได้แล้ว ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับเค้า ในไลฟ์เราต้องอ่านทุกคอมเม้นต์ ตาต้องไวในขณะขาย สร้าง vibes สบายๆ เรียก “ฉัน” “เธอ” ซึ่งลูกค้าชอบความรู้สึกจอย ๆ และการไลฟ์ทุกครั้งของนิวมาจากอินเนอร์ ตัวเอง ไม่ได้ต้องคิดธีมอะไร เน้นชวนคุย บางครั้งก็สร้างโมเม้นท์ขิงกันสนุกๆ ถึงจำนวนกางแกงที่แต่ละคนซื้อไป ซึ่งสร้าง engagement ในไลฟ์ได้เป็นอย่างดี
โอกาสและการซัปพอร์ตจาก TikTok Shop
คุณนิว: ปกติถ้ามีแคมเปญ เวลาที่ไลฟ์นิวจะแจ้งลูกค้าว่าช่วงไหนเวลาไหนจะมีแคมเปญนู่นนี่ เพื่อให้ลูกค้าได้เตรียมตัวซื้อสินค้าแบบคุ้มๆ ดีลดีๆ โปรดีๆ เรียกว่าเป็นการแจ้งข่าวล่วงหน้าให้ลูกค้าก่อนเพื่อจะได้กดซื้อช่วงโปรผ่านแคมเปญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Payday หรือ 6.6, 7.7 ที่มีคูปองสนับสนุนแบบจุกๆ
“ขายของใน TikTok Shop ไม่ใช่เรื่องยาก แค่เราต้องอ่านและทำตามกฎซึ่งมีบอกอย่างชัดเจน และการที่นิวมาเป็นแม่ค้าใน TikTok Shop ก็เปิดโอกาสให้นิวได้เป็น 1 ใน 5 TikTok Experts 2024 ในหมวด Seller Expert สร้างความภูมิใจให้นิวมาก เปรียบเสมือนเรามีนามสกุลหลังชื่อเรานะ เป็น Expert ที่เป็นเจ้าของธุรกิจด้วย มีประสบ การณ์ใช้งาน TikTok Shop มีทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญในการใช้ TikTok Shop Solution ที่สามารถส่งต่อความรู้ แชร์ประสบการณ์ และช่วยเหลือแม่ค้าออนไลน์คนอื่น ๆ ให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน”
อนาคตของ Tinybity
คุณนิว: นิวแพลนว่าต่อไปงานของ Tinybity ตั้งแต่เดือนก.ค. ทุกตัวต้องเป็นงานที่ยูนีค ไม่เหมือนใคร และวางแผนว่าอาจมีโรงงานเล็กๆ ขนาดครัวเรือนเป็นของตัวเอง เพิ่มพนักงานช่างตัดเย็บ และสร้างงานให้ชุมชนต่อไป
อยากฝากถึงแม่ค้าที่ต้องการไลฟ์แต่ยังลังเลหรือไม่กล้า ขอให้เริ่มทำและมีเป้าหมาย ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ทำอย่างต่อเนื่อง การลงมือจะช่วยฝึกทักษะ กดปุ่มไลฟ์ไม่ยาก แต่ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องมีความอดทน สม่ำเสมอ และไม่ท้อ”
ติดตาม Tinybity6395 ได้ที่:
TikTok: tinybity6395 (https://www.tiktok.com/@tinybity6395)