บริติช เคานซิล องค์กรนานาชาติที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ประกาศความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ Enabling Fund ที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ด้านการสอนภาษาอังกฤษและเครือข่ายระดับนานาชาติผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยไร้ข้อจำกัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะการสอน พร้อมเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกับเครือข่ายครูสอนภาษาอังกฤษทั่วโลก
โครงการ Enabling Fund ของบริติช เคานซิล ถูกพัฒนาขึ้นให้ตอบรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม สนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลและความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษของครูไทย โดยโครงการมีเป้าหมายผลักดันให้ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษได้เข้าถึงแพลตฟอร์ม Teaching English ซึ่งเป็นชุมชนเครือข่ายครูภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งความรู้ที่รวบรวมแหล่งข้อมูลการสอนภาษาอังกฤษ เช่นคอร์สอบรม (MOOC) Webinar กิจกรรมออนไลน์ งานวิจัย และบทความด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
มร.แดนนี ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า สหราชอาณาจักรมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน และส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วยการตอบสนองแนวทางการปฏิรูปการเรียนการสอน และการวัดระดับภาษาอังกฤษของประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งบริติช เคานซิล ได้เล็งเห็นคุณค่าของบุคลากรครูภาษาอังกฤษในประเทศไทย จึงได้จัดโครงการทุน Enabling Fund ซึ่งเปิดโอกาสให้เครือข่ายครู สมาคมหรือองค์กรด้านการสอนภาษาอังกฤษ ได้เข้าโครงการเพื่อสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ครูภาษาอังกฤษในเครือข่ายได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้จากแพลตฟอร์ม TeachingEnglish ในฐานะพื้นที่ที่จะเชื่อมต่อครูไทยกับชุมชนครูจากทั่วโลก ให้ครูนำความรู้ที่ได้จากกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น คอร์สอบรม เวิร์คช็อปออนไลน์ วารสารวิจัย เพื่อไปปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
นางศศิธร เจริญใจ ศึกษานิเทศก์ประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษา จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในผู้นำโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Enabling Fund กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของหน่วยงาน คือ การส่งเสริมการพัฒนาด้านวิชาการให้กับครูในเครือข่ายที่มีจำนวนรวมกว่า 400 คน ครอบคลุมโรงเรียนมัธยมศึกษากว่า 50 แห่ง โดยประเด็นความท้าทายที่พบบ่อย คือ การจัดหาเนื้อหาการอบรมให้ครอบคลุมกับความต้องการของครูที่มีหลากหลาย รวมไปถึงข้อจำกัดด้านการจัดสรรเวลาและงบประมาณสำหรับจัดอบรม ซึ่งในยุคดิจิทัลที่แหล่งข้อมูลความรู้มีอยู่มากมาย ครูหลายคนอยากพัฒนาตนเอง แต่ยังขาดแหล่งข้อมูลที่ตอบโจทย์ความต้องการ การได้เข้าถึงเว็บไซต์และกิจกรรมต่าง ๆ ของ TeachingEnglish จึงเป็นช่องทางที่เปิดโลกทัศน์ให้กับครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่ครูสามารถเลือกเรียน คอร์สที่ตนเองสนใจได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
การได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Enabling Fund ทำให้สามารถจัดกิจกรรมแนะนำให้ครูได้เข้าถึงแหล่งความรู้จาก TeachingEnglish ในวงกว้างมากขึน รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่อยอดจากหลักสูตรอบรม MOOCs หรือ Webinar มีวิทยากรพี่เลี้ยงทำการจัดประชุมออนไลน์กับครู ทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ในทุก ๆ เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้สะท้อนมุมมองความคิดและแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้จากเรียนรู้ นอกจากนี้เรายังวางแผนจัดงานสัมมนาวิชาการ (Symposium) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์แบบพบปะกัน เพื่อผลักดันให้ครูที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) มาร่วมแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ ในเครือข่ายครู นางศศิธร กล่าวเพิ่มเติม
นางลดาวัลย์ อูปแก้ว ครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในครูภายใต้เครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ Enabling Fund กล่าวว่า แพลตฟอร์ม TeachingEnglish เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่มีประโยชน์ และเหมาะกับครูสอนภาษาอังกฤษทุกคน มีเนื้อหาทันสมัย สามารถนำแผนการสอนและตัวอย่างกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีให้มาประยุกต์ใช้ได้จริงในชั้นเรียน รวมไปถึงยังเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้รับทราบถึงบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และครูแต่ละคนมีเทคนิควิธีการสอน และแก้ไขปัญหาในชั้นเรียนกันอย่างไรในยุคโลกปัจจุบัน
ทั้งนี้ โครงการ Enabling Fund ของบริติช เคานซิล ได้มอบทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการให้แก่เขตพื้นที่การศึกษา และสถาบันอาชีวะที่ผ่านการคัดเลือก และคาดว่าจะดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้นภายในมีนาคม 2568 โดยมีครูไทยในโครงการที่ลงทะเบียนไว้ในระบบได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรออนไลน์ประมาณ 1,000 คน สำหรับโครงการนำร่องในปีแรกนี้