นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE รับรางวัล UN Women 2024 Asia-Pacific WEPs Awards รองชนะเลิศอันดับสอง สาขาผู้นำองค์กรที่สนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศ (Leadership Commitment and Action) ในงาน The UN Women 2024 Asia-Pacific WEPs Awards Regional Ceremony ซึ่งรางวัลสาขานี้ ยกย่องผู้นำในองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดพันธะสัญญาที่แข็งแกร่งขององค์กร รวมถึงนโยบายที่ก้าวหน้า กฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในที่ทำงาน ตลาด หรือชุมชน รวมถึงผู้นำของบริษัทที่มีบทบาทและความรับผิดชอบเฉพาะในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภายในบริษัท และการให้ความมุ่งมั่นหรือสื่อสารการตระหนักถึงบทบาทของทุกเพศต่อสาธารณะ ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเซ็ปเป้ บริหารองค์กรตามแนวทางความยั่งยืนทุกมิติ ให้การสนับสนุนความเท่าเทียมทั้งในองค์กรและตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเชื่อว่าการสร้างการเติบโตของธุรกิจสามารถสร้างสังคมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนร่วมกันได้ ดังปณิธานขององค์กรที่ว่า “เราจะทำให้ชีวิติของผู้คนดีขึ้น ผ่านจิตวิญญาณที่สร้างสรรค์ของเรา” ซึ่งเป็นแนวทางที่สะท้อนการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
งานประกาศรางวัล WEPs Awards ประจำปี 2567 ที่ UN Women จัดขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) รัฐบาลออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้ร่วมจัดกับองค์กรภาคีที่สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในไทย ได้แก่ องค์กร Advantage Austria Bangkok สมาคมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปี ได้มอบรางวัลให้แก่ 18 องค์กรธุรกิจในไทย ที่ส่งผลงานและแนวทางการดำเนินกิจการโดดเด่นในด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในทุกส่วนของห่วงโซ่คุณค่า โดยปีนี้ทาง UN Women ได้รับใบสมัครทั้งสิ้น 64 ใบจากองค์กรธุรกิจทั่วประเทศไทย โดยมีตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
คริสติน อาหรับ ผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวว่า “รางวัล WEPs Awards ไม่ได้เป็นเพียงการยกย่องแนวทางการดำเนินธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นทั้งแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ ซัพพลายเออร์ พนักงาน ลูกค้า และผู้ประกอบการคนอื่น ๆ ในอนาคต ที่ต้องการขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างความยืดหยุ่นให้แก่องค์กร พร้อมผลักดันเศรษฐกิจไทยและประเทศต่าง ๆ ให้เดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ในประเทศไทยเอง สัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารและ CEO อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก สิ่งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลและภาคเอกชนในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังให้แก่ผู้หญิง”
เครือข่าย Women’s Empowerment Principles (WEPs) มีบริษัทจากทั่วโลกมากกว่า 10,000 องค์กรเข้าร่วมแล้ว เพื่อนำแนวทางและหลักการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงไปปรับใช้และพัฒนาสถานที่ทำงาน ตลาด และชุมชน ในประเทศไทยมีบริษัทจากทุกขนาดเข้าร่วมเครือข่ายธุรกิจนี้แล้วกว่า 150 องค์กร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มโอกาสที่เท่าเทียม สร้างความร่วมมือและค้นหาโซลูชั่นที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อผลักดันความก้าวหน้าในด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ยกระดับความรับผิดชอบขององค์กร และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนทั้งในประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกแปซิฟิก