“วันนี้คงไม่ต้องคำถามว่า ทำไมเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อช่วยโลก รวมถึงช่วยตัวเราเอง เพื่อให้มนุษยชาติอยู่ได้”
นี่เป็นสารสำคัญที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการจะสื่อถึงในงานสัมมนา iBusiness Forum “2025 Net Zero กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ Net Zero and the Challenges of The New Global Economy”
เพราะพลังงานเป็นพื้นฐานของการพัฒนาโลก แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความวุ่นวายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) ซึ่งการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นถึง 46% จากปี ค.ศ.2000 โดยมีประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากคือ จีน , สหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ขณะที่ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลก แต่ไทยกลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากสุดติดอันดับ Top10 ของโลก และจากเหตุการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดภาคเหนือรวมถึงที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของภาคใต้ ล้วนสะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกเดือดได้เป็นอย่างดี
“วันนี้เรามุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593)โดยทิศทางของโลกทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การใช้พลังงานสะอาดขึ้น Digital Transformation ของอุตสาหกรรมต่างๆในโลก ล้วนมีบทบาทสำคัญในกำหนดเศรษฐกิจ ทิศทางอุตสาหกรรมและการใช้พลังงาน”
ดร.คงกระพัน กล่าวว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานสะอาด ก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีบทบาทสำคัญต่อเนื่องอีก 20-30ปี ข้างหน้า เพราะพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) และไฮโดรเจน ยังมีข้อจำกัดอยู่และต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง หากกล่าวถึงความยั่งยืนจะต้องสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศในอาเซียนรวมถึงไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ และประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน มีแหล่งก๊าซธรรมชาติเองไม่ว่าจะเป็นไทย , มาเลเซีย , อินโดนีเซีย และ พม่า ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำเข้าพลังงานชนิดอื่น ดังนั้นก๊าซธรรมชาติจึงเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญในภูมิภาคนี้ต่อเนื่องไปอีก 20-30ปี และต้องทำควบคู่กับการลดคาร์บอนด้วย
ปัจจุบัน ไทยมีใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตเองราว 50% ของความต้องการใช้ ส่วนที่เหลือได้นำเข้าจากต่างประเทศในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 40% และนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าอีก 10% ส่วนน้ำมัน ไทยนำเข้ามากถึง 90% ดังนั้น ซึ่งก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักที่สำคัญของไทยอยู่
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608) ขณะที่บริษัทน้ำมันชั้นนำระดับโลกส่วนใหญ่ มีเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี ค.ศ.2050 เช่นเดียวกับ ปตท.
สำหรับแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero นั้น ดร.คงกระพัน ได้อธิบายว่า มีทั้งโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage :CCS) การใช้พลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ซึ่งปัจจุบันโครงการ CCS มีการพัฒนาโครงการเพิ่มมากขึ้นในต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกามีมากกว่า 100 แห่ง และยุโรปก็มีมากเช่นกัน สาเหตุที่โครงการ CCS เกิดขึ้นได้เพราะภาครัฐให้การสนับสนุนส่งเสริม ขณะที่ฝั่งเอเชียยังมีโครงการ CCS ค่อนข้างน้อย โดยประเทศไทยก็มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ CCS
นอกจากนี้ ทั่วโลกตื่นตัวการพัฒนาการผลิตและใช้บลูและกรีนไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยก็มีการใช้ไฮโดรเจนบ้างแล้วในบางอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่นในเครือปตท. มีการผลิตและใช้ไฮโดรเจนสีเทา (Gray Hydrogen) ในกระบวนการผลิต แม้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น แต่ก็ต้องพัฒนาต่อไปเพื่อขยับสู่บลูและกรีนไฮโดรเจน ซึ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ ระบุการใช้ไฮโดรเจนราว 5% ผสมในก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในช่วงปี ค.ศ.2030 แม้ปัจจุบันไฮโดรเจนมีราคาแพง แต่ในอนาคตด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาไฮโดรเจนค่อย ๆ ถูกลง
ปตท.ชูความยั่งยืนอย่างสมดุล
ดร.คงกระพัน กล่าวว่า ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งดำเนินธุรกิจบนหลักการ “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย” และ “เติบโตในระดับโลก” อย่างยั่งยืน
“ตอกย้ำว่า ปตท.แข็งแรง ประเทศชาติก็แข็งแรงไปด้วย การเติบโตของ ปตท.ในประเทศไทยทำได้แค่ระดับนึง แต่หากต้องการเติบโตมากขึ้นปตท.จะต้องไปโตในต่างประเทศ ทำให้รายได้ของปตท.เกินกว่า 50% จึงมาจากต่างประเทศ”
