เปิดอินไซต์ผู้บริโภคยุค ‘วิกฤติซ้อนวิกฤติ’ ขอใช้ชีวิต ‘ให้มีความสุขวันต่อวัน’ พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โลกเกิด วิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของ COVID-19, สงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น, การแบ่งขั้วอำนาจของโลก และภัยพิบัติต่าง ๆ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจโดย อิปซอสส์ จะแสดงให้เห็นว่าคนทั่วโลก หันมาสนใจความสุขตัวเอง มากกว่าสนใจเรื่องอื่น ๆ ที่ควบคุมไม่ได้

เลิกหวังอนาคต ขอแค่มีความสุขวันต่อวัน

บริษัท อิปซอสส์ จำกัด (Ipsos Ltd.) เปิดเผยผลการศึกษาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนจำนวนกว่า 50,000 คนใน 50 ประเทศ คิดเป็น 74% ของประชากรโลก และ 90% ของ GDP โลก โดยในส่วนของประเทศไทย เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 20- 74 ปี 1,000 คน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน 2567

จากการสำรวจพบว่า วิวัฒนาการของผู้บริโภคที่มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยผู้บริโภคเริ่มหันมา สนใจความสุขของตัวเอง ณ ปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็น อันดับสูงสุดในบรรดา 50 ประเทศที่สำรวจ คิดเป็นสัดส่วนถึง 72% เลือกใช้ชีวิตให้มีความสุขในวันนี้ พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน และ 84% มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ 66% และ 68% ตามลำดับ

ที่น่าสนใจ 65% ของคนไทยชอบซื้อสินค้าหรือประสบการณ์ที่คิดว่าจะทำให้พวกเขาดูดีในรูปที่โพสต์ออนไลน์ เพราะคน ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเอง ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน และเลือกที่จะพึ่งพาตัวเองมากขึ้น และบางคนก็เลือกที่จะหลีกหนีความวุ่นวายบนโลกแห่งความจริง ไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงแทน

“ตอนนี้คนมองว่าอนาคตควบคุมยากเลยอยากใช้จ่ายเพื่อเติมเต็มความสุขให้ตัวเอง ไม่ว่าจะมีกำลังหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะในเรื่องภาพลักษณ์ ที่ไม่อยากดูดีแค่ความเป็นจริงหรือบนโซเชียลฯ แต่รวมถึงเวอร์ชวลก็อยากมีคาแรกเตอร์ดังนั้น แบรนด์ต้องเติมเต็มความสุข แปลว่าแทบทุกกลุ่มสินค้าได้ประโยชน์เกือบหมด แต่กลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ Nano Finance ดังนั้น จะเห็นการเติบโตของการ Shop now pay later”  อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด

เชื่อรีวิวมากกว่าแบรนด์หรือผู้เชี่ยวชาญ

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคเริ่มหันมา เชื่อตนเองหรือแวดวงออนไลน์ของตนเอง มากกว่าที่จะเชื่อแบรนด์หรือผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น อินฟลูเอนเซอร์ ยังคงมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทั้งทางกายภาพและโลกเสมือน โดยที่ 58% ของผู้บริโภคคนไทยมักซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยอิงจากอินฟลูเอนเซอร์ที่เขาชื่นชอบ และติดตามบน โซเชียล มีเดีย เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยเพียง 44% ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย 84% ต้องการควบคุมการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของพวกเขามากขึ้น และ 82% มักจะพยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองอยู่เสมอ แทนที่จะอาศัยเพียงสิ่งที่แพทย์บอก

คนไทยตื่นตัวเอไอ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อม

คนไทยตื่นตัวกับ AI มาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เป็น อันดับสามของโลก รองจากจีนและอินโดนีเซีย โดยผู้บริโภคชาวไทย 73% กล่าวว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างมากในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา และคนไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อ AI หลายคนเชื่อว่า AI จะเข้ามาปรับปรุงในด้านต่าง ๆ ให้ดี ขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในด้านความบันเทิงและการประหยัดเวลา

แม้ว่าผู้บริโภคต้องการความสะดวก รวดเร็ว ว่องไว ผู้คนยังคงมองหาปฏิสัมพันธ์กับ มนุษย์ ชอบการบริการจากคน มากกว่าจากแชทบอท โดย 73% ของคนไทยรู้สึกว่าการบริการลูกค้า (Customer Service) ถูกปรับให้เป็น ระบบอัตโนมัติมากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomers) เป็นกลุ่มที่คิดเช่นนี้มากที่สุด (81%) เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น ๆ – Gen X (75%), Millennials (74%), Gen Z (66%)

