เมื่อเร็วๆ นี้ Meta ได้จัดการแข่งขัน Meta AI Accelerator Pitchathon ประจำปี พ.ศ. 2567 ในประเทศไทย โดยเป็นการคัดเลือกข้อเสนอโครงการจากนักพัฒนาไทยทั่วประเทศที่มีการนำระบบเอไอ Llama (ลาม่า) มาใช้เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ภายในงานดังกล่าว ทีมนักพัฒนาไทย 3 ทีมที่เข้ารอบคัดเลือกจากทีมที่ส่งผลงานทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 28 ทีม ได้นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก Meta และหน่วยงานต่าง ๆ จากการแข่งขันรอบคัดเลือกนี้ ทีมผู้ชนะได้แก่ ทีม CARIVA (Thailand) Co., Ltd. ผู้นำเสนอโครงการพัฒนา Preceptor AI โดยนำเอไอ Llama เข้ามาใช้ในการช่วยให้การวินิจฉัยโรคหายากมีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าในด้านต้นทุนมากขึ้น โดยทีม CARIVA (Thailand) Co., Ltd. จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขัน Meta Llama Hackathon ที่ประเทศสิงคโปร์ กับผู้ที่ชนะการคัดเลือกจากประเทศอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อชิงเงินทุนสนับสนุนสูงสุดถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อสานต่อโครงการในการพัฒนาสังคมด้วยพลังของ AI (AI-powered Social Impact)
Meta AI Accelerator Pitchathon คืออะไร
Meta AI Accelerator Pitchathon เป็นเวทีการคัดเลือกข้อเสนอโครงการหรือผลงานจากนักพัฒนาชาวไทยที่มีการนำระบบเอไอ Llama (ลาม่า) ของ Meta เข้ามาใช้ โดยการแข่งขันนำเสนอโครงการนี้เป็นการแข่งขันในระดับประเทศเพื่อค้นหาตัวแทนจากประเทศไทย ไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์และชิงเงินทุนสนับสนุนสูงสุดถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยผลงานที่จะมีการนำเสนอในการแข่งขันนี้ได้ผ่านรอบคัดเลือกมาก่อนหน้านี้แล้ว และเป็นไปเพื่อสานต่อโครงการในการพัฒนาสังคมด้วยพลังของ AI (AI-powered Social Impact) ให้เกิดขึ้นจริง
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนด้าน AI อย่างต่อเนื่องของ Meta และความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมอีโคซิสเต็มของชุมชนนักพัฒนา AI ทั่วโลก หลังจากก่อนหน้านี้ Meta ได้ประกาศอัปเดตเวอร์ชันเอไอล่าสุด ได้แก่ ‘Llama 3.1’ (ลาม่า) ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้โมเดลประมวลผลด้วยภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) โดยปัจจุบัน Llama 3.1 ก็ได้มีการขยายการรองรับภาษาไทยแล้วและเป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาชาวไทยได้เข้าถึงระบบเอไอแบบโอเพนซอร์สที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน
ขั้นตอนการเข้าร่วมโปรแกรม AI Accelerator ประกอบด้วย
การส่งผลงาน: นักพัฒนาหรือหน่วยงานส่งหัวข้อโครงการที่นำ Meta Llama AI เข้ามาโดยมุ่งเน้นในการช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายทางสังคมหรือเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้ Meta ได้ประกาศรับหัวข้อโครงการจากนักพัฒนาชาวไทยในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
การคัดเลือกผลงาน: ผลงานทั้งหมดจะได้รับการประเมินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
การแข่งขัน: ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เป็นตัวแทนประเทศ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน Meta Llama Hackathon ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่าสูงสุดถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนาโครงการต่อไป
AI Accelerator Pitchathon ในครั้งนี้เป็นขั้นตอนการคัดเลือกผลงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมผู้เข้าแข่งขันจากแต่ละประเทศ นำเสนอโครงการในการพัฒนาสังคมที่ขับเคลื่อนด้วย Meta Llama AI ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะประเมินทั้งความเป็นไปได้ทางเทคนิค ผลกระทบเชิงบวกของโครงการ รวมถึงการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ
คณะกรรมการผู้ตัดสิน AI Accelerator Pitchathon ในประเทศไทยคือใคร
ในประเทศไทย ทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับการประเมินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยตัวแทนจาก Facebook ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (Electronic Transactions Development Agency หรือ ETDA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (Digital Economy Promotion Agency หรือ depa) และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (สปปท.) หรือ Artificial Intelligence Association of Thailand (AIAT) โดยผู้ตัดสินการแข่งขันซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ประกอบด้วย
คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปีในหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้คุณแพรมีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคม และให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ชุมชนในระดับท้องถิ่น
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด มีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากมาย รวมถึงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดย ดร.ศักดิ์เป็นผู้นำทีมในการขับเคลื่อนการพัฒนากลยุทธ์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance) ในระดับประเทศของประเทศไทย และให้คำปรึกษาแก่หลากหลายองค์กรในการปฏิรูปธุรกิจด้วยเทคโนโลยี AI
ดร.ชลิตดา มัธยมบุรุษ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) ดร.ชลิต ดาเป็นผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปีในการสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวกในฐานะนักวิชาการ โดย ดร.ชลิตดา มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาต่อผู้นำภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการต่อยอดเทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาการดำเนินงาน พร้อมลดความเสี่ยงในขณะเดียวกัน
ผศ. ดร.นริศ หนูหอม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน มหาวิทยาลัยมหิดล ความสนใจด้านการค้นคว้าวิจัยของ ดร.นริศ ครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ อาทิ เทคโนโลยี AI การเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) แมชชีนเลิร์นนิ่ง และเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (image processing) งานวิจัยชิ้นปัจจุบันของ
ดร.นริศ ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพทางการแพทย์ (medical imaging) AI ที่อธิบายได้ในการตรวจวิเคราะห์พยาธิวิทยาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยี Generative AI สำหรับการวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้ภาพทางการแพทย์
ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (Digital Economy Promotion Agency หรือ depa) ดร. จักกนิตต์ มีประสบการณ์การทำงานที่กว้างขวางทั้งกับองค์กรภายในและระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการพลังงานสะอาด
ทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากประเทศไทยคือใคร
ในการเข้าร่วมการคัดเลือกผลงานภายในงาน Pitchathon ผู้ร่วมสมัครจะต้องเสนอผลงานโครงการเพื่อพัฒนาสังคมในรูปแบบบุคคลหรือแบบทีม โดยจะผู้เข้าแข่งขันจะตัดสินผลงานจากวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงการด้วย Meta Llama ความสามารถในการลงมือสร้างสรรค์โซลูชันที่นำเสนอให้เป็นจริง และมีการร่วมมือกับธุรกิจ องค์กรไม่แสวงผลกำไร หรือสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่น่าเชื่อถือ ในฐานะสมาชิกผู้ดำเนินโครงการหรือไม่
3 ทีมผู้เข้าแข่งขันจากประเทศไทยที่ผ่านรอบคัดเลือกมาก่อนหน้านี้และได้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่
CARIVA (Thailand) Co., Ltd. พัฒนา PreceptorAI ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดจากโรคหายากในประเทศไทยด้วยการใช้ Meta Llama ในการสร้างสรรค์เครื่องมือในการวินิจฉัยและรักษาอาการที่มีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าในด้านต้นทุน เพื่อการใช้งานโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ โครงการที่นำ AI มาประยุกต์ใช้นี้จะช่วยแบ่งเบาภาระจากผู้เชี่ยวชาญด้านเวชพันธุศาสตร์ซึ่งมีจำนวนจำกัดในประเทศไทย และช่วยก้าวข้ามความท้าทายด้านการวินิจฉัยและรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การวินิจฉัยที่รวดเร็วทันท่วงทีมากขึ้น และผลลัพธ์ในการตรวจวินิจฉัยอาการคนไข้ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Robolingo Co., Ltd. ได้พัฒนาแชทบอท AI ที่มีชื่อว่า ZWIZ.AI เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยจำนวนกว่า 3 ล้านราย (และธุรกิจว่า 20 ล้านรายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่พึ่งพาการทำงานของเครื่องมือการส่งข้อความเชิงธุรกิจ (Business Messaging) เช่น Facebook Messenger, Instagram และ WhatsApp ในการสื่อสารกับลูกค้า โดยแชทบอทดังกล่าวจะช่วยจัดการข้อมูลด้านการสื่อสารและยอดขายด้วยระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถลดเวลาและต้นทุนลง อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความพึงพอใจของลูกค้าได้ในขณะเดียวกัน
Metamedia Technology Co., Ltd. มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากขาดความชำนาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษในประเทศไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคแก่ธุรกิจและคนไทยในการทำงานในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในตลาดแรงงานแล้วในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทีมจึงได้พัฒนา Longdo Dict บริการดิกชันนารีออนไลน์ที่สามารถสร้างสรรค์โปรแกรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน โดย AI Tutor ยังสามารถแนะนำคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่มาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น คำที่พบบ่อยหรือคำยอดนิยม พร้อมยกตัวอย่างประโยคและให้คำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ทีม CARIVA (Thailand) Co., Ltd. ทีมผู้ชนะการแข่งขัน Meta AI Accelerator Pitchathon ที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขัน Meta Llama Hackathon ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อชิงเงินทุนสนับสนุนสูงสุดถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