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.มีเป้าหมายร่วมกันในการบูรณาการลดการปล่อยคาร์บอน มุ่งสู่ความยั่งยืน (Sustainability) และทำธุรกิจไปพร้อมกัน โดยมีการผสานการบริหารจัดการทั้งกลุ่ม ปตท. ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate resilience Busines การทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดย ปตท.ไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ปตท.มีหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เรื่องอื่นทำเพื่อช่วยเสริมสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งธุรกิจเดิมของ ปตท. คือธุรกิจพลังงานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถทำธุรกิจที่คาร์บอนต่ำได้ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า มี บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เป็น Flagship ก็หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงลดการใช้ถ่านหินลง เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมทั้งการนำไฮโดรเจนมาใช้ และศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR)
ส่วนธุรกิจเคมีคอล มีการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิล และไบโอเคมิคอล ทำให้ Portfolio ในกลุ่มธุรกิจมีคาร์บอนต่ำลง แต่ยังทำกำไรได้อยู่
Carbon conscious asset การปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพื่อใช้พลังงานลดลง มีการใช้เทคโนโลยีและAI เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีการใช้ไฮโดรเจนอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 C ก็สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ราว 50% ส่วนที่เหลือคือการทำโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน
Coalition,co-creation and collection efforts for all ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยที่ ปตท.เป็นแกนหลักของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (CCS) รวมถึงการเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติผ่านการปลูกป่า
ปตท.นำร่องโครงการ CCS
ดร.คงกระพัน กล่าวต่อไปว่า โครงการ CCS เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยให้ ปตท.และประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ซึ่ง ปตท.มีแผนจะลงทุนเพื่อเก็บคาร์บอนที่ปล่อยจากโรงงานต่างๆในกลุ่ม ปตท. เพื่อนำไปกักเก็บในอ่าวไทย โดย ปตท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่อและถังเก็บคาร์บอน รวมทั้งประสานกับภาครัฐเพื่อออกกฎหมายรองรับการนำคาร์บอนเก็บในทะเล ขณะที่บริษัทลูก คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากว่า 30ปี จะเป็นแกนนำในการพัฒนาโครงการ CCS โดยเริ่มทดลองทำ sandbox ในแหล่งอาทิตย์ จัดเก็บคาร์บอนได้ 1 ล้านตันคาร์บอน โดยเริ่มผลิตก๊าซฯ แล้วแยกคาร์บอนจากแท่นผลิตฯ แล้วอัดกลับในทะเล แต่หากทำจริง จะเป็นการนำคาร์บอนที่ปล่อยจากอุตสาหกรรมที่กักเก็บไว้ในถังเก็บฯบนบกแล้วลำเลียงผ่านท่อฯ มากักเก็บในหลุมก๊าซฯ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว
อย่างไรก็ดี โครงสร้างทางธรณีในอ่าวไทยสามารถกักเก็บคาร์บอนหรือ CCS ได้ 2 วิธี คือ 1.กักเก็บคาร์บอนในหลุมก๊าซฯ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว เบื้องต้นแหล่งอาทิตย์สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1 ล้านตันคาร์บอน 2.การกักเก็บในชั้นน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น โดยนำคาร์บอนไปละลาย (Saline Aquifer) ทำได้บริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งหากดำเนินการได้จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้จำนวนมาก
ดังนั้นโครงการ CCS จึงไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากโครงการ CCS จะให้พันธมิตรหรืออุตสาหกรรมต่างๆ นอกเหนือจากกลุ่ม ปตท.ที่สนใจเข้ามาร่วมด้วย หลังประสบความสำเร็จ ช่วยลดการปล่อยการปล่อยคาร์บอนฯ ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และคัดเลือกเทคโนโลยี รวมทั้งเจรจาภาครัฐเพื่อออกกฎหมายรองรับ คาดว่าโครงการ CCS จะเกิดขึ้นภายหลังปี ค.ศ.2030
“การเดินหน้าโครงการไฮโดรเจนและโครงการ CCS ควรทำควบคู่กันไป แต่คาดว่าไฮโดรเจนอาจจะเห็นก่อน เบื้องต้นสามารถนำเข้าไฮโดรเจนจากต่างประเทศมีต้นทุนต่ำมาใช้ก่อน ซึ่งปัจจุบันไฮโดรเจนมีราคาสูง เพราะต้องเก็บในรูปแอมโมเนียเหลวเพื่อสะดวกในการขนส่งทางเรือ โดยจะต้องมีการลงทุนสร้างคลังเก็บ ขณะที่โครงการ CCS ต้องใช้เวลารอกฎหมายรองรับ”
เนื่องจากกลุ่ม ปตท.มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นจำนวนค่อนข้างมาก การซื้ออาจไม่ตอบโจทย์ จึงมีโอกาสที่ปตท.จะลงทุนเทคโนโลยี คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี พ.ศ.2568 พร้อมย้ำว่า การลงทุนโครงการต่างๆ ของ ปตท.จะต้องผ่านเกณฑ์ผลตอบแทนการลงทุนขั้นต่ำตามที่กำหนด จะไม่ลงทุนอะไรที่ขาดทุน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน จึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญเช่นเดียวกับไทย แม้ว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะยังมีต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปีแต่ก็ต้องลดคาร์บอนควบคู่กันไปด้วย รวมถึงการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โครงการ CCS และไฮโดรเจน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ประเทศไทยยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันได้