บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เฉลิมฉลองความสำเร็จของโครงการเดลต้า ออโตเมชัน อะคาเดมี ประจำปี 2567 (Delta Automation Academy 2024) ด้วยพิธีมอบประกาศนียบัตร เพื่อยกย่องความสำเร็จของนักศึกษากว่า 1,000 คนทั่วประเทศไทย โดยมีตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน 200 คน ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมพิธีและเข้ารับประกาศนียบัตร ด้วยยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยังคงความเป็นผู้นำในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Delta Automation Academy ที่มุ่งเน้นสร้างทักษะและความรู้ที่จำเป็นให้แก่นักศึกษาได้เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่โลกแห่งการทำงานด้านอุตสาหกรรมอัตโนมัติและเทคโนโลยีในอนาคต
เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย ได้ลงทุนในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยในมหาวิทยาลัยหลายแห่งรวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท เพื่อให้นักศึกษาจาก 7 สถาบันชั้นนำได้รับประโยชน์จากห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อให้นักศึกษาใช้งานและเข้าถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติของประเทศไทย โดยคาดว่าจะเติบโตจาก 389.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 เป็น 668.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ด้วยอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) ที่ 5.83% ตามรายงานของ NMSC โดยการเติบโตนี้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต น้ำมันและก๊าซ รวมถึงพลังงาน ทั้งนี้ โครงการ Delta Automation Academy ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2558 ภายใต้พันธกิจของเดลต้าที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมผ่านการศึกษา รวมทั้งมอบประสบการณ์จริงในการทำงานด้านพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติ และทักษะเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับนักศึกษามากกว่า 3,000 คน โดยทีมผู้ฝึกสอนด้านระบบอัตโนมัติของเดลต้ามีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำแก่นักศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นและความพร้อมในการทำงานเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศรวมถึงเดลต้าอีกด้วย
นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ Delta Automation Academy เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของเราในการพัฒนานักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์รุ่นใหม่ของประเทศไทยให้มีความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับนักศึกษา เพื่อให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมอัตโนมัติที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ฉลองความสำเร็จของนักศึกษากว่า 1,000 คน ที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้และยินดีที่พวกเขาได้รับทักษะที่จำเป็น รวมถึงเสริมสร้างความมั่นใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาในประเทศไทย”
บัณฑิตจบใหม่ที่เคยผ่านการเข้าร่วม Delta Automation Academy มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพันธมิตรทั้ง 7 แห่งของเราคิดเป็นสัดส่วนราว 30%-50% ได้รับข้อเสนอให้เข้าทำงานที่เดลต้า ส่งผลให้มีการรับพนักงานใหม่ประมาณ 150 คนต่อปี บัณฑิตเหล่านี้ล้วนได้รับทักษะที่เหนือชั้นและมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรม ทำให้เดลต้ากลายเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญต่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวแสดงความภาคภูมิใจในความร่วมมือครั้งนี้ว่า “ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ได้เปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ การเปิดตัวห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มหาวิทยาลัยของเราถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างศักยภาพให้กับนักศึกษาพร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกปัจจุบัน เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความริเริ่มนี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ความร่วมมือระหว่างเดลต้าและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ทักษะที่นักศึกษาได้รับจากโครงการ Delta Automation Academy จะมีบท บาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูง (High-Tech) และพลังงานที่ยั่งยืน”
พิธีมอบประกาศนียบัตรในปีนี้จัดขึ้นพร้อมกับการเปิดตัวห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งที่สามของโครงการห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ได้ฝึกปฏิบัติจริงผ่านการใช้อุปกรณ์ขั้นสูง เช่น เครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า AC และ DC เครื่องมือวัดสัญญาณไฟฟ้า (Oscilloscopes) โพรบ (Probes) และอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยการริเริ่มโครงการต่าง ๆ เช่น Delta Power E Lab ทำให้เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมวิศวกรรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะเฉพาะทาง เพื่อให้สามารถกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในแทบทุกอุตสาหกรรม
ในอนาคต เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย ยังคงเดินหน้าผลักดันนวัตกรรมผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยมหิดล ตอกย้ำความเป็นผู้นำของเดลต้าในด้านการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสำหรับภาคส่วนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีของประเทศไทยที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Delta Automation Academy และโครงการด้านการศึกษาของเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย สามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://deltathailand.com/th/index