ธนาคารกสิกรไทย สะท้อนทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ ESG ในโลกธุรกิจที่มีความก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง กับหัวข้อ Actions for Change ภายใต้ธีม Time for Action #พลิกวิกฤตโลกเดือด ในงาน ‘PRACHACHAT ESG FORUM 2024’ ณ แกรนด์ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกโดย พิพิธ อเนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ได้ฉายภาพสมการเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนไป ที่ Wealth ต้องมาควบคู่กับ Wellbeing มองการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero มองประเทศไทยและภาคธุรกิจต้องการทั้งเม็ดเงินสนับสนุนและโซลูชันที่มากกว่าการเงินเพื่อช่วยในการ Decarbonize รวมทั้งการประสานศักยภาพจากภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนสำคัญ ที่จะเพิ่มโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ๆบนโลกซึ่งกำลังอยู่บนกติกาใหม่ได้
เปิดปฐมบทของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย พิพิธเปิดเผยว่าในฐานะนักการเงิน พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สร้างความเสียหายทั่วโลก คิดเป็น 3% ของ GDP โลก แต่หากปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ความเสียหายจะพุ่งไปสู่ 18% ของ GDP โลก ประเทศที่ไม่มีความพร้อมด้านทรัพยากรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น กรณีประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความเสี่ยงเชิงกายภาพ คิดเป็นผลกระทบที่กระเทือนต่อ GDP ประเทศ ราว 44% ดังนั้น ‘ภาวะโลกเดือด’ จึงนับเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
พิพิธชวนคิดต่อในส่วนของโมเดลเศรษฐกิจโลกแบบเดิมให้ความสำคัญกับความมั่งคั่ง (wealth) มากกว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (wellbeing) ดังนั้นเมื่อโอกาสมาถึงเราไม่เพียงแต่จะต้องเริ่มแต่จะต้องเร่งความเร็วให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งโมเดลการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนนี้มูลค่าของธุรกิจจะมีการบูรณการผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate) สังคม (Societal Health) และสิ่งแวดล้อม (Environment) เข้าไปด้วยเพื่อสร้างให้ธุรกิจเป็น Less Brown และบวกกับการทำธุรกิจใหม่ๆแบบสีเขียว (Earning Greens) ซึ่งจะสามารถทำให้เราเพิ่มทั้ง Wealth และ Wellbeing ไปพร้อมๆกันเช่นเดียวกับ KBank ที่มีความมุ่งมั่นในการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนหรือ Bank of Sustainability โดยมีหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์โลกในยุคปัจจุบัน
หากมองระบบเศรษฐกิจผนวกกับข้อมูลจากการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions : NDCs) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญเพื่อบรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในความพยายามกำจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์นั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่จำต้องนำเทคโนโลยีที่มีราคาสมเหตุสมผลเข้ามาช่วย เช่น รถ EV (Electric Vehicle) โซลาร์เซลล์ พลังงานลม แบตเตอรี่เป็นต้น ร่วมด้วยภาคอุตสาหกรรมที่ดำเนินการด้าน Nature-based Solution ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าการใช้แพลงก์ตอนการใช้ชีวะเคมีเป็นต้น
นอกจากนี้ธุรกิจแต่ละกลุ่มก็มีความพร้อมที่แตกต่างกัน โจทย์ใหญ่คือลูกค้ากลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs (Small and Medium Enterprises) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบาง (Vulnerable) หากดำเนินด้วยวิธีการแบบเดิมอาจทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกเศรษฐกิจแบบ Wealth and Well Being ได้สำเร็จ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธนาคารไปจนถึงระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศ ดังนั้นนอกเหนือจากเครื่องมือทางการเงินแล้ว การให้โซลูชันที่มากกว่าการเงิน อาทิ องค์ความรู้ Carbon Credit Mechanism และเทคโนโลยี เพื่อช่วยภาคธุรกิจในการปรับตัวจึงมีความสำคัญเช่นกัน
ผู้จัดการใหญ่ KBank เล่าว่า ที่ผ่านมา KBank เป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ความสำคัญกับ ESG อย่างจริงจัง กล่าวคือ Scope 1-2 มุ่งดำเนินกิจการสีเขียว สอดรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2030 ทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในองค์กรรวมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน อาทิ การสนับสนุนใช้รถ EV และรถไฮบริด การติดโซลาร์รูฟท็อปของตึกอาคารธนาคารกสิกรไทย 60 สาขา รวมถึงการลดแก๊สเรือนกระจก ซึ่งในปีที่แล้ว ลดได้ 12.74% ตลอดจนครองฐานะองค์กรเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Organization) ต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน (2018-2023)
ต่อมา Scope 3 ดำเนินการกลยุทธ์ Portfolio Decarbonization โดยได้มีการจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับลูกค้าไปแล้วใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมประกอบด้วย กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ต้นน้ำ กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ รวมถึงกลุ่มอะลูมิเนียม และในปี 2567 นี้ธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับกลุ่มธุรกิจขนส่งและยานยนต์ นอกจากนี้ยังวางแผนขยายให้ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรมในระยะยาวต่อไป พร้อมเสริมศักยภาพของลูกค้า นำเสนอโซลูชัน ตลอดจนสนับสนุนทางเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero Economy
