กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตอกย้ำความสำเร็จตลอด 17 ปี ในด้านการยกระดับสินค้าและบริการไทยสู่ระดับสากล และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าที่สอดรับไปกับความต้องการของโลก ผ่านโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Design Excellence Award: DEmark) เวทีประชันฝีมือการออกแบบสินค้าและบริการของไทยที่เปิดโอกาสสู่เวทีการออกแบบระดับโลกอนาคตเตรียมต่อยอดความสำเร็จ พร้อมมุ่งมั่นสร้างแนวคิดและแนวทางการพิจารณารางวัลที่เข้มข้นสอดคล้องไปกับกลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
โครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Design Excellence Award) หรือรางวัล DEmark มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจึงส่งนักสร้างสรรค์และนักออกแบบไทยไปคว้ารางวัลการออกแบบระดับโลกมาครองได้อย่างต่อเนื่อง มาย้อนอดีต ส่องปัจจุบัน พุ่งทะยานสู่อนาคตไปพร้อมกัน
ศักยภาพนักออกแบบไทยไปได้ไกลในตลาดโลก
ย้อนกลับไปเกือบ 2 ทศวรรษ ในปี พ.ศ. 2551 พฤติกรรมของผู้บริโภคและแนวทางในการแข่งขันทางการค้าเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญและเลือกซื้อสินค้าที่ได้รับการออกแบบที่ดีมากขึ้น แต่ในขณะนั้นอุตสาหกรรมการออกแบบสินค้าและบริการของประเทศไทยยังไม่ค่อยได้รับความสำคัญ ทำให้ผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศไม่ทราบถึงความสามารถและศักยภาพในการออกแบบของนักสร้างสรรค์หรือนักออกแบบของไทย สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีความต้องการส่งเสริมสินค้าที่มีการออกแบบดีจากประเทศไทยสู่สากล รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการของตนเองให้สอดคล้องกับบริบทตลาดการค้าโลก จึงได้ต่อยอดรางวัล Prime Minister’s Export Award (PM Award) ประเภท Thai-Owned Design มาเป็นโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Design Excellence Award) หรือ DEmark ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยได้มีการออกแบบตราสัญลักษณ์รางวัลขึ้นใหม่ในชื่อ DEmark เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่มีการออกแบบดี และใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย
นอกจากนี้ รางวัล DEmark ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization: JETRO) และสถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Institute of Design Promotion: JDP) ในการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัล โดยผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark จะผ่านเข้ารอบสองทันทีในการประกวดรางวัล Good Design Award (G-mark) ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรางวัลด้านการออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่เพียงเท่านั้น ผลงานที่ได้รับรางวัลยังสามารถใช้โลโก้ DEmark เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการส่งเสริมการขายได้ รวมถึงได้รับการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายผ่านสื่อชั้นนำ อีกทั้งยังร่วมนำสินค้าและบริการไปจัดแสดงนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ เช่น งาน Milan Design Week อิตาลี เป็นต้น
ความสำเร็จในการเฟ้นหาผลงานการออกแบบดีตลอด 17 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551 – 2567) โครงการ DEmark ได้มอบรางวัลไปแล้วทั้งหมด 1,225 รายการ และได้รางวัล G-mark มาแล้ว 545 รายการ
ความสำเร็จที่เกินคาดกับ “THE POWER OF SUSTAINABLE DESIGN:
จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์อย่างยั่งยืน”
ในปี 2567 รางวัล DEmark Award 2024 ได้รับการจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “THE POWER OF SUSTAINABLE DESIGN: จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์อย่างยั่งยืน” ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้านการออกแบบของประเทศไทยให้ปรากฏเด่นชัดในเวทีระดับนานาชาติ ผ่านการถ่ายทอดแนวคิดและภาพในการสื่อสาร (Key Visual) โดยการใช้ “หม้อดอก” หรือ “ปูรณฆฏะ” ที่ซ่อนสัญลักษณ์อนันต์ (Infinity) เพื่อเป็นตัวแทนของความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมอันหลากหลายผ่านการเดินทางและการค้าขายตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันที่ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความร่มเย็น ความสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม ความรุ่งเรือง ชีวิต และการสร้างสรรค์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ผสานกับการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ก้าวกระโดด ผ่าน “ตัวอักษรแบบพิกเซล (Pixel)” ตัวแทนของเทคโนโลยีอันชาญฉลาด หวังสร้างพลังแห่งความคิด การออกแบบ และการสร้างสรรค์
โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีจัดพิธีมอบรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมปี 2567 (Design Excellence Award 2024) มีผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark Award 2024 รวม 66 รายการ จากผลงานที่สมัครเข้ามาทั้งหมด 500 รายการ แบ่งเป็น 8 สาขารางวัล ดังนี้
1. กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Furniture: Industrial Process / Industrial Craft) จำนวน 9 ผลงาน
2. กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Industrial Process / Hand Craft: Gift & Decorative Items / Household Items) จำนวน 13 ผลงาน
3. กลุ่มสินค้าเครื่องแต่งกาย / เครื่องประดับ และนวัตกรรมสิ่งทอ (Accessories & Wearable: Apparel / Jewelry / Textile / Lifestyle Fashion Ex. hat, bag, footwear) จำนวน 8 ผลงาน
4. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี (Industrial & IoT: Home Appliances / Equipment and Facilities / Digital Appliances / Transportation / Smart Device / IoT / etc.) จำนวน 11 ผลงาน
5. กลุ่มผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design Product Base / Packaging Design Branding Base) จำนวน 5 ผลงาน
6. กลุ่มผลงานการออกแบบกราฟิกและการสื่อสาร (Graphic & Communication Design: Typography / Graphic on Surface / Digital Media / Identity Design / Illustration / Character Design / Digital Art / Exhibition Design) จำนวน 13 ผลงาน
7. กลุ่มผลงานออกแบบตกแต่งภายในที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้าพื้นที่ทํางานร่วมกัน อาคารชุด (Interior Design: Hotel / Restaurant / Cafe / Retail Shop / Co-Working Space / Condominium and Residential Project) จำนวน 4 ผลงาน
8. กลุ่มผลงานออกแบบระบบบริการและแพลตฟอร์มดิจิทัล (System Service & Digital Platform: Online Interface Design, Apps for Smartphones and Tablets, Website) จำนวน 3 ผลงาน
DEmark ไม่เพียงยกย่องศักยภาพการออกแบบของคนไทย แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรุ่นใหม่ด้วย
โครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Design Excellence Award) หรือรางวัล DEmark นอกจากช่วยสร้างโอกาสให้นักออกแบบไทยก้าวสู่สากล ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการส่งออกไทยได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นักสร้างสรรค์หรือนักออกแบบรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยการออกแบบด้วย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประสบความสำเร็จในการผลักดันธุรกิจและอุตสาหกรรมการออกแบบให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับนานาประเทศ ผ่าน โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม หรือ DEmark มาต่อเนื่อง 17 ปี โดยพบว่ามีนักออกแบบและผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงสะท้อนได้ว่ารางวัล DEmark ไม่เพียงแต่เป็นการยกย่องความสามารถด้านการออกแบบของคนไทย แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ในการพัฒนาผลงานที่มีคุณภาพและเสริมสร้างชื่อเสียงให้กับสินค้าและบริการไทยในตลาดโลก ที่สำคัญคือผลงานของนักออกแบบไทยที่ได้รับรางวัล ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าและบริการของไทยจนเป็นที่ยอมรับด้านการสร้างสรรค์ในตลาดสากล”
นางสาวหัสยา ปรีชารัตน์ ผู้ได้รับรางวัล Best Design สาขาเครื่องแต่งกาย จากผลงานเดอะ เฟล็กซ์ชิลด์ เอลลิแกนซ์ ซีรี่ย์ (เชนน์) กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล DEmark ว่า “รางวัลนี้คือการเติมเต็มกำลังใจให้กับพวกเราในการพัฒนาการออกแบบผลงานต่อไป และหัสยาจะมุ่งมั่นสร้างเครื่องประดับที่มีอัญมณีเป็นของตัวเองให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลต่อไป”
