บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จํากัด พร้อมด้วยบริษัท เป๊ปซี่โค เซอวิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) และทีมผู้จัดงาน “GAYRAY (เกเร)” หน่วยงานภายใต้ จีเอ็มเอ็ม โชว์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) ประกาศความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “Waste Nothing – มันส์ แล้ว ทิ้ง” คัดแยกและจัดการขยะเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ดิโอเชี่ยน เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการ รีไซเคิลหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ใหม่ และกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ภายใต้คอนเซปต์ สนุกอย่างรับผิดชอบ ทิ้งให้ถูกที่ แยกให้ถูกถัง เพื่อส่งขยะเหล่านั้นไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป
นายอชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรารู้สึกภูมิใจที่แคมเปญ ‘Waste Nothing – มันส์ แล้ว ทิ้ง’ ในปีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้เข้าร่วมงาน โดยสามารถคัดแยกขยะได้สูงถึง 11,150 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่าเท่าตัว เราหวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบที่ดี ที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม มุ่งส่งเสริมการคัดแยกและเก็บกลับขวดพลาสติก PET ใช้แล้วอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาเป็นขวดใหม่ หรือที่เรียกว่า “Bottle-to-Bottle Recycling” โดยขวดพลาสติก PET ที่คัดแยกได้ภายในงานนี้ทั้งหมดจะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นขวด rPET 100% (ขวดจากพลาสติกรีไซเคิล 100%) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตามค่านิยมองค์กร ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ (Growing for Good) ของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย”
“เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม งานบิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ถือเป็นงานที่ ‘เป๊ปซี่’ เป็นผู้สนับสนุนหลักมาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยในปีนี้เราได้ร่วมกับซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย และ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริหารจัดการขยะในงาน เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 อย่างครบวงจร ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทฯ ที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและดูแลสิ่งแวดล้อม สอดรับกับกลยุทธ์ Pep+ (PepsiCo Positive) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของเป๊ปซี่โค และยังเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง และการบริโภค อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่ผู้คนและโลกของเรา” นายราลสตัน เซคัวร่า ผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายแฟรนไชส์ธุรกิจเครื่องดื่ม ในไทย ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) กล่าวเสริม
ขณะที่ นางสาวป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ-หน่วยงานโชว์บิซ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) ผู้นำทีมจัดงาน เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนผู้จัดงานขอขอบคุณซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย และเป๊ปซี่โค ประเทศไทย รวมถึงพันธมิตรทุกภาคส่วน ที่ทำให้งานเป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัลครั้งนี้ ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการสร้างความสุขให้กับผู้เข้าร่วมงานควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ภายใต้แคมเปญ ‘Waste Nothing – มันส์ แล้ว ทิ้ง’ ที่ช่วยสร้างจิตสำนึกให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการทิ้งขยะให้ถูกที่และแยกขยะอย่างถูกวิธี และที่สำคัญขอขอบคุณผู้ชมที่ให้ความร่วมมือในงานครั้งนี้เป็นอย่างดี ทุกคนตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับการจัดมิวสิคเฟสติวัลในประเทศไทยให้เป็น ‘อีโค่-เฟรนด์ลี่ มิวสิคเฟสติวัล’ ต่อไป”
ตลอดสองวันของการจัดงาน สามารถคัดแยกขวดพลาสติก PET ได้ 1,485 กิโลกรัม ส่งเข้าสู่กระบวนการ Bottle-to-Bottle Recycling หมุนเวียนเป็นขวดใหม่ กระป๋องอะลูมิเนียม 1,410 กิโลกรัม ถูกจัดการในรูปแบบของ Can-to-Can Recycling เพื่อนำมาผลิตเป็นกระป๋องอีกครั้ง ขยะทั่วไป 3,780 กิโลกรัม ถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel-RDF) แทนที่การฝังกลบ ขยะเศษอาหาร 4,085 กิโลกรัม ถูกนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า และยังมีขยะอื่น ๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น กระบอกน้ำพลาสติก ขวดแก้ว และกระดาษลังอีก 390 กิโลกรัม
· ขวดพลาสติก PET ถูกส่งไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่โรงงานเอ็นวิคโค
· กระป๋องอะลูมิเนียม ถูกส่งไปที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด
· ขยะทั่วไป ถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ที่ N15 Technology
· ขยะเศษอาหาร ถูกนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ของเทศบาลนครนครราชสีมา
สามารถรับชมวิดีโอภาพรวมแคมเปญ “มันส์ แล้ว ทิ้ง” คลิกที่นี่