เอบีม คอนซัลติ้ง ร่วมสนับสนุนงาน “NIKKEI Digital Forum in Asia” ซึ่งจัดโดย Nikkei Inc. และ Nikkei BP ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนายเคอิจิ โฮริเอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อเรื่อง ” Accelerating Thailand Decarbonization with Japanese Advanced Technology and Philosophy” ซึ่งมีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายดังนี้
ภาพรวมปัจจุบันของ Green Transformation (GX) ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยและญี่ปุ่น
ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา ด้วยมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยคาร์บอน และปูทางให้ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ส่งผลกระทบเชิงบวกให้เกิดการตื่นตัวเรื่อง GX ในอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการควบคุมก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ลงร้อยละ 50-52 เพื่อให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยก๊าซในปี พ.ศ. 2547 และให้สำเร็จได้ภายในปี 2573 ขณะที่ในยุโรปก็มีการผลักดันมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป และกำลังจะถูกนำมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปีพ.ศ. 2569 เป็นต้นไป ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มมีนำร่องมาตรการดังกล่าวมาใช้กับกลุ่มสินค้าบางชนิดแล้ว เช่น ซีเมนต์ อะลูมิเนียม และคาดว่าจะมีการขยายหมวดหมู่สินค้าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ในทางกลับกัน ประเทศจีนและอินเดียกำลังกำหนดนโยบายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ที่ภาครัฐและบริษัทองค์กรต่างๆ กำลังทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอน อย่างเช่นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีปริมาณกำลังการผลิตในปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโลก ซึ่งการสร้างความสมดุลตเรื่องดังกล่าวทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นเอง ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลานาน
โดยภาพรวมของสถานการณ์ในประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้น หากเรามองในแง่ของลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์ ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones : EEZ) หรือหมายถึงบริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้างไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ขณะที่ประเทศไทยกลับมีพื้นที่ทางด้านเกษตรกรรมจำนวนมาก แต่หากมองถึงความสามารถในการนำเอาพลังงานธรรมชาติมาใช้ ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีกำลังการติดตั้งและผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ต่อพื้นที่ค่อนข้างสูง หากแต่ปัจจุบันเริ่มมีการชะลอตัวลงในอุตสาหกรรม ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีพื้นที่ทางด้านเกษตรกรรมที่กว้างขวาง ที่ดูเหมือนว่าจะมีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ แต่ก็มีฤดูฝนที่ทำให้ยากต่อการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี จากที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ศักยภาพของการใช้พลังงานธรรมชาติจะแตกต่างกันไปอย่างมากขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์และอาณาเขตของแต่ละประเทศ
ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังมุ่งพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell: PSC ) โดยเล็งเห็นว่าอาจช่วยในการแก้ปัญหาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูฝนได้ เซลล์แสงอาทิตย์เพอรอฟสไกต์เป็นเซลล์แสงอาทิตย์รูปแบบหนึ่งที่มีโครงสร้างเป็นผลึกที่รู้จักกันในชื่อ Perovskite Structure มีประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานที่ใกล้เคียงกับเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้ซิลิกอนทั่วไปและเซลล์แสงอาทิตย์แบบผสมผสาน มีจุดเด่นที่น้ำหนักเบาและมีความยืดหยุ่น ทำให้สามารถติดตั้งบนผนังอาคารได้ ซึ่งแตกต่างจากการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดซิลิกอนเป็นทำได้ยากกว่า และบนหลังคาที่มีความสามารถในการรับน้ำหนักต่ำ และเนื่องจากสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในวันที่มีเมฆมาก รวมถึงมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell: PSC ) จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริม GX
สถานการณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและญี่ปุ่น
แม้ว่าภาพรวมพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกคือพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ในประเทศไทย พลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่กลับมาจากแหล่งพลังงานชีวมวล ซึ่งในญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนการใช้งานเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะและความพรั่งพร้อมด้วยทรัพยากรทางการเกษตรเพียงใด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพสำหรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์โดยการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell: PSC ) อีกด้วย
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สืบเนื่องจากพันธกิจในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนให้เกิดขึ้น โดยมีการกำหนดเป้าหมายระยะกลางให้สำเร็จได้ในปีพ.ศ. 2573 นั้น ได้มีการกำหนดเป้าหมายให้แหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนร้อยละ 36-38 โดยมีสัดส่วนตัวเลขเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2562
