รู้จัก “เมดิเอเตอร์” ผู้พัฒนา “TJRI” โครงการสื่อกลางเพื่อช่วยเชื่อมสัมพันธ์ “นักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น”


ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเมืองไทยมากถึง 6,000 บริษัท แต่มีบริษัทจากแดนปลาดิบที่เปิดประตูร่วมลงทุนกับบริษัทไทยน้อยมาก แม้นักธุรกิจไทยรุ่นใหม่จะมีศักยภาพสูงและพร้อมจะพัฒนาร่วมกันให้ประเทศไทยเป็นมากกว่าเพียงแค่ ‘ฐานผลิต’ ซึ่งแนวคิดตั้งต้นดังนี้ทำให้ “กันตธร วรรณวสุ” ผู้ก่อตั้ง “เมดิเอเตอร์” เลือกจะเปิดโครงการพิเศษ​ “TJRI” เพื่อมุ่งเป้าเป็นตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์ให้นักธุรกิจไทยกับญี่ปุ่นได้เจอกันและต่อยอดธุรกิจให้แน่นแฟ้นมากกว่าที่เคย

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยคือ ‘ยุคโชติช่วงชัชวาล’ ของไทยเมื่อ 30-40 ปีก่อน ที่มีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและอนุญาตให้คนญี่ปุ่นตั้งบริษัทโดยคนญี่ปุ่นถือหุ้น 100% ไม่ต้องมีคนไทยร่วมด้วย ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงเหมือนทำงานเฉพาะแต่กับคนญี่ปุ่นด้วยกันเองเท่านั้น” กันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด ฉายภาพถึงบริบทของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยตั้งแต่ยุคอดีต

“ประกอบกับทั้งสังคมญี่ปุ่นและสังคมไทยต่างก็เป็นสังคม ‘High Context’ หรือสังคมที่มีลักษณะการเจรจาแบบอ้อมค้อม ไม่พูดตรงๆ ทำให้สุดท้ายคนญี่ปุ่นกับคนไทยที่อยู่คนละองค์กรกันจะไม่ค่อยมีการสร้างความสัมพันธ์และทำงานร่วมกันเลย”

กันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด

เหตุที่กันตธรมองทะลุปรุโปร่งว่าวัฒนธรรมคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไรนั้น เป็นเพราะตัวเขามีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 ปี และได้ทำงานในญี่ปุ่นต่ออีก 5 ปี เมื่อกลับมาประเทศไทยจึงเลือกทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนญี่ปุ่น ด้วยการก่อตั้งบริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด เมื่อปี 2552 โดยเริ่มแรกทำธุรกิจรับบริหารจัดการอีเวนต์ นิทรรศการ งานสัมมนา ฯลฯ ตามที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นในไทย เช่น JETRO (องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น) และ JNTO (องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น)

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องทำงานและประสานงานกับชาวญี่ปุ่นในไทยมาถึงปัจจุบัน กันตธรกล่าวว่า ตัวเขาเริ่มเห็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของบริบทธุรกิจในประเทศไทย เพราะในอดีตไทยอาจจะเป็นเพียง ‘ฐานผลิต’ ให้กับบริษัทญี่ปุ่น ดังนั้นการเก็บตัวอยู่เฉพาะในสังคมญี่ปุ่นจึงอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่วันนี้เมื่อไทยกำลังจะเสียศักยภาพการเป็นฐานผลิตต้นทุนต่ำให้กับประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย หากความสัมพันธ์ของบริษัทญี่ปุ่นกับคนไทยไม่ได้แน่นแฟ้นและเป็นมากกว่าฐานผลิต อนาคตอาจเห็นการย้ายออกของบริษัทญี่ปุ่นไปจากประเทศไทยก็ได้!

ในขณะเดียวกัน กันตธรมองว่า อันที่จริงแล้วนักธุรกิจและผู้บริหารคนไทยยุคนี้มีความสามารถสูงขึ้นมาก มีทายาทธุรกิจมากมายที่ ‘โปรไฟล์ดี จบนอก วิสัยทัศน์ไกล’ ซึ่งน่าเสียดายหากนายญี่ปุ่นมองไม่เห็นโอกาสที่จะได้สร้างสัมพันธ์และต่อยอดธุรกิจร่วมกัน

นั่นจึงเป็นเหตุผลและที่มาที่ทำให้กันตธรเริ่มต้นโครงการ “TJRI” หรือ “Thai-Japanese Investment Research Institute” ขึ้น มุ่งหมายจะเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจของคนไทยและคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ


พีระมิด 5 ขั้นสร้างสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

กันตธรกล่าวว่า โครงการ TJRI นี้ต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ตั้งแต่รากฐาน การทำงานเพื่อส่งเสริมสัมพันธ์จึงจะต้องทำงานเป็นพีระมิด 5 ขั้น จากหน่วยเล็กไปหาหน่วยใหญ่ คือ

  1. Business Matching – จับคู่ทางธุรกิจระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน
  2. Thai Localization – ทำให้บริษัทญี่ปุ่นที่เริ่มสร้างฐานในไทยแล้วสามารถปรับตัวเข้ากับเมืองไทยได้ และส่งเสริมให้คนไทยได้เลื่อนขั้นเป็นระดับผู้บริหารในองค์กรญี่ปุ่น
  3. B2B Marketing – ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์กับบริษัทญี่ปุ่นให้เลือกมาลงทุนที่เมืองไทย
  4. Exhibition & Conference – จัดสัมมนาและการประชุมในกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นเพื่อให้หันมาสนใจประเทศไทย
  5. Media Management – ส่งบทความและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในไทยไปปรากฏบนหน้าสื่อ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยและคนไทยให้กับคนญี่ปุ่น