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยจะต้องให้ ประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อและน่าจดจำ เพราะคนไทย 55% รู้สึกว่า บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถส่งมอบประสบการณ์ได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ และ 74% พร้อมที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่า ดังนั้น แบรนด์ต้องเข้าอกเข้าใจและสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์

คนไทย 73% มองว่า เอไอมาเปลี่ยนชีวิต แต่ส่วนใหญ่ใช้ในเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ ส่วนองค์กรบางครั้งเรามองเอไอเพื่อลดภาระบริษัท แต่มีเส้นบาง ๆ ในการผลักภาระให้คอนซูมเมอร์ ดังนั้น การใช้เอไออาจกลายเป็น Pain point ของคอนซูมเมอร์ได้ เช่น บริการคอลเซ็นเตอร์

เข้าใจเสียความส่วนตัว แต่ยังกลัวการใช้ข้อมูลของแบรนด์

82% ของคนไทยเข้าใจว่าการที่จะสูญเสียความเป็นส่วนตัวในอนาคตจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ 81% ยังคงมีความกังวลว่าข้อมูล ส่วนตัวที่บริษัทต่าง ๆ เก็บรวบรวมเกี่ยวกับพวกเขาจากโลกออนไลน์นั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไร โดยโดยกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ กังวลสูงสุด ในอัตรา 87% ตามมาด้วย Gen X 84% Millennials 77% และ Gen Z 81%

ลูกค้าส่วนใหญ่รู้ว่าต้องเสียข้อมูลส่วนตัว แต่รู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ ทำได้แต่ต้องเชื่อมั่นแบรนด์ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามมีข่าวว่าถูกแฮก ตัวองค์กรและผู้บริหารก็โดนลดความเชื่อถือ เมื่อความน่าเชื่อถือลดลง ก็จะกระทบกับความยั่งยืน

โลกร้อนสำคัญ แต่ความเหลื่อมล้ำสำคัญกว่า

ในเรื่องของ Sustainability หรือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 อันดับแรกที่คนไทยเลือกให้ภาครัฐ หรือองค์กรโฟกัสมากที่สุด คือ

  1. การยุติความยากจน และการลดความเหลื่อมล้ำ
  2. การศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสำหรับทุกคน
  3. การจ้าง งานเต็มที่และมีประสิทธิผล และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเด็น ESG ที่คนไทยให้ ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ล้วนอยู่ในหมวด Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) มากกว่าในหมวด Environment (สิ่งแวดล้อม) เพราะคนไทย 89% มองว่า เขาได้ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว และ 79% คิดว่าบริษัทต่าง ๆ ไม่ใส่ใจ สิ่งแวดล้อมมากพอ และ 87% ของคนไทยเชื่อว่าแบรนด์สามารถสร้างรายได้ไปพร้อม ๆ กับทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมได้

“ถ้าเป็นฝั่งยุโรปที่ความเหลื่อมล้ำไม่ได้สูง ก็จะให้ความสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ในเอเชียความเห็นจะเทไปทางสังคมมากกว่า แต่เข้าใจว่าที่แบรนด์ทำเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะมันจับต้องได้”

แนะ 3 Be สำหรับแบรนด์

จากเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ดังนั้น แบรนด์จึงควรที่จะเตรียมพร้อมอยู่เสมอ และ มีหลัก 3 Be เป็นที่ตั้ง ได้แก่

  1. Be Informed หรือ การตระหนักและเข้าถึงความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่เสมอ
  2. Be Active หรือ การตอบสนองของแบรนด์ที่รวดเร็วต่อเทรนด์ พฤติกรรม หรือ เทคโนโลยีใหม่ๆ
  3. Be Inclusive ซึ่งหมายถึง การย้อนกลับมามองกลุ่มผู้บริโภคหลัก และ ปรับระดับการนำเทคโนโลยี มาใช้ให้เหมาะกับผู้บริโภคของตน เพราะถ้ากลุ่มผู้บริโภคหลัก ไม่สามารถตามทันเทคโนโลยีที่แบรนด์ นำมาใช้ได้ ความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์อาจจะลดลงได้