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ญี่ปุ่นจึงได้จัดทำ “กลยุทธ์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีพ.ศ. 2593 (Green Growth Strategy 2050)” ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม โดยได้กำหนด 14 ประเภทธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตภายใต้นโยบายการสนับสนุนดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้ออกร่างกฎหมายส่งเสริม GX เพื่อเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ประเมินมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านเยน (140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเป็นการเร่งสร้างนวัตกรรมในสาขา GX อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีนโยบายและแผนพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
(Carbon Neutrality) โดยกระทรวงพลังงาน ได้มีการแสดงกรอบแผนพลังงานแห่งชาติสำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอนระหว่างปี พ.ศ. 2608- 2613 เป้าหมายคือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 พิจารณาร่วมกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าผลักดันให้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” เกิดขึ้นจริง ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยโมเดลเศรษฐกิจดังกล่าวจะนำเอาไบโอเทคโนโลยีมาประยุกต์กับพืชผลทางการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอพลาสติก ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสิ่งที่ญี่ปุ่นสามารถเรียนรู้จากความพยายามของประเทศจีนในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตนเองเพื่อให้บรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจมอบโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคธุรกิจต่างๆ อีกด้วย
โครงการ AZEC (Asia Zero Emission Community) จากประเทศญี่ปุ่น
AZEC เป็นโครงการริเริ่มโดยประเทศญี่ปุ่น เพื่อรวมกลุ่มประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมี 11 ประเทศพันธมิตรเข้าร่วม โดยทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอย่างครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเพิ่มพูนศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดตัวโครงการริเริ่มถึง 3 โครงการด้วยกัน ได้แก่
1) โครงการส่งเสริมไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยในการประชุม COP28 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการตกลงร่วมกันที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่า และเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าภายในปีพ.ศ. 2573 แต่ก็ยังมีข้อขัดแย้งในบางประเด็นเกี่ยวเนื่องกับจุดยืนเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินในกลุ่มประเทศพันธมิตร AZEC ที่ปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงดังกล่าวอย่างมากอยู่ ดังนั้นนอกเหนือจากเรื่องส่งเสริมการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide Capture and Storage: CSS) แล้ว การเพิ่มศักยภาพให้กับโครงข่ายไฟฟ้า ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนทางพลังงาน และความร่วมมือในด้านนี้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ
2) โครงการส่งเสริมตลาดเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน โดยประเทศพันธมิตร AZEC รวมถึงประเทศไทย คาดว่าจะมีปริมาณยานยนต์ เครื่องบิน และเรือเพิ่มมากขึ้น ทำให้การเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการขนส่งมีความจำเป็นอย่างมาก โดยโครงการนี้มุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายการจัดหาพลังงานเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูมิภาคเอเชีย และศึกษาความเป็นไปได้ของพลังงานเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงเชื้อเพลิงชีวมวล โดยโครงการนี้อาจเป็นโครงการที่ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางด้านชีวมวลได้
3) โครงการริเริ่มเพื่อสร้างอุตสาหกรรมยุคใหม่ ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชีย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของ GDP เป็นอย่างมาก ดังนั้น การทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขนาดการลงทุนที่บริษัทแต่ละแห่งสามารถทำได้นั้นมีจำกัด จึงมีการหารือเกี่ยวกับวิธีการลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นกลาง
เอบีม คอนซัลติ้ง พร้อมให้การสนับสนุนด้าน GX ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วภูมิภาคเอเชีย
เอบีม คอนซัลติ้ง จับมือร่วมกับ Sumitomo Corporation ในฐานะพันธมิตรร่วมจัดตั้ง “GX Concierge” เพื่อให้บริการที่ปรึกษาในการส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทและองค์กรสามารถตอบสนองต่อประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการ GX ในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ผ่านบริการที่หลากหลายตั้งแต่การวางกรอบความคิด (Conceptualization) ไปจนถึงโซลูชันที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับวาระต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการส่งเสริม GX โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ ด้านการจัดหาพลังงาน ด้านอุปสงค์ของผู้บริโภค และการสร้างแบบจำลองอุปสงค์และอุปทานใหม่สำหรับพลังงานหมุนเวียน
ล่าสุดด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น-อาเซียน หรือ AMEICC เอบีม คอนซัลติ้ง ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรองค์กรเพื่อส่งเสริม GX และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงการจับคู่ธุรกิจกับสถาบันการเงินและผู้จำหน่ายโซลูชัน ในอนาคต การลงทุนในโรงงานพลังงานหมุนเวียนและสิ่งอำนวยความสะดวกในการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดตลาดพลังงานที่หลากหลาย ในฐานะประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้าทายเดียวกันในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เอบีม คอนซัลติ้ง หวังว่ากรณีศึกษาและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นจะถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้าน GX ได้อย่างสูงสุดและยั่งยืน