หลังจากที่ SCBX ได้ประกาศปิดตัวแพลตฟอร์ม Robinhood ที่มีการขาดทุนสะสม 3 ปีย้อนหลัง กว่า 5,500 ล้านบาท ทำให้ลูกค้าประจำออกมาบ่นว่า เสียดาย เพราะจุดเด่นของ Robinhood คือไม่เก็บค่า GP กับร้านค้า แต่เมื่อถึงวันให้บริการวันสุดท้ายก็คือ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา SCBX ก็ได้ออกมาประกาศว่า ยังปิดไม่ได้ เพราะมี หลายคนสนใจจะซื้อกิจการ คำถามคือ แพลตฟอร์มไหนกันที่พอจะซื้อ Robinhood ได้
เกือบ 10 ปี ปลิวไปแล้ว 4 ราย
หากพูดกันตามตรง การล้มหายตายจากของผู้เล่นในตลาด Food Delivery ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ เพราะตลอดเกือบ 10 ปีมีเหตุการณ์แบบนี้ให้เห็นมาตลอด อย่างในปี 2561 ที่ Uber Eats ขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ Grab หรืออย่างในปี 2564 แพลตฟอร์ม Airasia Superapp ก็ซื้อ Gojek ในไทย แต่สุดท้ายก็เลิกทำเดลิเวอรี่เองแล้วไปจับมือกับ Foodpanda ซึ่งแพลตฟอร์ม Foodpanda เองก็มีข่าวว่าจะขายกิจการ แต่สุดท้ายดีลก็ล่ม
จากที่ผู้เล่นหลายรายล้มหายไป แสดงเห็นชัด ๆ เลยว่าตลาด Food Delivery มีการแข่งขันที่สูงมากจริง ๆ ดังนั้น การที่ Robinhood จะหายไปอีกราย ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และเป็นไปตามที่หลาย ๆ คนคาดว่าตลาดนี้จะเหลือ ผู้เล่นหลักเพียง 3 ราย ซึ่งปัจจุบันก็เหลือผู้เล่นรายหลักประมาณนั้น ได้แก่ Grab, Lineman Wongnai, Foodpanda และ Shopee Food แล้ว
ประเมินใครจะคว้า Robinhood
ถ้าวัดกันแบบเร็ว ๆ แน่นอนว่า Foodpanda และ Shopee Food ไม่น่าจะเป็นผู้เล่นที่ซื้อ Robinhood เพราะ Delivery Hero บริษัทแม่ของ Foodpanda เองก็ยังอยากขายกิจการในอาเซียนอยู่เลย ส่วน Shopee น่าจะเน้นไปที่ฝั่งของอีคอมเมิร์ซมากกว่า เพราะพึ่งจะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา
นอกจากนี้ อ้างอิงจากข้อมูลของ Momentum Works ที่เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ทั้ง Foodpanda และ Shopee Food ต่างมีส่วนแบ่งตลาดเพียง หลักเดียว (8% และ 6% ตามลำดับ) ส่วน Robinhood มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3% เท่านั้น ดังนั้น หากซื้อ Robinhood ไปก็คงไม่ช่วยอะไรมากนัก
ดังนั้น จะเหลือผู้เล่นในตลาดตอนนี้ 2 รายที่อาจจะซื้อ Robinhood ได้แก่ Grab ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 47% และ Lineman Wongnai ที่ครองส่วนแบ่งตลาด 36%
เทียบฟอร์ม Grab-LINEMAN
สำหรับ Grab เองถือเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคที่ครอบ อันดับ 1 ในทุกประเทศ สำหรับในประเทศไทย Grab สามารถทำกำไรได้เป็นปีที่สอง โดยในปี 2565 มีรายได้ 15,197,479,521 บาท กำไร 576,134,254 บาท ส่วนปี 2566 มีรายได้ 15,622,426,576 บาท กำไร 1,308,464,289 บาท อย่างไรก็ตาม Grab ไม่ได้เปิดเผยถึงจำนวนร้านอาหารในระบบ รวมไปถึงจำนวนของพาร์ทเนอร์ไรเดอร์ว่ามีเท่าไหร่
ส่วน Lineman Wongnai สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของไทย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังคง ขาดทุน โดยในปี 2565 มีรายได้ 7,802,774,764 บาท ขาดทุน 2,730,849,262 บาท ส่วนปี 2566 มีรายได้ 11,634,419,745 บาท ขาดทุน 253,806,613 บาท แม้จะยังขาดทุน แต่รายได้ก็ถือเติบโตมากขึ้น ส่วนอัตราขาดทุนก็ลดลง
แต่ที่เป็นจุดแข็งของ Lineman Wongnai ก็คือ ฐานข้อมูลร้านอาหาร ที่ในปี 2023 มีจำนวนถึง 1 ล้านร้านค้า จากการให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัด รวม 250 อำเภอ และมีจำนวนไรเดอร์กว่า 1 แสนคน รวมแล้วมีผู้ใช้งาน กว่า 10 ล้านคนต่อเดือน นอกจากนี้ Lineman Wongnai ยังให้บริการกลุ่มโซลูชันสำหรับร้านค้าและร้านอาหาร อาทิ Wongnai POS ระบบจัดการร้านอาหารและการขายผ่านเดลิเวอรี่ โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารใช้งานมากกว่า 50,000 ร้าน
หรือจะเป็นผู้เล่นรายใหม่?
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก Grab และ Lineman Wongnai แล้ว ก็มีอีกชื่อคือ Meituan (เหม่ยถวน) ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งกับ Grab ในการเข้าซื้อกิจการ Foodpanda ในตลาดอาเซียน ซึ่ง Meituan เป็นเบอร์ 1 ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่จีน โดยครองส่วนแบ่งตลาดถึง 70% เลยทีเดียว
แม้ว่าดีลดังกล่าวจะล่ม แต่ Meituan ก็ยังคงพยายามขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรกอยู่ โดยจะเริ่มให้บริการส่งอาหารที่กรุงริยาดเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ดังนั้น Meituan จึงอาจเป็นตัวละครลับในดีลของ Robinhood ก็เป็นได้
ประเมินอาจขายได้ 1 พันล้านบาท
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า SCBx อาจจะขาย Robinhood ที่ 1 พันล้านบาท ซึ่งประเมินจากที่ SCB แจ้งค่าใช้จ่าย Impairment Loss ของ Robinhood ซึ่งเราก็คงต้องจับตาดูกันให้ดี ๆ ว่าใครจะคว้า Robinhood ไป จะเป็น Grab ที่จะซื้อเพื่อทิ้งห่าง หรือ LINEMAN Wongnai ที่ซื้อเพื่อขยับเข้าไปใกล้เบอร์ 1 ของตลาด หรือจะเป็นน้องใหม่ที่อยากจะลองของในตลาดไทย