ธุรกิจโรงแรมไทยฮอต อัตราเข้าพัก 74% แซงช่วงก่อนโควิด สร้างเพิ่ม 1.2 พันแห่ง โต 38% จับตาซัพพลายล้นบางพื้นที่ กดดันอัตราเข้าพัก-ราคาห้องพักเฉลี่ยในอนาคต
SCB EIC เปิดเผยว่า ช่วง 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 32 ล้านคน โดย 5 อันดับแรก คือ
- จีน
- มาเลเซีย
- อินเดีย
- เกาหลีใต้
- รัสเซีย
ซึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นช่วงไฮซีซั่น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยปีนี้มีโอกาสแตะ 36.2 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่มีจำนวน 39.8 ล้านคน “สร้างรายได้ให้ภาคท่องเที่ยวกว่า 1.7 ล้านล้านบาท”
และคาดว่าในปี 2568 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติขยับเป็น 39.4 ล้านคน จากการกลับมาของกลุ่มทัวร์จีน และนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ อาทิ ตะวันออกกลาง รัสเซีย อิสราเอล และอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง “คาดสร้างรายได้ให้ไทย 2 ล้านล้านบาท”
ส่วนนักท่องเที่ยวไทย ยังเติบโตได้ดี จากการเที่ยวเมืองรอง ตามมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ อาทิ ลดหย่อนภาษี โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง ส่งผลให้ในปี 2567 นักท่องเที่ยวไทยมีจำนวน 270.2 ล้านคน เติบโต 9% (YoY)
อย่างไรก็ดี ปี 2568 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยราว ๆ 275.6 ล้านคน เติบโตแบบชะลอตัว 2% (YoY) จากความเปราะบางของเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการวางแผนใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว
รวมไปถึงการขยายตัวของการท่องเที่ยวต่างประเทศในคนไทย จากมาตรการฟรีวีซ่าและแพ็กเกจท่องเที่ยวต่างประเทศราคาถูกที่เจาะคนไทยต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงแรมในไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 72% ขณะที่ราคาห้องพักเติบโต 31% เมื่อเทียบกับปี 2566 (YoY) และเติบโต 8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ช่วงก่อนเกิดโควิด
ในปี 2568 คาดว่าธุรกิจโรงแรมจะมีมีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อย จากสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยที่กลับสู่ภาวะปกติ โดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 74% และราคาห้องพักเพิ่มขึ้น 5% (YoY) ซึ่งเหนือกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ที่มีอัตราการเข้าพักประมาณ 70% และมีอัตราเติบโตของราคาห้องพักเฉลี่ย 4%
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันสูง จากซัพพลายห้องพักที่ทยอยเปิดให้บริการ สะท้อนจากตัวเลขใบอนุญาตการก่อสร้างโรงแรม ระหว่างปี 2564 – 2566 มีจำนวนกว่า 5,600 อาคารทั่วประเทศ
ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคใต้โซนท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี รวมไปถึงจังหวัดท่องเที่ยวเจาะกลุ่มคนไทย เช่น น่าน เชียงราย จันทบุรี เป็นต้น
เบื้องต้น ตัวเลขการขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมทั่วประเทศ ช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ค.) ปี 2567 เพิ่มสูงถึง 1,200 อาคาร คิดเป็นการขยายตัว 38% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY)
ทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้น และอาจเกิดภาวะซัพพลายล้นของห้องพักโรงแรมในบางพื้นที่ ซึ่งจะกดดันอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในอนาคต
และอาจทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้กลยุทธ์ด้านราคา ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาเฉลี่ยห้องพักตามไปด้วย
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ทำเลที่ตั้งและความสามารถในการปรับตัว โดยธุรกิจโรงแรมที่มีศักยภาพในการเติบโต ได้แก่
- กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตระดับบน และระดับลักชัวรี่ที่รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ที่มีแนวโน้มเดินทางมาไทยมากขึ้น
- กลุ่มโรงแรมที่ตั้งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างภูเก็ตและกรุงเทพฯ รวมถึงกลุ่มโรงแรมและที่พักที่ตั้งในเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ที่ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
- กลุ่มโรงแรมที่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เช่น นักท่องเที่ยวกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียและ อิสราเอลที่มีโอกาสเดินทางมากขึ้นจากผลกระทบของภาวะสงคราม, กระแสการใส่ใจสุขภาพ ผ่านเทรนด์ Wellness tourism และการท่องเที่ยวแบบ Workation จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม Digital nomad เป็นต้น