ถือเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับการ ละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนอนิเมะ-มังงะ ที่ส่งผลให้สื่อความบันเทิงขนาดใหญ่ต้องสูญเสียเงินปีละหลายพันล้านดอลลาร์ แต่อนาคตการละเมิดอาจจะลดลง เพราะญี่ปุ่นเตรียมนำเอา เอไอ มาใช้ตรวจจับการละเมิด เพื่อไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้
ในทุกวันนี้ มีเว็บไซต์อย่างน้อย 1,000 เว็บไซต์ ที่เปิดให้ ดาวน์โหลดอนิเมะ-มังงะฟรี อย่างผิดกฎหมาย ส่งผลให้ตลาดต้องเสียหาย หลายพันล้านดอลลาร์ทุกปี แต่ภายใต้โครงการนําร่องมูลค่า 300 ล้านเยน (ราว 72 ล้านบาท) ของ Tokyo’s cultural agency ที่จะใช้ระบบ AI ตรวจจับภาพและข้อความ เพื่อค้นหาเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์
Keiko Momii เจ้าหน้าที่ของ Tokyo’s cultural agency เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์จํานวนมากในการพยายามตรวจจับเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ด้วยตนเอง ซึ่งไม่สามารถตามปิดเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทัน ส่งผลให้ทางหน่วยงานเริ่มมีความคิดที่จะใช้ AI เข้ามาช่วยตรวจจับ และหากใช้ได้ผล ก็จะเริ่มขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์, เพลง และเกม
ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอนิเมะและมังงะ ถือเป็นอีกอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เทียบเท่ากับอุตสาหกรรม เหล็กและเซมิคอนดักเตอร์ โดยในปี 2022 ตลาดเกม อนิเมะ และมังงะของญี่ปุ่นกวาดรายได้จากต่างประเทศถึง 4.7 ล้านล้านเยน (ราว 1 ล้านล้านบาท) ใกล้เคียงกับการส่งออกไมโครชิปที่ 5.7 ล้านล้านเยน
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการส่งออกสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็น 20 ล้านล้านเยน (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2033 ภายใต้กลยุทธ์ Cool Japan ที่จะผลักดันและส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไปสู่ตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ สัดส่วนของเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานอนิเมะ-มังงะ ประมาณ 70% ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น แต่เป็นภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาเวียดนาม