AIS ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์เปิด “มาตรการระเบิดสะพานโจร” บุกรวบจีนเทา พร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอมหลังตระเวนขับส่ง SMS แนบลิงก์ดูดเงินย่านสุขุมวิท

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมกับ AIS โดย นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ แถลงผลการปฏิบัติการของตำรวจไซเบอร์ บช.สอท. ตามนโยบายนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ โดยข้อที่ 9 ที่ว่า “รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นการช่วยเหลือและเยียวยาเหยื่อได้อย่างทันท่วงที

ซึ่ง “มาตรการระเบิดสะพานโจร” คือ การบุกรวบจีนเทาพร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) คารถ หลังตระเวนขับส่งข้อความแนบลิงก์ดูดเงินย่านสุขุมวิท สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เวลาประมาณ 18.00 น. ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ขณะที่กำลังเดินซื้อของอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านถนนสุขุมวิท ได้รับข้อความ “คะแนน 9,268 ของคุณ ใกล้หมดอายุแล้ว! รีบ แลกของขวัญเลย” พร้อมกับแนบลิงก์ปลอมมาในข้อความดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 และ กก.3 บก.สอท.3 จึงได้ประสานงานกับทีมวิศวกรของ AIS จึงได้รับการยืนยันว่า SIMS ดังกล่าว ไม่ได้มาจากผู้ให้บริการเครือข่าย AIS ต่อมา พ.ต.อ.คัมภีร์ พรหมสนธิ รอง ผบก. สอท.3 ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ทำให้ทราบว่า คนร้ายได้ใช้เครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ในเส้นทางที่มีประชาชนพลุกพล่านย่านสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร โดยมีการใช้ยานพาหนะในการเคลื่อนที่ จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่หาข่าวร่วมกับวิศวกร AIS เพื่อทำการสืบสวนหาตัวคนร้ายดังกล่าว และจับได้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ตรวจสอบภายในรถพบเครื่องจำลองสถานีฐานกำลังทำงานอยู่ ตรวจสอบร่วมกับทีมวิศวกร AIS พบว่าเป็นเครื่องส่งข้อความ (SMS) ซึ่งเป็นลักษณะของการจำลองเสา (False Base Station) เพื่อส่งสัญญาณปลอมของเครือข่าย AIS โดยอุปกรณ์นี้เป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคม ที่มีลักษณะการดัดแปลงการส่งสัญญาณในในคลื่นความถี่ต่างๆ และจากการตรวจสอบก็ไม่พบการได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด”

การปฏิบัติการจับกุมครั้งนี้ถือเป็นการตัดวงจรสำคัญของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นการปิดโอกาสของคนร้าย ในการติดต่อประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการดังกล่าว โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยียังคงร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นต่อไป

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการระบบสื่อสาร เราให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าให้ใช้บริการได้อย่างปลอดภัย จึงเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องใน 3 มิติ กล่าว คือ 1.สนับสนุน ให้ความร่วมมือกับตำรวจ และ หน่วยงานภาครัฐ ในการติดตาม ตรวจสอบเส้นทาง ปิดกั้นการใช้เครือข่ายเป็นช่องทางหลอกลวงประชาชน 2. พัฒนาเครื่องมือด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ลูกค้าและประชาชนใช้ปกป้องการใช้งาน และแจ้งเบาะแสได้ด้วยตนเอง อาทิ *1185#แจ้งอุ่นใจตัดสายโจร หรือ 1185 Spam Report Center 3. สร้างทักษะการใช้งานดิจิทัลในโครงการ อุ่นใจไซเบอร์ ที่จะช่วยให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้บูรณาการ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า พร้อมกับสนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนอย่างเต็มประสิทธิภาพ”

ล่าสุด สืบเนื่องจากการที่ประชาชนได้มีการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับข้อมูล SMS ปลอม ซึ่งเป็นของกลุ่มคนร้ายที่เชื่อว่ามีการกระทำความผิดหลอกลวงประชาชน ทีมวิศวกรเอไอเอสจึงได้ทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ติดตาม Tracking & Monitoring กว่า 72 ชั่วโมง ในพื้นที่ย่านนานา สุขุมวิท ทำให้ตำรวจไซเบอร์สามารถเข้าจับกุมขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ที่มีการขับรถตระเวนส่งข้อความ (SMS) หลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับการแลกคะแนนของ AIS ผ่านอุปกรณ์เครื่องจำลองสถานี (False Base Station) ส่งสัญญาณปลอมของเครือข่ายเอไอเอส ได้ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคมแบบพกพาเถื่อน ผิดกฎหมาย เพราะหลังจากการตรวจสอบแล้ว ไม่พบข้อมูลการได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนภารกิจของฝ่ายความมั่นคง จนสามารถคำนวณเส้นทางการเคลื่อนตัวของมิจฉาชีพอย่างละเอียด ทำให้เข้าถึงแหล่งกบดานของกลุ่มนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภารกิจการทลายแก๊งมิจฉาชีพกลุ่มนี้สำเร็จลงได้ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ที่ AIS ได้ช่วยติดตามเส้นทางมิจฉาชีพที่ใช้ False Base กลางสยามสแควร์ และ ย่านชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล”

นายวรุณเทพ ย้ำว่า “AIS ขอแจ้งไปยังประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านการกดลิงก์ แอดไลน์ หรือตอบกลับ SMS รวมถึงงดให้ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัตรเครดิต วันเดือนปีเกิด รวมทั้งรหัส OTP ในการทำธุรกรรมใดๆ แก่แหล่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ หากเป็นลูกค้า AIS เมื่อรับสายที่เข้าข่ายมิจฉาชีพ เมื่อวางสาย สามารถกด *1185# ภายใน 5 นาที ระบบจะส่งเบอร์ล่าสุดที่รับสายไปเพื่อตรวจสอบและบล็อกทันที หรือ หากได้รับ SMS ผิดปกติ ก็สามารถโทร.แจ้งผ่านสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน โดย AIS จะตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป” นายวรุณเทพ กล่าว