อีกทั้งสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) จัดสรรเงินลงทุนในธุรกิจและสตาร์ทอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มุ่งสนับสนุนธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) โดยจากยอดสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวน 26,411 ล้านบาทในปี 2022 ภายในปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งมอบเงินในส่วนนี้ได้รวม 100,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเป็น 200,000 ล้านบาทภายในปี 2030 ตามเป้าหมาย
“ล่าสุดเราพยายามสร้างนวัตกรรมทางการเงินเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ทั้ง Green Loanและ Green Finane โดยร่วมกับพันธมิตร เพื่อนำคาร์บอนเครดิตไปเป็นคูปองเพื่อจ่ายให้กับนักลงทุน และนักลงทุนก็รับ แสดงให้เห็นว่าโลกนี้กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียง Capital Market Product เท่านั้น แต่เริ่มมีการตระหนักรู้และยอมรับเพื่อให้สังคมดีขึ้น”
ยกระดับความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง คุณพิพิธกล่าวว่าการที่จะช่วยให้ลูกค้าในพอร์ตโฟลิโอลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับเป็นงานที่มีความท้าทาย เป็นการต่อจิ๊กซอว์ที่ต้องเชื่อมต่อองค์ประกอบหลายด้านเข้าด้วยกันเป็นภาพใหญ่ทำให้ธนาคารกสิกรไทยได้ขยายขอบเขตออกไปในวงกว้างมากขึ้น หรือที่ทีมเราเรียกกันว่า Scope X ที่เราต้องเข้าถึงหน่วยต่างๆ ใน Ecosystem และซัพพลายเชนของธุรกิจของลูกค้าให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือในการ Decarbonize ด้วยโซลูชันที่มากกว่าการเงินหรือ Beyond Banking Solutions โดยมีการจัดตั้งบริษัท KOP50 ซึ่งเป็น Holding Company ภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อดำเนินโครงการที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้คาร์บอน พร้อมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลากหลายราย โดยธนาคารเป็นสะพานเชื่อมประสานศักยภาพทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เกิดเป็น Ecosystem ที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ริเริ่มดำเนินโครงการต่างๆภายใต้บริษัท KOP50 เพื่อสร้าง Sustainable Ecosystem ที่สมบูรณ์ดังนี้
KClimate 1.5 : นำเสนอโซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการรับมือกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเตรียมพร้อมสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
KEnergy+ มุ่งให้ภาคประชาชนสามารถเข้าร่วมสู่การเปลี่ยนผ่าน โดยพัฒนาโครงการ EV Bike Platform ที่ชื่อว่า Watts’up ในรูปแบบ e-Marketplace platform เพื่อให้ผู้ขับขี่รถจักยานยนต์ไฟฟ้าสามารถทำรายการเช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้าหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามสถานที่ให้บริการที่ปรากฏบนแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการ GreenPass แพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถขอและขายใบรับรอง REC ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า รายย่อยและส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในประเทศ
รวมถึง Creative Climate Research Center ที่จะช่วยสนับสนุนการส่งมอบความรู้จากสถาบันชั้นนำเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยร่วมมือกับองค์กรชั้นนำจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อให้ประเทศไทยมีศูนย์บริการความรู้แบบ One-stop-shop ครบคลุมทุกองค์ความรู้ที่ทันสมัย เข้าถึงง่าย และให้บริการคำปรึกษาที่น่าเชื่อถือแก่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดได้ร่วมประชาสัมพันธ์สนับสนุนสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) และคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดหลักสูตร Net Zero CEO Leadership Program เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงให้สามารถเดินหน้าสู่ธุรกิจ Net Zero
พิพิธ ปิดท้ายว่า ธนาคารฯ ให้ความสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ประสานความร่วมมือกับ 25 องค์กรชั้นนำทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติจัดตั้ง “เครือข่ายธุรกิจเพื่อการจัดการสภาพภูมิอากาศประเทศไทย” หรือ Thai Climate Business Network – ThaiCBN เชื่อมโยงการทำงานของทั้ง 5 ภาคส่วนได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคการเงินและการธนาคาร องค์กรและธุรกิจต่างประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน ผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้งานวิจัยเทคโนโลยีแนวทางปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จเนื่องด้วยความซับซ้อนทางมิติที่หลากหลาย เมื่อผนวกกับจุดแข็งขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีองค์ความรู้และข้อมูลด้านการเงิน-การลงทุน จึงสามารถผนึกกำลังพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีต่างๆ ไปดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง และยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานให้พร้อมคว้าโอกาสใหม่ของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้กับผู้เล่นรายย่อยที่เข้ามาอยู่ในระบบได้
“หากเราทำคนเดียว เราต้องทำ ตามกติกาพวกเขาเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น หากเรารวมตัวกัน ก็อาจมีโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ๆ บนโลกซึ่งกำลังอยู่บนกติกาใหม่ และที่สำคัญไม่เพียงแค่การที่เป็นผู้รอดชีวิตเท่านั้น ทว่ามีโอกาสที่จะเจริญงอกงามบนกติกาโลกใหม่ได้”
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงก้าวหนึ่งของ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ เท่านั้น ซึ่งก้าวต่อไปมุ่งหวังให้องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันการเงิน เดินหน้านำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ขับเคลื่อน Actions for Change ภายใต้วิกฤตโลกเดือด เพื่อให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างแท้จริง