สภาโรงงานของบริษัท โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เสนอแผนต่อสภาฯ ในการพิจารณาการลดค่าจ้างและการเลิกจ้างในภาพรวม 10% รวมถึงแผนการลดรายจ่ายอื่น เช่น การระงับขึ้นเงินเดือนในปี 2025-2026 เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะมีคนงานถูกลดค่าจ้างประมาณ 18% ในช่วงเวลาดังกล่าว
Daniela Cavallo ประธานสภาแรงงาน และกรรมการฝ่ายกำกับดูแลของบริษัทโฟล์คสวาเกน กล่าวว่า การปรับองค์กรในครั้งนี้หมายถึงการนําผลิตภัณฑ์ ปริมาณ กะงาน และไลน์ผลิตในส่วนงานการประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดออกไปมากกว่าที่เคยปรับโครงสร้างองค์กรมา
เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ส่วนต่างของกำไรถึง 2 ครั้งในเวลาไม่ถึง 3 เดือน เนื่องจากผลการ ดําเนินงานที่ลดลงเกินกว่าที่คาดไว้จากแผนกรถยนต์ส่วนบุคคล และในเดือนกันยายน บริษัทฯ ได้แจ้งเตือนพนักงานเกี่ยวกับการปิดโรงงาน และการยกเลิกข้อตกลงแรงงานจํานวนมาก รวมถึงข้อตกลงกับพนักงานที่มีตําแหน่งผู้เชี่ยวชาญหรือตําแหน่งหัวหน้างาน คนงานชั่วคราว และพนักงานฝึกงาน
ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ให้การคุ้มครองแรงงานชาวเยอรมันมาตั้งแต่ปี 1994 ส่งผลให้พนักงานนับหมื่นคนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงาน โดยมาตรการลดรายจ่ายครั้งใหญ่นี้ เกิดขึ้นหลังจากที่การเจรจากับสหภาพแรงงานก่อนหน้านี้ไม่มีความคืบหน้า ทำให้ต้องมีการปรับองค์กรเพื่อให้บริษัทอยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรงจากสภาโรงงานและสหภาพแรงงานชั้นนําของเยอรมัน
ด้าน Thomas Schäfer ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Volkswagen Passenger Cars ระบุเพิ่มเติมว่า โฟล์คสวาเกนมีแผนที่จะปิดโรงงาน 3 แห่งและลดขนาดโรงงานอื่นๆ ในเยอรมนี เนื่องจากธุรกิจไม่ได้รับรายได้เพียงพอจากการขายรถยนต์ ในขณะที่ต้นทุนพลังงาน วัสดุ และแรงงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรงงานของเยอรมันมี ประสิทธิผลไม่เพียงพอและมีราคาแพงกว่า เมื่อเทียบกับเป้าหมายของโฟล์คสวาเกนและต้นทุนค่าใช้จ่ายของคู่แข่งที่ลดน้อยลง
นอกจากนั้นสภาโรงงานยังเผยว่า ฝ่ายบริหารของโฟล์คสวาเกนได้นําเสนอแผนหารืออย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับข้อตกลงแรงงานแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งวาระการประชุม โดยการเจรจารอบต่อไปจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 30 ต.ค. พร้อมกับกําหนดจะเผยแพร่ผลประกอบการรายไตรมาสล่าสุดของบริษัทฯ หลังจากที่เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา หุ้นของบริษัทปิดตลาดลดลง 0.46%
ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันและยุโรปรายอื่น ๆ ก็กำลังเร่งปรับตัวเช่นเดียวกับ โฟล์คสวาเกน ที่กําลังดิ้นรนเอาตัวรอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวลง
ที่มา : CNBC