หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านพ้นไป ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ “ธุรกิจการท่องเที่ยว” ที่แม้จะเผชิญกับปัจจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รูปแบบการทำงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ถือเป็นความท้าทายใหม่ ในการปรับตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นอย่างมาก
ท่องเที่ยวต้องยืดหยุ่น เพราะเทรนด์ “เที่ยวไปทำงานไป” ของคนไทยกำลังมา
SiteMinder ผู้ให้แพลตฟอร์มการจัดการที่พักแบบครบวงจร เปิดรายงาน SiteMinder’s Changing Traveller Report 2025 การสำรวจด้านที่พักและพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเผยว่า การท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้น 10.1% โดยคาดการณ์ว่าในปี 2029 อุตสาหกรรมโรงแรมของประเทศไทยจะมีมูลค่าการเติบโตกว่า 1.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากการสำรวจยังพบว่า นักเดินทางยุคใหม่มีแนวคิดการเดินทางแบบ ‘Everything Travellerʼ คือ นักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ และต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น มีการอ่านรีวิวจากโซเชียลแล้วมาลองเที่ยวเอง อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่องงบประมาณ
โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 97% ยินดีจ่ายเพิ่มสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อาหารเช้า (67%) ห้องชมวิว (44%) หรือการเช็คอินก่อนเวลา หรือการเช็คเอาต์ล่าช้า (33%) นอกจากนี้ 94% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น สำหรับการเข้าพักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงมีแนวโน้มจะต้องการความยืดหยุ่นในเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวแบบไม่ต้องคิดหรือวางแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า
นอกจากนั้นกว่า 68% ของนักท่องเที่ยวชาวไทย กลายเป็นผู้นำเทรนด์ในด้านการทำงานไปด้วยขณะเดินทางท่องเที่ยว ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย 66%, นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย 61% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 41% รวมถึงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอเมริกาเหนือ (34%) และยุโรป (31%) และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 นักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 65% มีพฤติกรรมการใช้เวลาส่วนใหญ่ (30%) หรือ มีการใช้เวลาค่อนข้างมาก (35%) ไปกับการอยู่ในโรงแรมที่พักอีกด้วย
นักท่องเที่ยวไทยใช้เครื่องมือค้นหาที่พักสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 39%
อัตราการจองที่พักในประเทศของนักท่องเที่ยวไทยมีการเติบโตขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 13% รวมถึงยังมากเป็นอันดับสาม รองจากนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย (62%) และนักท่องเที่ยวชาวจีน (56%) สืบเนื่องมาจากกการที่รัฐบาลมีมาตรการต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงภาคจังหวัดได้มีการปรับตัวเพิ่มกิจกรรมในแต่ละจังหวัดมากขึ้นเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปเยี่ยมชม
ซึ่งช่องทางการจองผ่าน OTA (การจองทริปท่องเที่ยวผ่านทาง Website/Application) มีการขยายตัวกว่า 55% เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมที่พักเพื่อวางแผนท่องเที่ยวเอง และราคาส่วนลดหรือโปรโมชั่นที่เป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวไทยเลือกจองผ่าน OTA เป็นหลัก โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 13% รวมถึงยังมากเป็นอันดับ 3 รองจากนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย (62%) และนักท่องเที่ยวชาวจีน (56%)
อีกทั้ง 36% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นการค้นหาโรงแรมผ่านเครื่องมือค้นหาเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2567 ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มสูงถึง 39% เพิ่มขึ้น 14% จากปีที่ผ่านมา ตามด้วยนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ 36% (ไม่ได้เข้าร่วมการสำรวจในปี 2023) นักท่องเที่ยวอินเดีย 33% เพิ่มขึ้น 6% และนักท่องเที่ยวจีน 22% เพิ่มขึ้น 13% จากปีที่แล้ว
นอกจากนั้นการสำรวจยังเผยอีกว่า 65% ของนักท่องเที่ยวชาวไทย พร้อมที่จะยกเลิกการจองที่พักออนไลน์กลางคันหากได้รับประสบการณ์ที่ไม่ราบรื่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 52% โดยปัญหาเรื่องความปลอดภัยเป็นสาเหตุหลักอันดับต้น ๆ ที่ทําให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Millennials ชาวไทยกว่า 37% ทําการยกเลิกการจองออนไลน์กลางคัน ในขณะที่ กลุ่ม Baby Boomers จำนวน 36% จะยกเลิกการจอง เนื่องจากเว็บไซต์ไม่เป็นมิตรกับการใช้งานบนมือถือ
คนไทย-อินโด เปิดใจใช้ AI วางแผนเที่ยวมากที่สุดในโลก
‘สุภกฤษฎิ์ แผนสมบูรณ์’ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท SiteMinder กล่าวว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยและอินโดนีเซีย มีการเปิดใจใช้ AI ในการประยุกต์เข้ากับการวางแผนจองที่พักและสัมผัสประสบการณ์การเข้าพักสูงถึง 98% ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวจีนที่เปิดรับการใช้ AI กับการวางแผนท่องเที่ยวสูง 96% และอินเดียที่ 94% ในขณะที่ 62% ของนักท่องเที่ยวจากทั้งแคนาดา และออสเตรเลีย รวมไปถึง 63% ของนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ยังคงไตร่ตรองถึงข้อดีของการใช้ AI มาช่วยวางแผนการท่องเที่ยวอยู่
และความชอบในการเดินทางจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงอายุ อาทิ กลุ่ม Gen Z และ Millennial ชาวไทย นิยมพักในเครือโรงแรมและรีสอร์ทขนาดใหญ่ ในขณะที่กลุ่ม Gen X นิยมที่พัก B&B และ Baby Boomers เลือกมองหาที่พักโฮสเทล โมเทล หรือโรงแรมราคาประหยัด เป็นต้น
ส่งผลให้พฤติกรรมการเลือกที่พักของนักท่องเที่ยวชาวไทยในปี 2025 มีแนวโน้มเลือกห้องพักแบบ Standard (ห้องพักมาตรฐาน) กว่า 54% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 46% และสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากนักท่องเที่ยวสเปน (59%) แคนาดา (55%) และอิตาลี (55%) ในทางกลับกัน มีเพียง 19% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนเท่านั้นที่จะเลือกห้องพักแบบ Standard ในการเข้าพักครั้งถัดไป การที่นักท่องเที่ยวชาวจีนหันมาวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากกว่าเลือกจองกับกรุ๊ปทัวร์ เพราะต้องการการท่องเที่ยวแบบใหม่ ลองทานอาหารรสชาติใหม่ ๆ รวมถึงอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ทำให้ให้ความสำคัญกับที่พักที่สวยงามและมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันมากขึ้น
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวเลือกให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นเมื่อทำการเลือกโรงแรมในแต่ละครั้ง โดย 76% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสำคัญกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย (70%) อินเดีย (66%) และจีน (62%) อีกทั้งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 30% เลยทีเดียว