ปิดฉากสุดประทับใจสำหรับมหกรรมแห่งปี อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการหรือ “อว.แฟร์” ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีและร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดล้ำด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 22 – 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งตลอดระยะเวลาการจัดงาน 7 วัน ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้รวมกว่า 660,218 คน สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 500 ล้านบาท พร้อมชวนประชาชนติดตามกิจกรรมและโครงการอื่นที่น่าสนใจจากอว. ต่อไป
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การจัดงาน “อว.แฟร์” ถือเป็นความท้าทายของกระทรวง อว. ในการจัดมหกรรมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์เป็นเวลายาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ระดับภูมิภาคสู่ส่วนกลาง เพื่อมอบความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแก่ประชาชน พร้อมเปิดโอกาสและจุดประกายแนวคิดใหม่ๆ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ต่อยอดสู่การพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถและพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
รมว.อว. กล่าวต่อว่า โดยในงาน “อว.แฟร์” ประกอบด้วยหลากหลายกิจกรรมเพื่อยกระดับทักษะด้านวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม การศึกษาที่มีคุณภาพ ด้าน Soft Power ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยมากกว่า 170 หน่วยงานครอบคลุมทั่วประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมมอบความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากมาย พร้อมโชว์และการแสดงทุกวันแบบจัดเต็ม รวมถึงมีมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังที่ผลัดเปลี่ยนกันมาสร้างสีสันและความสนุกตลอด 7 วัน และพิเศษสุดกับการเนรมิตนิทรรศการ 6 โซนไฮไลต์บนพื้นที่กว่า 23,000 ตารางเมตร เพื่อมอบความบันเทิงควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์มีประชาชนเข้าถึงกิจกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์รวมกว่า 660,218 คน ถือว่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่อย่างคาดไม่ถึง อีกทั้งยังสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้ความสำเร็จของงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคตของประเทศไทย ตลอดจนเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป
“กระทรวง อว. ขอขอบคุณทุกความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนให้งาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ได้อย่างสมบูรณ์และประสบความสำเร็จ ซึ่งการร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกท่านถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถนำเสนอความรู้ นวัตกรรม และแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศของเราไปข้างหน้า โดยกระทรวง อว. จะเดินหน้าและมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองสำหรับประเทศไทย และเราหวังว่าจะได้พบกับทุกท่านในกิจกรรมและงานต่อๆ ไป ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวง อว. ได้ทางเว็บไซต์ www.mhesifair.com และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/MHESIThailand” น.ส.ศุภมาส กล่าว
สำหรับการจัดงานในวันสุดท้ายในวันที่ 28 กรกฎาคม มีหนึ่งไฮไลต์ที่น่าสนใจที่สุดคือส่วนของ Soft Power: Fashion ที่เน้นการแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าทอและผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยซึ่งพัฒนาด้วยนวัตกรรมอันล้ำสมัย นำเสนอการพัฒนาผ้าไหมโดยคุณเอ็ดเวิร์ด กิตติ ผู้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหมที่ได้ผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ากับวัตถุดิบดั้งเดิม เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสวยงาม
อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือ Fashion Technology ซึ่งมีการประกวดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอร่วมสมัยด้วย ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบและนักวิจัยแสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งทอให้ทันสมัยและมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น โดยกิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงความสามารถในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยในการนำ Soft Power มาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมสำคัญที่จัดโดย Oracle Academy อย่าง “Unleashing Innovation with AI Powered by Oracle Cloud Infrastructure and Transforming Industries” โดย Oracle Academy ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของ Oracle Cloud Infrastructure (OCI) ในการเสริมสร้างความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนำมาใช้ในการปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านการบรรยายและสาธิตที่น่าตื่นตาตื่นใจผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับการนำ AI และคลาวด์เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงแค่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสกับเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ยังสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ AI และคลาวด์เทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีการจัดบรรยายที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของโลกในปัจจุบันนั่นคือ
ไมโครพลาสติก โดยสองนักวิจัยชั้นนำจากศูนย์ฯ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา (EHT) ได้แก่ รศ.ดร.พนิดา
นวสัมฤทธิ์ และ ดร.เติมทิพย์ พูลภักตร์ โดยสาระสำคัญของการบรรยายครั้งนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของไมโครพลาสติก ตั้งแต่ที่มา ผลกระทบ จนถึงแนวทางการแก้ไข ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดการใช้พลาสติกและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ปิดท้ายด้วยกิจกรรมที่ได้รับความสนใจและตื่นเต้นมากที่สุด กับ มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง ตู่ ภพธร ที่มาสร้างสีสันและความสนุกให้กับผู้เข้าร่วมงาน ด้วยการขนเพลงฮิตติดหูมากมายมารร้องและโชว์อย่างจุใจ ทำให้แฟนคลับและผู้ชมสนุกสนานและประทับใจจนลืมเวลา