เมล็ดกาแฟโรบัสตาในบราซิลขาดตลาด เหตุอากาศร้อน-แล้ง กระทบอาราบิการาคาพุ่ง แพงสุดในรอบ 13 ปี

ภาพจาก Shutterstock

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะกับวัยทำงาน ที่ต้องการสารกาเฟอีนในเมล็ดกาแฟมาช่วยกระตุ้นร่างกายให้พร้อมสำหรับการทำงาน ทำให้อุตสาหกรรมกาแฟมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบระยะสั้น (CAGR) ระหว่างปี 2023 – 2025 กว่า 4.47% 

ซึ่ง บราซิล เป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟมากที่สุดของโลก โดยส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์อาราบิกา ที่ผลิตและส่งออกประมาณ 2.6 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2023 บราซิลได้ส่งออกกาแฟไปยังประเทศอื่นๆ รวมมูลค่าเกือบ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท) 

แต่ปัจจุบันบราซิลกำลังเผชิญหน้ากับสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งรวมถึงคลื่นความหนาวเย็น ซึ่งส่งผลให้ดอกของต้นกาแฟเกิดการออกดอกก่อนเวลา ทำให้ในฤดูกาล 2024-2025 ผลผลิตมีปริมาณลดลง โดยมีการรายงานว่า ราคากาแฟที่ผู้บริโภคดื่มมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากผลผลิตเมล็ดกาแฟโรบัสตาลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนเมล็ดกาแฟอาราบิกาพรีเมียมมีราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ของเมล็กาแฟอาราบิกาเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 40%

ผลกระทบจากราคากาแฟที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเฟ้อของราคาเครื่องดื่มด้วยเช่นกัน อาทิ บริษัท เจเอ็ม สมักเกอร์ (JM Smucker) เจ้าของแบรนด์ โฟลเกอร์ (Folgers) และคาเฟ่ บัสเทโล่ (Café Bustelo) ที่ครองตลาดกาแฟในบ้านของสหรัฐอเมริกา ได้มีการปรับเพิ่มราคาเครื่องดื่ม รวมถึง เครือร้านอาหารเพร็ต อะ แมงเกอร์ (Pret A Manger) ได้ยกเลิกโปรแกรมสมัครสมาชิกในอังกฤษที่ให้ลูกค้าดื่มกาแฟได้มากถึง 5 แก้วต่อวัน เป็นต้น

นอกจากราคากาแฟแล้ว ยังมีการรายงานว่าราคาเครื่องดื่มอื่น ๆ ก็มีการปรับเพิ่มราคาเช่นกัน ทั้งราคาน้ำส้มที่สูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตลดลง และราคาสัญญาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้าก็พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ต้นทุนเครื่องดื่มและของหวานที่ทำจากช็อกโกแลตสูงขึ้น สวนทางกับราคาของสินค้าหลักอื่น ๆ เช่น ธัญพืช ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ที่มา : Bloomberg และ ReportLinker