อย่างที่หลายคนรู้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญ สังคมผู้สูงอายุ อย่างเต็มรูปแบบ โดยจากจำนวนประชากร 66 ล้านคน กว่า 20% ของประชากรไทยมีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป หรือกว่า 13.2 ล้านคน และสิ่งที่เติบโตล้อกันไปคือ ความต้องการเข้าใช้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ แต่ที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ การบริหารจัดการของบ้านพักคนชราทั้งหมดยังใช้การ จดด้วยมือ อยู่เลย
บ้านพักคนชราทั้งหมดยังเป็นแมนนวล
ธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเอช เฮลท์เทค จํากัด สตาร์ทอัพผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสถานประกอบการ บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ ประมาณ 3,000 แห่ง ทั่วประเทศ และมีความต้องการเติบโตเฉลี่ย 7.8% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงกว่า สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่นอยู่ที่ 6.8% และ 6.4% ตามลำดับ (อ้างอิงจาก Mcknight Senior Living, 2023)
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของระบบหลังบ้านของบริการสถานดูแลผู้สูงอายุทุกที่ยังเป็น ระบบแมนนวล โดยยังใช้การจดด้วยมือ ส่งผลให้ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ในการเก็บข้อมูลเพื่ออัพเดทให้แพทย์และญาติ ทำให้ ธนศักดิ์ เห็นโอกาสในการทำ คลาวด์เนิร์ส (CloudNurse) แพลตฟอร์มสำหรับสถานดูแลผู้สูงอายุ จึงได้เริ่มก่อตั้งบริษัทด้วยเงินลงทุน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ
โดยแพลตฟอร์ม CloudNurse จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้สะดวกขึ้น เร็วขึ้น และลดข้อผิดพลาด โดยลดเวลาทำงานเหลือ 15 นาที ซึ่งมีฟีเจอร์หลัก ๆ ได้แก่
- ระบบบันทึกข้อมูลผู้สูงอายุ (E-Charting) ช่วยลดเวลาการบันทึกข้อมูลที่ยุ่งยากใช้เวลานาน พร้อมกับ ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว และแม่นยำ
- ระบบจัดการยาอิเลกทรอนิกส์ (eMAR) ช่วยติดตามการจ่ายยา ลดความเสี่ยงของข้อผิดพลาดจากการให้ยา
- ระบบรายงานเหตุ (Incident Reporting) ช่วยวิเคราะห์แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที สามารถปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่อง
- รายงานผลประกอบการ (Dashboard) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกบ่งชี้ประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยนำเสนอต่อการรองรับการเติบโตของธุรกิจ
- รายงานข้อมูลให้แก่ญาติผู้สูงอายุ (AI-Generated Family Report) ช่วยสรุปรายงานการดูแลและข้อมูลผู้สูงอายุโดยอัตโนมัติ จะช่วยให้การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ดูแลและครอบครัวเป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น
มั่นใจเป็นเจ้าแรก ไร้คู่แข่ง
ธนศักดิ์ มองว่า สำหรับมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์สำหรับบริการหลังบ้านสถานดูแลบ้านพักคนชราอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยัง ไร้คู่แข่ง เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ โรงพยาบาล ซึ่งระบบหลังบ้านของโรงพยาบาลยังนำมาปรับใช้กับสถานดูแลบ้านพักคนชราไม่ได้ เนื่องจากเป็นการดูแลระยะยาว และมีรายระเอียดปลีกย่อยมากกว่า
สำหรับโมเดลรายได้ของ CloudNurse จะเป็นรูปแบบ ซับสคริปชั่น โดยจะคิดค่าบริการที่ 350 บาท/คน/เดือน ปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าสถานดูแลผู้สูงอายุ 3 ราย รวม 100 เตียง และอยู่ระหว่างการเจราให้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ 20 แห่ง โดยบริษัทตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 100 แห่ง ภายในปี 2568 และจะขยายไปสู่ ผู้ใช้ทั่วไป ภายใน 3-4 ปี จากนี้ เพราะนอกจากตลาดสถานดูแลผู้สูงอายุ ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ดูแลกันเองที่บ้าน
“การทำตลาดค่อนข้างง่าย เพราะสถานดูแลผู้สูงอายุจะมีสมาคม ซึ่งเราเข้าที่สมาคมที่เดียวจบเลย แต่โอกาสใหญ่ที่เรามองในอนาคตคือผู้ใช้ทั่วไป ซึ่งเราจะเริ่มทำตลาดในอีก 3-4 ปีจากนี้”
ปัญหาตลาดไทย คือ ดีมานด์มากกว่าซับพลาย
แม้ว่าความต้องการใช้บริการบ้านพักคนชราของไทยจะเติบโต แต่ก็สวนทางกับปริมาณบ้านพักคนชราในไทยที่น่าจะไม่เพียงพอ โดยจากจำนวน 3,000 แห่ง คิดเป็นจำนวน 60,000 เตียง เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณความต้องการคาดว่าจะอยู่ที่ 750,000 เตียง โดยอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยที่ความต้องการส่วนใหญ่จะมาจากผู้สูงวัยที่มีอายุเฉลี่ย 75 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ธนศักดิ์ มองว่า จากความต้องการมหาศาลนี้ แต่อาจมีผู้ใช้เพียง 100,000 คน ที่ มีกำลังพอ จะใช้บริการบ้านพักคนชรา เพราะปัจจุบัน ราคาค่าบริการอยู่ที่ 15,000-55,000 บาท/คน/เดือน ในขณะที่การจ้างผู้ดูแลส่วนตัวมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 2,500 บาท/วัน