หลังตั้ง TJRI ขึ้น มีหลายโปรเจ็กต์ที่ได้จัดสำเร็จลุล่วงไปแล้ว เช่น กิจกรรมพานักธุรกิจญี่ปุ่นทัวร์โรงงานและบริษัทไทย นำสตาร์ทอัพญี่ปุ่นเข้าร่วมเวที Talk Stage ในงาน Sustainability Expo 2023 หรือการจัดงานสัมมนาเปิดให้บริษัทไทยเล่าความต้องการทางธุรกิจและโอกาสสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชาวญี่ปุ่น เป็นต้น

ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ มีหลายบริษัทที่มีชื่อเสียงในไทยเคยเข้าร่วมกับโครงการ TJRI เช่น PTT, C.P. Group, SCG, กลุ่มมิตรผล, อิชิตัน กรุ๊ป, เซ็นทรัลพัฒนา ส่วนบริษัทญี่ปุ่นก็มีหลายรายที่ร่วมเป็นสมาชิก TJRI แล้ว เช่น Denso, Marubeni, Misumi, Sanyo Trading Group, Itochu, Sumitomo Corporation Thailand ฯลฯ

ด้านการสร้างรากฐานความเข้าใจคนไทยในสื่อ กันตธรกล่าวว่า TJRI ได้ลงบทความภาษาญี่ปุ่นไปแล้วมากมาย โดยส่วนใหญ่จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีและเป็นที่ฮือฮา เพราะบทความที่ลงมักจะเลือกหัวข้อที่คนญี่ปุ่นมักจะ ‘ไม่กล้าพูด’ กันเอง เช่น ข่าวการจัดอันดับ Top 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่ชาวไทยอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดปี 2024 ที่จัดโดย WorkVenture ปรากฏว่า มีบริษัทญี่ปุ่นแค่ 3 แห่งเท่านั้นในลิสต์ คือ LINE, Toyota และ Unicharm ซึ่งความจริงข้อนี้ทำให้คนญี่ปุ่นตกใจมากที่บริษัทญี่ปุ่นไม่ได้เป็นที่นิยมในกลุ่มคนทำงานไทยอีกแล้ว และกลายเป็นบริษัทใหญ่ของไทยเองที่ครองใจคนรุ่นใหม่จำนวนมาก

“เราอยากให้คนญี่ปุ่นมองไทยใหม่ว่า เราไม่ใช่แค่ฐานผลิตเฉย ๆ แต่อยากให้เขามองว่าจะมาร่วมงานกับคนไทยเพื่อสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ สื่อสารจุดแข็งของไทยเราว่าสามารถเป็นสปริงบอร์ดออกไปในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ได้ด้วย” กันตธรกล่าว “นอกจากนี้ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ประเทศไทยต่อยอดร่วมกับญี่ปุ่นได้ เช่น ด้านเกษตรกรรม ถ้าร่วมกับนวัตกรรมจากญี่ปุ่น เราอาจจะต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมไบโอเทค ยา หรืออาหารได้อีกมาก”


“THAIBIZ” นิตยสารธุรกิจภาษาญี่ปุ่นฝีมือคนไทย

สำหรับการสร้างฐานพีระมิดที่จะพัฒนาความเข้าใจของคนญี่ปุ่นต่อสังคมธุรกิจไทยนั้น กันตธรมองว่า แค่ลงบทความในสื่ออื่นยังไม่พอ แต่ต้องมีสื่อเป็นของตนเองด้วย ทำให้บริษัทตัดสินใจเทกโอเวอร์นิตยสารภาษาญี่ปุ่น “ArayZ” ซึ่งดำเนินการในไทยมานานถึง 10 ปี นำมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “THAIBIZ” และปรับแนวทางเป็นนิตยสารเพื่อสื่อสารเรื่องธุรกิจ-เศรษฐกิจเป็นหลัก

โดยเรื่องราวที่ลงในนิตยสารจะมีทั้งเรื่องของบริษัท/ผู้บริหารญี่ปุ่นในไทย เช่น ผู้บริหารจาก Denso และบริษัท/ผู้บริหารไทยที่น่าสนใจ เช่น MK Restaurant Group ซึ่งคนญี่ปุ่นจะได้รู้จักและคุ้นเคยกับบริษัทไทยมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน THAIBIZ เริ่มตีพิมพ์ทุกเดือนตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 จำนวนพิมพ์ฉบับละ 12,000 เล่ม วางแจกฟรีตามสำนักงาน บริษัทญี่ปุ่นและซูเปอร์มาร์เก็ตที่คนญี่ปุ่นนิยม นอกจากนี้ บริษัทยังจัดส่งบทความรายวันทางอีเมลให้กับสมาชิก เพื่อให้คนญี่ปุ่นสามารถติดตามข่าวสารได้แม้จะไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทย

“กลุ่มเป้าหมายของเราคือ ผู้บริหารคนญี่ปุ่นที่ยังหนุ่มสาว ไฟแรง และอยากจะพัฒนาตัวเอง อยากหาคอนเน็กชันให้มาก” กันตธรกล่าว

ปัจจุบันเมดิเอเตอร์มีพนักงานรวมทั้งหมด 60 คน (คนไทย 50 คน และคนญี่ปุ่น 10 คน) พร้อมที่จะให้บริการช่วยเหลือบริษัทญี่ปุ่นที่จะมาลงทุนในไทย รวมทั้งบริษัทไทยหรือญี่ปุ่นที่ต้องการรู้จัก เชื่อมสัมพันธ์ข้ามชาติ สร้างสรรค์พัฒนาไปด้วยกัน

“KPI ของผมวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ยอดขายหรือกำไร แต่อยู่ที่เราสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับเมืองไทยได้มากแค่ไหนครับ” กันตธรกล่าวปิดท้าย