นางสาวภควันทน์ สาระกิจ ผู้ได้รับรางวัล Best Design สาขาบรรจุภัณฑ์ จากผลงานละเอียดลออ กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล Demark ว่า “ขอบคุณคณะกรรมการที่มองเห็นในความละเอียด ความตั้งใจ และใส่ใจในงานดีไซน์ของแบรนด์เรา รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่เป็นกำลังใจขนาดใหญ่ให้กับพวกเราทุกคน”
อีกก้าวสำคัญของ DEmark ผลักดัน Soft Power ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่อนาคตที่ยั่งยืนในตลาดโลก
รางวัล DEmark ถือเป็นเวทีประชันฝีมือของบรรดานักออกแบบไทยที่จะคว้าโอกาสรับสิทธิ์ผ่านเข้ารอบสองรางวัล G-mark แบบอัตโนมัติทันที และสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมแสดงผลงานในงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติมากมาย ที่สำคัญช่วยเพิ่มสามารถแข่งขันทางการค้า ด้วยสร้างนักออกแบบหรือนักสร้างสรรค์ที่จะช่วยยกระดับสินค้าไทยไปสู่ระดับสากล ยิ่งกว่านั้นยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยได้เป็นอย่างดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงให้ความสำคัญกับคุณภาพการผลิต การใช้งาน และแนวความคิดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถสะท้อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากอัตลักษณ์ความเป็นไทยอันจะนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้านการออกแบบของประเทศไทย มาใช้ในการพิจารณารางวัลในปี 2567 ด้วย
ม.ล.ภาสกร อาภากร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “สำหรับรางวัล DEmark ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The Power of Sustainable Design: จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์อย่างยั่งยืน โดยมีการผสาน Soft Power ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีโลกด้วย อีกทั้งยังมีการปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัลขอบเขตผลงานให้มีความชัดเจน และให้น้ำหนัก แนวความคิดในการนำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ และปรับประเภทสาขารวมทั้งหมด 8 สาขาเพื่อให้ครอบคลุมผลงานการออกแบบที่มีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs / Micro Enterprise นักออกแบบรุ่นใหม่ สามารถมีส่วนร่วมในการสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดศักยภาพทางการแข่งขันเชิงรุกธุรกิจการส่งออกในวงกว้าง”
นายธีรยุทธ โพธิเดช ผู้ได้รับรางวัล Best Design สาขาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี จากผลงานควินตา กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล DEmark และแนวคิดในการออกแบบผลงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมว่า “การออกแบบผลงานของเรา ผสานการทำงานของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพัฒนาสินค้า ฝ่ายทำการวิจัยและพัฒนา ฝ่ายผลิต และฝ่ายห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด จนในที่สุดก็สำเร็จและคว้ารางวัลนี้มา ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ทีมงานของเราสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างชื่อเสียงให้กับคนไทยในระดับสากลต่อไป ”
นายถากูร เชาว์ภาษี ผู้ได้รับรางวัล Best Design สาขาไลฟ์สไตล์ จากผลงานไก่แก้บนรักษ์โลก กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล DEmark และแนวคิดในการนำเอาค่านิยมและความเชื่อของคนไทยมาใช้ในการออกแบบ ว่า “รางวัลนี้เป็นรางวัลที่อยากได้มาตั้งแต่สมัยเรียน เมื่อเรียนจบและสั่งสมประสบการณ์มากพอ จึงนำกระบวนการออกแบบที่เรียนมาแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่บริเวณวัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช ที่มีการนำของไก่ปูนปั้นแก้บนไอ้ไข่มาวางเต็มพื้นที่ จนเกิดเป็นของแก้บนรักษ์โลกที่ย่อยสลายได้ 100% ซึ่งตอบโจทย์และได้รับการตอบรับที่ดีจากคนไทยที่เป็นสายมูเตลู”
ก้าวต่อไปของ DEmark กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนา เฟ้นหา และกระตุ้นให้นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และนักออกแบบไทยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการไทยด้วยการออกแบบที่สอดคล้องกับกระแสความต้องการของตลาดโลก พร้อมเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารรางวัล DEmark ผ่านทาง Facebook page: DEmark Thailand และทางเว็บไซต์ www.demarkaward.net และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์