อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลังหรือ Power electronics เป็นสองอุตสาหกรรมที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากการเป็นซัพพลายเชนสำคัญที่เชื่อมโยงทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ของภาคเอกชน อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอีกเป็นจำนวนมากตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงจัดงานสัมมนา Supply Chain “จัดร้าน เรียกทรัพย์ ปรับฮวงจุ้ย” โดยมีนักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มาวิเคราะห์สถานการณ์และการปรับตัวของสองอุตสาหกรรม รวมถึงการบรรยาย ฮวงจุ้ย ปลุกพลังธุรกิจ SME ให้ปัง โดย กูรูฮวงจุ้ยชื่อดัง “หมอช้าง ทศพร ศรีตุลา” ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งจังหวัดลงทุนสำคัญในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ไทยพาณิชย์ชี้ก่อสร้าง-อิเล็กฯ ตะวันออกรับโอกาสโตจากวัฏจักรการลงทุนภาครัฐ-ท่องเที่ยวบูม
นางสาวกนกวรรณ ใจศรี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน SME Upcountry 1 ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับกลุ่มซัพพลายเชนในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกนั้น ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสเติบโตสูงจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยที่การแข่งขันทางธุรกิจสูง เจ้าของธุรกิจหรือร้านค้าซัพพลายเชน ต้องบริหารธุรกิจ วิเคราะห์ข้อมูล อัพเดทความรู้ด้านเศรษฐกิจ บริหารต้นทุน ผนึกกำลังกับพันธมิตร รวมถึงการจัดหน้าร้านตามหลักฮวงจุ้ยให้ดึงดูดลูกค้า และน่าสนใจ จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พร้อมนำความรู้ในแง่มุมต่างๆ และโซลูชั่นทางการเงินเพื่อตอบโจทย์การแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการรับมือกับความท้าทาย สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
แนะผู้ประกอบการก่อสร้าง ผนึกพันธมิตร บริหารต้นทุน รับมือแนวโน้มค่าแรง – วัสดุก่อสร้าง พุ่ง
นางสาวกัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก SCB EIC ระบุว่า SCB EIC คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างในส่วนโครงการภาครัฐ ในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นแรงส่งต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ที่คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างในส่วนโครงการภาครัฐ จะมีมูลค่าอยู่ที่ 8.2 แสนล้านบาท ขยายตัว 3% เมื่อเทียบกับปี 2567 จากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 และโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการที่คาดว่าจะเปิดประมูลใหม่ และโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากในอดีต
ในส่วนโครงการภาคเอกชน ปี 2568 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 6.1 แสนล้านบาท ขยายตัว 1% เมื่อเทียบกับปี 2567 โดยมีปัจจัยหนุนจากการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ได้แก่ พื้นที่ค้าปลีก และอาคารสำนักงานให้เช่า ที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่และปรับปรุงใหม่ค่อนข้างมาก ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยว ขณะที่การก่อสร้างอสังหาฯประเภทที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มชะลอตัว
“ผู้รับเหมาในอุตสาหกรรมก่อสร้างจึงควรเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ ด้วยการผนึกพันธมิตรทางธุรกิจเข้าประมูลโครงการรัฐและเอกชน เพื่อบริหารความเสี่ยง ขณะเดียวกันจะต้องยืดหยุ่นในการจัดพอร์ตระหว่างโครงการรัฐและเอกชน อีกทั้งยังต้องบริหารต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอาจนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานพื้นฐานบางส่วน เพื่อรักษาอัตรากำไร ขณะที่ผู้ผลิตและผู้ค้าวัสดุก่อสร้างควรกระจายความเสี่ยงนำเข้าวัตถุดิบ หรือวัสดุก่อสร้างจากหลายแหล่ง ไปพร้อมกับการคัดสรรสินค้าที่ได้มาตรฐาน และดูแลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และเอกชน เริ่มกำหนดกติกาการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
“อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว” โอกาสที่ผู้ประกอบการห่วงโซ่นี้ต้องเร่งปรับตัว
นางสาวจิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์ SCB EIC กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลังหรือ Power electronics ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับปี 2567 เป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและก่อสร้างโรงไฟฟ้าในตลาดโลกและอาเซียน ขณะที่ตลาดในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวจากการก่อสร้างโครงการภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่น่าจับตา คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ซึ่งอาจกระทบต่อความต้องการสินค้าในหมวดนี้
“สินค้าแผงสวิตช์ หม้อแปลงไฟฟ้า ปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เพราะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในสหรัฐ ขณะที่ส่งออกไปจีนอาจแผ่วลงจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว ขณะที่สายไฟ สายเคเบิล ปีหน้าจะขยายตัวได้ราว 2% เนื่องจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานสะอาด ส่วนประเทศในกลุ่ม CLMV มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ด้านแนวโน้มในระยะกลางคาดว่าขยายตัวจากการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ความต้องการสายไฟ สายเคเบิลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น”
โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลังหรือ Power electronics ที่น่าจับตามอง คือ กระแสอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว ทำให้เกิดความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงไปกับเทรนด์รักษ์โลก การเติบโตของเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด และดาต้าเซ็นเตอร์ ประกอบกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต โดยมีไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย ขณะที่สินค้าหม้อแปลง และเซมิคอนดักเตอร์ สายไฟ ของไทย เริ่มเกาะไปกับกระแสโลกแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลังหรือ Power electronics จึงควรวางกลยุทธ์ปรับตัวหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม มีการพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเพื่อเกาะไปกับกระแสอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง รับการเปลี่ยนผ่านด้านการผลิตและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต
“หมอช้าง” เผยเทคนิคจัดร้านดึงลูกค้าเพิ่มยอดขายให้ปัง ด้วยศาสตร์ฮวงจุ้ย
ในการบรรยาย ฮวงจุ้ย ปลุกพลังธุรกิจ SME ให้ปัง โดยกูรูฮวงจุ้ยชื่อดัง “หมอช้าง ทศพร ศรีตุลา” ชี้ว่า กฎข้อแรกของฮวงจุ้ยคือ ความสมดุลกลมกลืนของพลังงานรอบตัว (พลังชี่) กับสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือสำนักงาน เมื่อเกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้อยู่อาศัยย่อมมีกายใจที่ดี สร้างสรรค์โอกาสที่ดีให้กับตัวเองและโอกาสที่ดีทางธุรกิจตามมา โดยจุดโฟกัสสำคัญ คือ ประตูบ้าน หรือประตูสำนักงาน ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง และเมื่อเปิดประตูแล้วพลังงานจะต้องไม่ทะลุออก ดังนั้น ประตูหน้าบ้านไม่ควรตรงกับประตูหลังบ้าน เช่นเดียวกับตู้เซฟไม่ควรตรงกับประตู
อย่างไรก็ตาม ฮวงจุ้ยที่ดียังมีความแตกต่างกัน ตามแต่ประเภทธุรกิจ เช่น ทางสามแพร่ง มองว่าเป็นฮวงจุ้ยที่ไม่ดี อยู่อาศัยแล้วจะเกิดปัญหา เจ็บป่วย มีคดีความ แต่กลับเป็นฮวงจุ้ยที่ดีสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล สำนักงานกฎหมาย คลินิก เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลังหรือ Power electronics ในช่วงที่เหลือของปี ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เตือนให้ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวรับมืออย่างทันท่วงที ทั้งการบริหารจัดการองค์กรตามสถานการณ์ และศาสตร์ฮวงจุ้ย เพื่อสร้างสมดุลสภาพแวดล้อม สร้างโอกาสทางธุรกิจ